เกิดอะไรในโลก : รถบินได้กำลังมาแรง เมื่อบริษัทค่ายรถหลายประเทศต่างตบเท้าเข้าสู่สนามรถยนต์บินได้นี้ ภาพปัญหารถติดที่เคยชินจะคลี่คลายลงได้หรือไม่ และความท้าทายอะไรกำลังรออยู่
ภาพรถบินได้โฉบเฉี่ยวไปมา การสัญจรบนท้องฟ้าอาจเป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันภาพฝันดังกล่าวกำลังก่อร่างเป็นความจริงขึ้นมาทุกที เมื่อหลายบริษัททั่วโลกต่างตบเท้าเข้าสู่สนามนี้ เร่งพัฒนา “รถยนต์บินได้ (Flying Car)” ขึ้นมา รถบนถนนที่เปลี่ยนมาบินทะยานสู่ท้องฟ้าได้
ล่าสุด บริษัทด้านโทรคมนาคมเกาหลีใต้ SK Telecom ผลิตรถแท็กซี่บินได้ขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทาง ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 320 กม./ชม. โดยทางผู้บริหารตั้งเป้าหมายว่า ถ้าบริษัทสามารถพัฒนาแท็กซี่นี้ให้ปลอดภัย และมีเสถียรภาพในสาธารณะได้ภายในปี 2025 ก็จะมีส่วนช่วยให้รัฐบาลสามารถอนุญาตให้บริษัทขยายรถบินได้ไปทางการแพทย์ โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยวเพิ่มได้อีกด้วย
ในประเทศสโลวาเกีย บริษัท Klein Vision ผลิตรถบินได้ ผ่านการรับรองบินขึ้นบนฟ้าแล้ว บินได้ไกลถึง 1,000 กม. พร้อมติดตั้งร่มชูชีพที่ปลายท้าย ทำความเร็วบนอากาศสูงสุด 170 กม./ชม.
ที่ออสเตรเลีย บริษัท Airspeeder ผลิตรถแข่งบินได้ Mk4 รูปทรงคล้ายรถแข่ง Formula 1 แต่เหินฟ้าได้ ทำความเร็วสูงสุดที่ 360 กม./ชม. โดยจะเริ่มต้นทดสอบภายในปี 2024 ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย และทางบริษัทยังยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการโอลิมปิก เพื่อให้จัดการแข่งขันรถแข่งบินได้ในอนาคตด้วย
นอกจากนั้นยังมีโดรนแท็กซี่จีน EHang, รถ Xpeng, Terrafugia ของสหรัฐ, รวมถึงโครงการรถยนต์บินได้ของเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฯลฯ ก็มีแผนเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้
ภาพอนาคตที่วาดฝันอันใกล้คือ เมืองล้ำยุคที่มีรถลอยฟ้าอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ชีวิตสัญจรไปมาเหนืออาคารสูง เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการเปลี่ยนจากรถที่ต้องติดขัดอยู่บนถนน ให้เปลี่ยนเป็นวิ่งบนท้องฟ้าแทน “จะเป็นไปได้จริงมากแค่ไหน และมีความท้าทายอะไรรออยู่เบื้องหน้าบ้าง”
• รถยนต์บินได้เป็นไปได้จริงมากเพียงใด?
การจะทำให้ภาพรถบินได้เกิดขึ้นได้จริง จำเป็นต้องมีหลักใหญ่ 3 ข้อดังนี้
- ระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถบินได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รองรับสำหรับทะยานขึ้นฟ้า ลงจอด จุดชาร์จแบตเตอรี่หรือจุดเติมเชื้อเพลิง จุดบำรุงรักษา หน่วยงานจัดระเบียบการบินไม่ให้เกิดอุบัติเหตุปะทะกันกลางอากาศ ฯลฯ
- ผู้ขับขี่รถบินได้ ต้องผ่านการสอบจนมั่นใจว่าสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
- เครื่องยนต์ที่ใช้ขับ ต้องอยู่ในสภาพดี ผ่านการบินทดสอบในระยะเวลาที่กำหนดแล้วว่า ไม่พบปัญหาอันใด
ถึงแม้ว่ารถบินได้สามารถเป็นไปได้จริง หาก 3 สิ่งนี้ โครงสร้างพื้นฐาน ผู้ขับขี่ และเครื่องยนต์มีพร้อมก็ตาม แต่ก็มีความท้าทายอยู่หลายประการที่ทำให้ถูกมองว่า “รถบินได้อาจยังไม่สามารถแทนที่รถบนท้องถนนได้” เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
- ระบบจราจรทางอากาศยังคงเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อเทียบกับการสัญจรบนท้องถนน มีเลนรถ มีขอบทาง มีไฟแดง และไฟเขียวที่ทำให้เรารู้ขอบเขตได้ แต่บนอากาศกลับไม่มีสิ่งเหล่านี้ ถ้าจะทำให้เกิดสังคมรถบินได้ขึ้นมา จำเป็นต้องมีระบบ AI ที่จะจัดเที่ยวรถบินไม่ให้ชนกัน และความซับซ้อนทางปริมาณรถคงมากกว่าเครื่องบิน อีกทั้งยังมีเส้นทางโดรนส่งของเพิ่มเข้ามาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงไม่เหมือนรถบนท้องถนนที่ขับออกมาเมื่อใดก็ได้
