คู่มือภาพประกอบชีวิตชาวปาเลสไตน์ภายใต้การยึดครอง
ชีวิตชาวปาเลสไตน์ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล
ในวันที่ 15 พฤษภาคมของทุกปี ชาวปาเลสไตน์จะร่วมรำลึกถึงวันนักบะฮ์ (Nakba) ซึ่งเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ของปาเลสไตน์ในปี 1948 โดยกองกำลังติดอาวุธของไซออนิสต์
ในช่วง 76 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์ Nakba การควบคุมชาวปาเลสไตน์โดยอิสราเอลได้ส่งผลกระทบต่อทุกแง่มุมของชีวิต ตั้งแต่บริการที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้และสถานที่ที่พวกเขาสามารถเดินทางไปได้ ไปจนถึงทรัพยากรที่พวกเขาสามารถใช้ และสถานที่ที่พวกเขาสามารถสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองได้
ในคู่มือที่มีภาพประกอบนี้ อัลญะซีเราะฮ์จะพาคุณไปร่วมรับรู้การต่อสู้ดิ้นรนในแต่ละวันภายใต้การยึดครองของอิสราเอล
1.การควบคุมที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ
มีการแบ่งแยกทางกายภาพระหว่างชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซากับชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกที่ถูกยึดครอง โดยพื้นฐานแล้วอิสราเอลห้ามการเคลื่อนไหวใด ๆ ระหว่างพื้นที่เหล่านี้ ในปี 1995 เขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ A, B และ C ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาออสโล
พื้นที่ C – คิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 60 ของเวสต์แบงก์และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ประมาณ 300,000 คน พื้นที่นี้ควรจะถูกส่งมอบให้กับทางการปาเลสไตน์ (PA) แต่อิสราเอลยังคงควบคุมได้อย่างสมบูรณ์และได้สร้างการตั้งถิ่นฐานและด่านหน้าของชาวยิวที่ผิดกฎหมายมากกว่า 290 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ตั้งถิ่นฐานประมาณ 700,000 คนอาศัยอยู่ แม้ว่าการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลจะผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศก็ตาม
2.การควบคุมที่อยู่อาศัย
คุณจะทำอย่างไรถ้าคุณรู้ว่าคุณจำเป็นต้องมีใบอนุญาตในการสร้างบ้าน แต่มันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้รับใบอนุญาตเพราะคุณเป็นชาวปาเลสไตน์ ?
ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกที่ถูกยึดครองถูกบังคับให้สร้างบ้านโดยไม่มีใบอนุญาต เนื่องจากอิสราเอลปฏิเสธที่จะให้ใบอนุญาต
“ความทรงจำทั้งหมดของฉันอยู่ในบ้านหลังนั้น” ฟัครี อบู ดิยาบ วัย 62 ปี กล่าวกับอัลญะซีเราะฮ์หลังจากที่ทางการอิสราเอลบุกโจมตีบ้านของเขาในกรุงเยรูซาเลมตะวันออกที่ถูกยึดครองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
โดยทั่วไปแล้ว ทางการอิสราเอลกำหนดให้ชาวปาเลสไตน์ต้องจ่ายค่ารื้อบ้านของตนเอง ส่งผลให้อบูดิยาบกังวลว่าเขาอาจไม่สามารถจ่ายค่ารื้อถอนได้
องค์การสหประชาชาติระบุว่านับตั้งแต่ปี 2009 ที่อยู่อาศัยที่ชาวปาเลสไตน์เป็นเจ้าของอย่างน้อย 10,700 แห่งในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองได้ถูกทำลายลง ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 16,000 คน
3.การควบคุมทรัพยากรมนุษย์
ทุก ๆ เช้าก่อนรุ่งสางแรงงานชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคนจะเบียดเสียดกันเข้าช่องทางเดินแคบ ๆ คล้ายกรงขังเพื่อรอการผ่านจุดตรวจทางทหารของอิสราเอลระหว่างทางไปทำงานของพวกเขา
อิสราเอลซึ่งมีข้อจำกัดอย่างหนักเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและทรัพยากรของชาวปาเลสไตน์ ได้ผลักดันอัตราการว่างงานของชาวปาเลสไตน์ให้สูงเป็นอันดับสามของโลก
สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ ณ เดือนมกราคมปีนี้ มีตำแหน่งงานประมาณ 507,000 ตำแหน่งทั่วปาเลสไตน์ที่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา ตามข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสำนักงานสถิติกลางปาเลสไตน์
ILO คาดการณ์ว่าหากสงครามในฉนวนกาซาดำเนินต่อไปจนถึงเดือนมิถุนายน การว่างงานในปาเลสไตน์จะเพิ่มขึ้นเกิน 45 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 25 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
4. การควบคุมทรัพยากรทางการเงิน
