ทูตยูเออีเข้าพบเนทันยาฮูหารือความร่วมมือในการต่อสู้กับโควิด-19 มุฮัมมัด อัลคอญะฮ์ ทูตสหรัฐอาหรับเอมิ…
UPDATE : ซาอุฯจ่อเลิกระบบกะฟาละฮ์ หันมาใช้สัญญาจ้างที่เป็นธรรมมากขึ้น
ซาอุดิอาระเบียมีแผนที่จะยกเลิกระบบอุปการะแรงงานต่างด้าวแบบเก่าที่รู้จักกันในชื่อ “กะฟาละฮ์” และแทนที่ด้วยระบบสัญญาจ้างแบบใหม่ระหว่างผู้จ้างกับลูกจ้างที่มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
แรงงานต่างด้าวมากกว่าสิบล้านคนในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียกล่าวว่าพวกเขาอยู่ภายใต้ระบบกะฟาละฮ์แบบเก่ามานับทศวรรษ ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าระบบนี้ทำให้ลูกจ้างเสี่ยงที่จะถูกเอาเปรียบ กะฟาละฮ์กำหนดให้ลูกจ้างต้องได้รับการสนับสนุนหรืออุปถัมภ์จากนายจ้างชาวซาอุฯ หรือเรียกว่าต้องขึ้นตรงต่อนายจ้าง 1 คนซึ่งจะเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการเรื่องวีซ่าให้พวกเขาเพื่อใช้ในการเข้าและออกจากราชอาณาจักร
ความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นก้าวล่าสุดของการปฏิรูปเศรษฐกิจในซาอุฯ หลังประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่กลางทะเลทรายแห่งนี้ตัดสินใจที่จะลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันภายใต้นโยบาย “วิสัยทัศน์ 2030” การยกเลิกระบบกะฟาละฮ์ถือเป็นการให้อิสระแก่แรงงานต่างด้าว พวกเขาสามารถเก็บวีซ่าไว้กับตัวได้อันเป็นการรับประกันว่าพวกเขาจะเข้าหรือออกราชอาณาจักรเมื่อไหร่ก็ได้ และพวกเขาสามารถรับการประทับตาหนังสือเดินทางขั้นสุดท้ายได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากนายจ้างอีกต่อไป เช่นเดียวกับการได้รับการว่าจ้างงาน ซึ่งในระบบกะฟาละฮ์ ผู้สนับสนุนชาวซาอุฯ ที่ครอบครองวีซ่าของแรงงานต่างด้าวจะมีอำนาจตัดสินใจในการให้เขาตอบรับหรือปฏิเสธงานต่างๆ ได้ แต่ระบบใหม่นี้พวกเขาจะมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเอง
รอยเตอร์ส์อ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตนว่าความคิดริเริ่มนี้จะถูกนำมาใช้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 และว่า “กระทรวงทรัพย์กรมนุษย์และการพัฒนาสังคม มีความตั้งใจที่จะประกาศความคิดริเริ่มนี้ในสัปดาห์หน้า อันเป็นแนวคิดที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญา”
“รัฐบาลริยาฎได้ดำเนินการตามความคิดริเริ่มที่หลากหลายในการพัฒนาตลาดแรงงาน และการตัดสินใจต่างๆ นั้นจะได้รับการแถลงโดยเร็วที่สุด” รายงานระบุเพิ่มเติม และว่ากระทรวงฯ ได้เรียกร้องไปยังผู้รับข่าวสารว่าให้ติดตามจากแหล่งข้อมูลของทางการเท่านั้นเพื่อความถูกต้องของข้อมูล
ระบบกะฟาละฮ์ถูกมองว่าเป็น “ระบบทาสร่วมสมัย” เนื่องจากมันสร้างความไม่สมดุลทางอำนาจอย่างมากระหว่างนายจ้าง (ผู้อุปถัมภ์) กับลูกจ้าง ซึ่งเอื้อต่อการละเมิดหรือเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง
ทั้งนี้แผนการยกเลิกระบบกะฟาละฮ์เคยถูกแถลงครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ แต่จนถึงปัจจุบันกลับมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น