WORLD : ประธานาธิบดีทุรคีเย่ และปชช.หลายพัน ร่วมพิธีศพ Mahmut Ustaosmanoglu ผู้นำศาสนาอาวุโส เสียชีว…
นายกปาเลสไตน์ร้องอังกฤษขอโทษเรื่องแถลงการณ์บัลโฟร์
นายรอมี ฮัมดัลลอฮฺ นายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์เรียกร้องเมื่อวันอาทิตย์ให้อังกฤษขอโทษชาวปาเลสไตน์ที่ได้ประกาศคำสัญญาสร้างรัฐยิวบนดินแดนปาเลสไตน์ซึ่งจะครบรอบ 100 ปีในสัปดาห์นี้
ฮัมดัลลอฮฺกล่าวว่า แถลงการณ์บัลโฟร์ที่ประกาศโดยอาเธอร์ บัลโฟร์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งปาเลสไตน์ในขณะนั้น (ค.ศ.1917) เป็นผู้อารักขาอังกฤษ (ในการสู้รบกับฝ่ายอักษะ) แถลงการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นความอยุติธรรมทางประวัติศาสตร์ต่อชาวปาเลสไตน์
เขากล่าวอีกว่า อังกฤษไม่ควรจัดเลี้ยงอาหารค่ำฉลองครบรอบแกลงการณ์ ซึ่งจะจัดขึ้นในกรุงลอนดอน โดยนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลและนายกรัฐมนตรีเทเรซ่า เมย์ ของอังกฤษเข้าร่วมและอาจกล่าวถึงความสำคัญของแถลงการณ์ดังกล่าวที่มีส่วนในการก่อตั้งรัฐอิสราเอลอย่างเป็นทางการในค.ศ.1948
นายกฯ ปาเลสไตน์กล่าวระหว่างการเปิดโรงเรียนเอกชนแห่งใหม่ในเมืองนาบลุส เขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองว่า “การจัดฉลองจะเป็นการท้าท้ายต่อประชาคมโลกที่อยู่ข้างชาวปาเลสไตน์ในปัญหาความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอล”
ด้านประธานาธิบดีมะหฺมูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์และสมาชิกรัฐบาลของเขาได้ออกมาอ้างก่อนหน้านี้ว่าพวกเขากำลังเตรียมการยื่นฟ้องรัฐบาลอังกฤษต่อแถลงการณ์บัลโฟร์ ซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์ราว 7 แสนคนต้องพลัดถิ่นในค.ศ.1948
แถลงการณ์บัลโฟร์นี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอังกฤษในเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 ใจความของคำแถลงการณ์ตอนสำคัญมีความว่า
“รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิจารณาด้วยความเห็นชอบ ในการตั้งถิ่นฐานสำหรับพวกยิวขึ้นแห่งหนึ่งในประเทศปาเลสไตน์ และจะใช้ความพยายามจนสุดความสามารถที่จะอำนวยความสะดวกต่อการบรรลุถึงวัตถุประสงค์ข้อนี้ เป็นที่เข้าใจอย่างแจ้งชัดว่า จะไม่มีการปฏิบัติการใด ๆ อันเป็นผลร้ายต่อสิทธิพลเรือนและการนับถือศาสนา ของหมู่ชนที่มิใช่ชาวยิวในประเทศปาเลสไตน์ หรือสิทธิและสถานภาพทางการเมืองที่พวกยิวได้รับในประเทศอื่น”
นักวิชาการตั้งคำถามว่า ขณะนั้นปาเลสไตน์ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมัน แล้วอังกฤษมีอำนาจอะไรที่ประกาศยกดินแดนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของตนให้แก่ชาวยิว
ก่อนหน้านั้นในปีค.ศ.1915 อังกฤษก็เข้ามาหว่านล้อมชาติอาหรับรวมถึงปาเลสไตน์ ให้เข้าร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตรต่อต้านฝ่ายออตโตมันที่เข้าร่วมฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่1 โดยสัญญาว่าจะมอบเอกราชให้แก่ชาติอาหรับทั้งหมดหลังสงคราม แต่ท้ายที่สุดชาวอาหรับก็ถูกหักหลัง โดยเฉพาะชาวปาเลสไตน์ที่นอกจากจะไม่ได้รัฐเอกราชของตนแล้วยังเสียดินแดนส่วนมากของประเทศให้แก่รัฐยิวที่ถูกสถาปนาขึ้นอย่างผิดกฎหมายในค.ศ.1948 อีกด้วย
มินับรวมถึงถ้อยสัญญาของมหาอำนาจ (สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ) ก่อนที่จะได้รับชัยชนะในสงครามโลก ที่ว่าจะยึดมั่นในสิทธิขั้นพื้นฐานในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองของประชาชนท้องถิ่นในแต่ละดินแดนที่เป็นอาณานิคมของตน และถ้อยสัญญาในแถลงการณ์บัลโฟร์เองที่พูดในเรื่องเดียวกัน ทว่าในทางปฏิบัตินั้นพวกเขาออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยิวจากภายนอกและบีบบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ที่เป็นอาหรับมุสลิมต้องพลัดถิ่น แล้วสนธิสัญญาบัลโฟร์นี้จะมิถูกเรียกว่าสัญญาโจรได้อย่างไร?
ที่มา : MEMO