อิสราเอลมีอิทธิพลอย่างมากต่อทรัพยากรทางการเงินของปาเลสไตน์ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น ภาษีที่จัดเก็บในนามของทางการปาเลสไตน์ (PA) ซึ่งดูแลพื้นที่บางส่วนของเวสต์แบงก์ที่อิสราเอลยึดครองมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990
อิสราเอลเก็บภาษีในนามของ PA ประมาณ 188 ล้านเหรียญต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 64 ของรายได้รวมของ PA
อิสราเอลระงับการจ่ายเงินเหล่านี้เป็นประจำ ซึ่งขัดขวางความสามารถของ PA ในการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานประมาณ 150,000 คนที่ทำงานในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง
5. การควบคุมการค้า
ตั้งแต่ปี 1967 เมื่ออิสราเอลยึดครองปาเลสไตน์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด และขับไล่ชาวปาเลสไตน์ 300,000 คนออกจากบ้านของพวกเขา ความสัมพันธ์ทางการค้าของชาวปาเลสไตน์กับโลกอาหรับก็ถูกตัดขาดไปโดยสิ้นเชิง
อิสราเอลควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าที่ชาวปาเลสไตน์สามารถนำเข้าและส่งออกได้
ในปี 2001 กองกำลังอิสราเอลได้ทำลายสนามบินนานาชาติยาสิร อะเราะฟาต ในเมืองเราะฟะห์ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ซึ่งเป็นสนามบินแห่งเดียวในดินแดนปาเลสไตน์ที่ดำเนินการโดยชาวปาเลสไตน์
ปาเลสไตน์มีการขาดดุลการค้าสูงเนื่องจากข้อจำกัดของอิสราเอลในด้านพรมแดนและทรัพยากร การพึ่งพาเศรษฐกิจอิสราเอลหมายความว่าปาเลสไตน์ส่งออกสินค้าประมาณร้อยละ 80 ไปยังอิสราเอล
6.การควบคุมเทคโนโลยี
ปาเลสไตน์ก็ถูกยึดครองทางดิจิทัลเช่นกัน
อิสราเอลจำกัดการนำเข้าอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยอ้างว่าเป็น “การใช้งานแบบคู่” หรือมีทั้งการใช้งานพลเรือนและทหาร
ในขณะที่อิสราเอลกำลังเปิดตัวอินเทอร์เน็ตบนมือถือความเร็วสูง 5G ผู้ให้บริการเครือข่ายปาเลสไตน์ได้รับอนุญาตให้ใช้ 3G เฉพาะในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง (ตั้งแต่ปี 2018) และในฉนวนกาซาได้รับอนุญาตแค่ 2G เท่านั้น
ข้อจำกัดเหล่านี้ขัดขวางภาค ICT ของปาเลสไตน์ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยซอฟต์แวร์และโครงสร้างพื้นฐานของอิสราเอล เครือข่ายอิสราเอลสามารถติดตามตรวจสอบและเซ็นเซอร์เนื้อหาออนไลน์ของชาวปาเลสไตน์ได้
7. การควบคุมโครงสร้างพื้นฐาน
อิสราเอลควบคุมทรัพยากรน้ำส่วนใหญ่ในภูมิภาค รวมถึงชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินหลักในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง
ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง มักเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงและการใช้งานแหล่งน้ำเหล่านี้
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีปริมาณการใช้น้ำที่ปลอดภัยขั้นต่ำ 100 ลิตรต่อคนต่อวัน
ในปี 2023 ชาวอิสราเอลใช้น้ำโดยเฉลี่ย 247 ลิตรต่อวัน ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาได้รับเพียง 82 ลิตรต่อวัน
8. การควบคุมมรดกทางวัฒนธรรม
มรดกทางวัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์ของปาเลสไตน์ตกอยู่ในอันตรายตลอดเวลาภายใต้การยึดครองของอิสราเอล
ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2023 การทิ้งระเบิดโดยอิสราเอลในฉนวนกาซาได้ทำลายมรดกทางวัฒนธรรมมากกว่า 200 แห่ง รวมถึงพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดและมัสญิด
อิสราเอลยังได้ทำลายสถาบันการศึกษามากกว่า 390 แห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัยทุกแห่งในฉนวนกาซา
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2024 ทหารอิสราเอลได้ใช้ระเบิดทำลายมหาวิทยาลัยอิสรออ์ในเมืองกาซาซิตี้
นี่เป็นเพียงวิถีชีวิตบางส่วนในปาเลสไตน์ที่ถูกจำกัดภายใต้การยึดครองของอิสราเอล
การควบคุมและการครอบงำของอิสราเอลละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และทำให้ชาวปาเลสไตน์ขาดอำนาจในการตัดสินใจอย่างอิสระ (self-determination) ตามรายงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียตะวันตกของสหประชาชาติระบุว่าอิสราเอลทำให้เศรษฐกิจของปาเลสไตน์ถดถอย บีบให้พวกเขาต้องพึ่งพาอิสราเอล
“เราบอบช้ำทางจิตใจ” อบูดิยาบซึ่งถูกบังคับให้จ่ายค่ารื้อถอนบ้านของเขาเองเมื่อต้นปีนี้กล่าวกับอัลญะซีเราะฮ์
ชาวปาเลสไตน์กล่าวว่าระบบการกดขี่อย่างต่อเนื่องของอิสราเอลหมายความว่าเหตุการณ์นักบะฮ์นั้นยังดำเนินต่อไป
ที่มา : Aljazeera