- อุบัติเหตุทางอากาศ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจากคนขับ เครื่องยนต์ขัดข้อง อย่างเหตุการณ์เครื่องบินชนกันระหว่างเครื่องบินเล็ก Cessna 152 กับเครื่องบิน Cessna 340 ในสหรัฐ เมื่อเดือน ส.ค. 2022 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย ซึ่งหากเกิดขึ้นอีกก็จะเป็นอันตรายยิ่งกว่าอุบัติเหตุบนถนน เพราะแรงโน้มถ่วงและอยู่สูงเหนือพื้นโลก
- อาชญากรรมทางอากาศ บนท้องถนนมีขอบทาง อาคารในการเข้าปิดล้อม สกัดจับได้ แต่บนอากาศไม่มี นักบินสามารถออกนอกตารางบิน และทำในสิ่งที่เราไม่คาดฝันได้
- การอบรมนักบิน ยาวนานและยากกว่าการขับรถถนน เพราะมีฟังก์ชันที่ซับซ้อนกว่ารถทั่วไป พื้นที่ใช้ฝึกก็ขนาดใหญ่กว่าด้วย
- สภาพอากาศที่ต้องประสบ ไม่ว่าจะเป็นพายุฝน หิมะ ฝุ่น ฟ้าผ่า น้ำแข็งที่เกาะเครื่องบิน
- ความปลอดภัยของระบบขับขี่อัตโนมัติ ด้วยการบังคับบินที่ยากกว่า ไม่มีเส้นขอบเขตให้เห็น จึงจำเป็นต้องมีระบบบินอัตโนมัติเข้ามา อย่างไรก็ดี “ความท้าทาย” สำหรับรถยนต์บินได้คือ เสถียรภาพของระบบ และการทนทานต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นความกังวลเดียวกันกับรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนด้วย
- มลพิษทางเสียง ทุกครั้งที่เครื่องยนต์ทำงาน ประกอบกับใบพัดจะเกิดเสียงรบกวน ลองนึกถึงเสียงเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์บินผ่านหน้าบ้าน และหากจำนวนรถบินได้ไม่ได้มีเพียงคันเดียว แต่มีจำนวนหลักร้อย หลักพันบินผ่านละแวกบ้าน คงรบกวนความสงบไม่น้อย ดังนั้น ความฝันที่เราจะเห็นเมืองใหญ่มีพาหนะบินได้ทั่วทุกที่ รอบตึกระฟ้าไปมาเหมือนหนัง Sci-Fi อาจยังคงเป็นความท้าทายอยู่ในขณะนี้ เพราะมลพิษทางเสียงดังกล่าว
ขณะที่ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทรถ Tesla และบริษัทดาวเทียม Starlink แสดงความกังวลต่อรถยนต์บินได้ว่า อาจก่อให้เกิดลมและเสียงรบกวนแก่ผู้คนข้างล่าง อีกทั้งยังมีอันตรายจากเศษซากอุบัติเหตุบนท้องฟ้าที่ตกลงมาด้วย
- ภาพทิวทัศน์ที่งดงามจะหายไป ลองนึกภาพชายหาดที่สวยงาม แต่มีตึกบังกะโลสร้างบดบังหมด ขณะเดียวกัน ภาพทิวทัศน์อันงดงามบนท้องฟ้าก็สามารถถูกบดบังด้วยฝูงรถบินได้เช่นกัน
- ราคารถบินได้ ขณะนี้ราคายังยากที่จะเข้าถึงได้โดยคนทั่วไป อย่างรถบิน Terrafugia ของสหรัฐ ราคาขาย 4 แสนดอลลาร์ (ราว 15 ล้านบาท) รถบริษัท SkyDrive ของญี่ปุ่น ราคา 3-5 แสนดอลลาร์ (ราว 11-19 ล้านบาท)
- จำนวนรองรับผู้นั่ง ขณะนี้ยังคงรับได้น้อย สูงสุดอยู่ที่ 2 คน เพราะข้อจำกัดด้านน้ำหนักในการบิน อะซิส ทาฮิรี รองประธานบริษัทเทคโนโลยีความเป็นจริงดิจิทัล (Digital Reality) ด้านการบินที่ชื่อ Hexagon กล่าวว่า ในอนาคต รถยนต์บินได้จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ เพียงแต่ข้อจำกัดคือ น้ำหนักของแบตเตอรี่ที่อาจขยายขึ้น เพื่อรองรับพลังงานในการบิน โดยเฉพาะยิ่งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักการบิน และเพิ่มความร้อนสะสมบริเวณแบตเตอรี่ที่อาจเสี่ยงต่อไฟไหม้ได้
จากความท้าทายทั้ง 10 ข้อนี้ อาจสรุปได้ว่า “รถยนต์บินได้ยังไม่สามารถแทนที่รถบนท้องถนนแบบเดิมได้ในขณะนี้”
อย่างไรก็ตาม รถยนต์บินได้สามารถเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับการขนส่งเร่งด่วนได้ เช่น การขนส่งผู้ประสบภัย ที่สามารถเข้าถึงผู้บาดเจ็บด้วยรถภาคพื้นดิน และแปลงร่างทะยานฟ้าขึ้นได้ทันที
แม้ว่ารถยนต์บินได้ จะเป็นเทรนด์อนาคตสำคัญ ที่ทำให้การเดินทางเข้าถึงง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่การนำมาใช้ในสาธารณะจำนวนมาก ยังคงเผชิญความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเสียงรบกวนชุมชน ความปลอดภัยในการบิน และการจัดระเบียบจราจรทางอากาศ ซึ่งยังคงต้องติดตามต่อไป
ที่มา :
bangkokbiznews : https://www.bangkokbiznews.com/business/1055849