10 เทคนิคคงความดีหลังเราะมะฎอน – White Channel

White Channel

10 เทคนิคคงความดีหลังเราะมะฎอน

เคยเจออะไรแบบนี้ไหมครับ?

ความรู้สึกหลังเราะมะฎอนจากไป คือการรู้สึกว่าระดับพลังความดีในตัวเราลดลง
อะไรดี ๆ ที่เคยทำได้มากมาย ก็หดหายไปแทบไม่เหลืออะไร
กุรอานที่เราอ่าน และพกไว้ใกล้ตัวทุกวัน ก็ถูกวาง ไม่ได้หยิบจับขึ้นมาอีก

ไม่ใช่พี่น้องผู้อ่านเจออยู่คนเดียวหรอกครับ เราหลายคนเจอปัญหาเดียวกัน ที่เมื่อเราะมะฎอนจากไป ความคึกคักในการทำดีของเราก็หายไปด้วย แต่บทความนี้มีคำแนะนำให้เรารักษาตนเอง ให้ใกล้เคียงกับชีวิตในเราะมะฎอน มากเท่าที่จะสามารถได้

เคล็ดลับ 10 ประการ ให้ความดียังไหลผ่าน ชีวิตและลมหายใจของเรา มีดังนี้

1. ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ

ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺให้ทรงประทานทางนำและการยืนหยัด ดังตัวอย่างเช่นที่อัลลอฮฺได้ชมเชยการวอนขอของเหล่าผู้มั่นคงในความรู้ว่า

«رَبَّنَا لا تُزِغْ قُلُوبَنَا بَعْدَ إِذْ هَدَيْتَنَا وَهَبْ لَنَا مِنْ لَدُنْكَ رَحْمَةً إِنَّكَ أَنْتَ الْوَهَّابُ»

ความว่า โอ้พระผู้อภิบาลแห่งเรา ได้โปรดอย่าทำให้หัวใจของเราหันเหหลังจากที่พระองค์ได้ทรงชี้ทางแก่มันแล้ว และขอทรงโปรดประทานความเมตตาจากพระองค์แก่เรา แท้จริงพระองค์นั้นทรงยิ่งด้วยการประทาน (กุรอาน ซูเราะห์อาละ อิมรอน อายะห์ที่ 8)

(ถ้าไม่ถนัดภาษาอาหรับ เราสามารถขอดุอาอฺต่าง ๆ เป็นภาษาไทยได้นะครับ)

2. อยู่ใกล้คนที่มีพลังความดีสูง

พยายามใกล้ชิดร่วมกับบรรดาคนดี ๆ และการนั่งร่วมในที่ที่มีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ เช่น การบรรยายศาสนา การพูดคุยเรื่องคุณงามความดี งานอีเวนท์ที่ดึงดูดคนที่สนใจศาสนา หรือ หาเวลาไปเยี่ยม พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนดี ๆ

ถ้าเป็นไปได้ เลือกเพื่อนสนิท ที่เป็นคนดี เราก็จะมีแรงดึงดูดสู่ความดีในทุกวัน

3. ศึกษาประวัติของเหล่าผู้มีคุณธรรม

โดยการอ่านหนังสือ ดูคลิปศาสนา ฟังบรรยาย อ่านบทความ เรื่องราวของบรรดานบี เศาะหาบะฮฺ และชนรุ่นก่อน การรับรู้เรื่องราวจากบุคคลตัวอย่างที่มีพลังจะปลุกให้หัวใจมีกำลังและการตื่นตัว

4. ใส่วัตถุดิบชั้นดี

ฟังเนื้อหาเกี่ยวกับอิสลามให้มาก เช่น คลิปบรรยาย การตักเตือน พยายามค้นหาเนื้อหาสื่อออนไลน์ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้เราขยันขันแข็งในเรื่องความดี

5. ทำในสิ่งที่ต้องทำ

พยายามรักษาการงานฟัรฎู (ต้องทำ) เช่น ละหมาดห้าเวลา ถือศีลอดชดใช้เราะมะฎอน เพราะการงานฟัรฎูมีความประเสริฐที่ใหญ่หลวง

6. ทำสิ่งเสริมเติมไม่ให้พร่อง

พยายามรักษาการงานที่เป็นสุนัต (ส่งเสริมให้กระทำ) แม้จะเป็นเพียงการงานเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเราชอบทำอยู่แล้ว เพราะการงานที่อัลลอฮฺรักที่สุดคือสิ่งที่สม่ำเสมอแม้เพียงเล็กน้อย ตามที่มีในหะดีษ

7. ท่องกุรอาน เริ่มต้นง่าย ๆ

เริ่มท่องจำอัลกุรอานและอ่านอัลกุรอานสม่ำเสมอ โดยเริ่มจากอ่านบทที่ท่านท่องได้ในการละหมาดฟัรฎูหรือละหมาดสุนัต

8. รำลึกและขออภัยโทษ

รำลึกถึงอัลลอฮฺและขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) ให้มาก เพราะเป็นการงานเล็กน้อยที่ง่าย แต่มีคุณใหญ่หลวง สามารถเพิ่มศรัทธา และทำให้หัวใจเข้มแข็ง

9. หลีกห่างมลพิษทางใจ

หลีกห่างจากสิ่งที่ก่อความเสียหายต่อหัวใจให้ไกลที่สุด เช่น เหล่าคนที่ไม่มีคุณธรรม สื่อต่างๆ ให้ห่างจากการฟังดนตรี และสิ่งลามกในทุกรูปแบบ

10. ยูเทิร์นชีวิต

ให้รีบเร่งกลับตัว (เตาบะฮฺ) ขออภัยจากอัลลอฮฺ การกลับตัวที่แท้จริงที่จะไม่หวนกลับไปสู่การทำผิดอีกด้วยการอนุมัติของอัลลอฮฺ เพราะแท้จริงอัลลอฮฺจะทรงดีใจยิ่ง กับการกลับตนของบ่าวของพระองค์

อย่าได้เป็นเหมือนกลุ่มชนผู้ที่ไม่รู้จักอัลลอฮฺนอกจากในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น เช่นที่ชนรุ่นก่อนได้กล่าวว่า
“คนที่เลวที่สุด คือคนที่ไม่รู้จักอัลลอฮฺนอกจากในเราะมะฎอน”

…ขออัลลอฮฺทรงโปรดประทานให้เราได้รักษาระดับความดี เช่นที่เคยมีในเราะมะฎอน


แหล่งข้อมูล – อิสลามเฮ้าส์
https://islamhouse.com/th/articles/57723/

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