เกิดอะไรในโลก : รัฐบาลอียิปต์ออกคำแนะนำให้ประชาชนหันมาบริโภค “ตีนไก่” ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ จนทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน
ปัญหาความยากจนและภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง เป็นสถานการณ์ที่ประชาชนในหลายประเทศต้องแบกรับ รวมถึงในอียิปต์ที่เงินเฟ้อทะยานขึ้นแตะ 30% จนทำให้ราคาสินค้าหลายประเภท พุ่งขึ้น 2-3 เท่า
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินปอนด์อียิปต์ร่วงลงกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศลดค่าเงินหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการนำเข้าสินค้า ราคาอาหารคนและอาหารสัตว์ ที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถซื้อ แม้แต่วัตถุดิบง่าย ๆ อย่างน้ำมันพืช หรือชีสได้
อย่างเมื่อปีที่แล้ว วิด๊าด (Wedad) คุณแม่วัยเกษียณชาวอียิปต์ ใช้ชีวิตอย่างไม่ขัดสนแบบคนชนชั้นกลาง อาศัยเงินบำนาญประมาณ 5,500 บาท ที่ได้รับทุกเดือน แต่ปัจจุบันเธอเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับทุก ๆ คน คือ ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน
วิด๊าดบอกว่า เธอต้องลดการกินเนื้อเหลือแค่เดือนละครั้ง บางเดือนก็ไม่กินเลย แต่ก็ยังซื้อไก่กินอาทิตย์ละครั้ง โดยราคาไก่ทั้งตัว ปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละเกือบ 78 บาท จากเดิมอยู่ที่ กก.ละ 33 บาทในปี 2021 ส่วนราคาไข่ไก่ทุกวันนี้ พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ฟองละเกือบ 6 บาทแล้ว
📌 ทางออกของรัฐบาล
ล่าสุดรัฐบาลผุดไอเดีย ออกคำแนะนำให้ประชาชนหันมาบริโภคตีนไก่และกีบเท้าวัว ที่มีราคาถูก ในช่วงที่ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะแม้ “ตีนไก่” จะเป็นวัตถุดิบที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ หลายประเทศนิยมรับประทานโดยนำมาต้มหรือตุ๋นในน้ำซุป
แต่ในบางวัฒนธรรม เช่น อียิปต์ มองว่าตีนไก่ไม่ใช่วัตถุดิบที่นำมาทำอาหารได้ เป็นแค่เศษอาหารเหลือทิ้ง ที่มักให้สุนัขหรือแมวกินเท่านั้น คนจำนวนมากจึงรู้สึกไม่พอใจกับคำแนะนำนี้ เพราะมองว่ารัฐบาลควรพยายามหาทางแก้วิกฤตนี้ให้ได้ แทนที่จะขอให้ประชาชนหันไปกินอาหารที่เป็นสัญลักษณ์ของความยากจน
สำหรับอียิปต์เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาหรับ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเหนือกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ข้อมูลจากรัฐบาลชี้ว่าประชากรในประเทศราว 30% มีรายได้อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่ธนาคารโลกประเมินในปี 2019 ว่า ชาวอียิปต์ประมาณ 60% มีฐานะยากจนหรืออยู่ในกลุ่มเปราะบาง
📌 หลายหลายปัจจัยรุมกระหน่ำ
ประธานาธิบดีอับดุล ฟัตตะห์ อัซ-ซีซี ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจของอียิปต์เริ่มขึ้นตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมอาหรับสปริงในปี 2011 ประกอบกับจำนวนประชากรในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแตะ 109 ล้านคน ยิ่งซ้ำเติมปัญหาด้านทรัพยากรที่มีจำกัด รวมถึงความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังมีปัจจัยลบเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งวิกฤตโรคระบาด ซึ่งทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกจากอียิปต์ในปี 2020 นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตสงครามในยูเครนด้วย
แม้แต่ละปี จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากรัสเซียและยูเครนเดินทางมาที่อียิปต์ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปมากนับตั้งแต่เกิดสงคราม จนทำให้รายได้ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 5% ของ GDP ติดลบอย่างหนัก
นอกจากนี้ อียิปต์ยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหาร และสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จนทำให้เกิดการขาดดุลทางการค้า โดยปัจจุบันอียิปต์เป็นผู้นำเข้าข้าวสาลีสำหรับทำขนมปังรายใหญ่ที่สุดของโลก จากทั้งรัสเซียและยูเครน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80% จึงได้รับผลกระทบเต็มๆ จากราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นทันทีที่เกิดสงคราม
📌 ความล้มเหลวในการจัดการ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การบริหารจัดการที่ไม่ดีของภาครัฐ ก็มีส่วนทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลง อย่างในกรณีล่าสุด ที่ทางการออกคำแนะนำให้บริโภคตีนไก่ หลังจากนั้นไม่นาน ราคาตีนไก่ในตลาดก็ปรับเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา อียิปต์ขอรับเงินกู้ช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ แล้วถึง 4 ครั้ง ขณะที่รายได้ครึ่งหนึ่งของรัฐบาล ต้องนำไปจ่ายหนี้สาธารณะ ซึ่งคิดเป็นเกือบ 86% ของ GDP
หลายประเทศในตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ต่างจับตาสถานการณ์ในอียิปต์อย่างใกล้ชิด และช่วยปล่อยเงินกู้ เพราะเกรงว่าหากเศรษฐกิจของอียิปต์ล้ม จะส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภูมิภาค
ที่ผ่านมา วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอียิปต์ ล้วนนำไปสู่การลุกฮือประท้วงและก่อจลาจลของประชาชน จนทำให้อดีตผู้นำถึง 2 คน คือ อดีตประธานาธิบดีฮุสนี มูบาร็อก และ อดีตประธานาธิบดีมูฮัมหมัด มุรร์ซี ต้องลงจากตำแหน่ง และจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราเริ่มเห็นสัญญาณความโกรธแค้นที่กำลังก่อตัวขึ้น เหมือนระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ
ที่มา :
Dailynews : https://www.dailynews.co.th/articles/2144988/