WORLD : สหพันธ์นักวิชาการมุสลิมนานาชาติเรียกร้องคู่สงครามอัฟกันยุติสู้รบในเดือนเราะมะฎอน เมื่อวันจัน…
จอร์แดนยกเลิกกฎหมายอภัยโทษผู้ข่มขืนหากยอมแต่งงานกับเหยื่อ
รัฐสภาจอร์แดนลงคะแนนเมื่อวันอังคารเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 308 ที่ระบุว่า “หากผู้กระทำชำเราผู้อื่น ยอมสมรสกับเหยื่อและอยู่อาศัยกับเหยื่อจนครบ 3 ปีจะได้รับการอภัยโทษจากความผิด”
สัลมา นิมส์ เลขาธิการคณะกรรมการสตรีแห่งชาติจอร์แดน หน่วยงานกึ่งรัฐบาล กล่าวว่า “เราเฉลิมฉลองในวันนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์สำหรับทั้งภูมิภาคนี้ มิใช่เพียงของจอร์แดนเท่านั้น ความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลมาจากความพยายามของภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรสิทธิสตรีหลายแห่งในจอร์แดนที่ทำงานร่วมกัน”
มาตรา 308 ทำให้เกิดความขัดแย้งในจอร์แดนนานหลายสิบปี ประชาชนแบ่งเป็นสองฝ่ายหลักๆ คือฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเป็นกฎหมายจำเป็นเพื่อรักษาเกียรติของสตรีเอาไว้ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างชัดเจน
นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมหลายร้อยคนรวมตัวกันนั่งหน้าอาคารรัฐสภาเมื่อวันอังคาร (1 ส.ค.) เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว
นิมส์กล่าวอีกว่า “มีสมาชิกรัฐสภาบางคนที่ต้องการรักษากฎหมายนี้ไว้ พยายามต่อสู้อย่างถึงที่สุดในสภา แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมรับคะแนนเสียง”
เธอกล่าวอีกว่า “ในตอนแรกเรารู้สึกกังวล แต่สุดท้ายความพยายามของพวกเราก็ประสบผลสำเร็จ สิ่งที่เราต้องการคือการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ทั้งหมดที่กระทบต่อสถานะสตรีในจอร์แดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายสถานะส่วนบุคคลและกฎหมายอื่นๆ ที่กระทบต่อชีวิตสตรีในจอร์แดนและกระทบต่อสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศ”
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของสภาครั้งนี้ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาหรือสภาสูงเสียก่อน จากนั้นจึงจะถึงขั้นตอนการลงนามโดยกษัตริย์อับดุลอลฮฺ ที่2 แห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน
คอลิด เราะมะฎอน สมาชิกสภาที่ผลักดันการยกเลิกกฎหมายในครั้งนี้กล่าวว่า “นี่คือวันแห่งประวัติศาสตร์วันหนึ่งของจอร์แดน หลังจากกฎหมายนี้บังคับใช้มานาน 57 ปี นี่ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการปฏิรูปสังคมและเพื่อความเสมอภาค วันนี้เราได้ส่งข้อความไปยังนักข่มขืนทั้งหลายว่าอาชญากรรมของพวกเขาจะไม่ถูกมองข้ามอีกแล้ว และเราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาหลบหนีจากความผิดได้อีกต่อไป”
เขากล่าวอีกว่า “การโต้เถียงกันในประเด็นนี้เกิดขึ้นหลายทศวรรษ เรานับถือในมุมมองที่แตกต่างจากทุกฝ่าย แต่การยกเลิกกฎหมายนี้ถือว่าถูกยอมรับโดยชาวจอร์แดนทั้งหมดแล้ว เมื่อมันถูกลงคะแนนโดยสภาผู้แทนราษฎร นั่นหมายถึงชาวจอร์แดนตัดสินใจแล้วที่จะโยนกฎหมายข้อนี้ไว้เบื้องหลัง”
ที่มา : Aljazeera