เกิดอะไรในโลก : โควิดเป็นศูนย์ : นโยบายคุมโควิดจีนมีหน้าตาอย่างไร ทำไมคนถึงต่อต้าน กับการสั่นคลอนอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์
การประท้วงต่อต้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่รัฐบาลจีนภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ดำเนินมาหลายปี ได้ขยายตัวไปยังหลายเมืองทั่วประเทศ จนอาจถือได้ว่าเป็นการประท้วงใหญ่สุดของจีนในรอบหลายสิบปี โดยข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงก็คือ การผ่อนคลายมาตรการโควิดที่เข้มงวดมาก ในช่วงที่ตอนนี้ ผู้ติดเชื้อโควิดในจีนกำลังกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง
📌 หน้าตาของมาตรการล็อกดาวน์ในจีน
ประเทศจีนถือว่ามีนโยบายควบคุมโควิดที่เข้มงวดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ดังนี้
ทางการท้องถิ่นต้องสั่งล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ตามอาคารและชุมชมที่พบผู้ติดเชื้อ แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะไม่มากนัก
การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชน หากมีการรายงานพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่
ประชาชนที่ติดโควิดต้องแยกกักตัวที่บ้าน หรือสถานกักตัวของรัฐบาล
หากมีการประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่ ธุรกิจและโรงเรียนจะต้องปิดชั่วคราว
ร้านค้าต้องปิด ยกเว้นการจำหน่ายอาหาร
การล็อกดาวน์จะดำเนินไปจนกว่าจะไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่
นับแต่รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ มีประชากรจีนหลายสิบล้านคนที่ล้วนเคยเผชิญการล็อกดาวน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ตอนนี้จีนไม่ได้สั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศแล้ว และก็ผ่อนคลายมาตรการที่เคยใช้หลายอย่าง อย่างไรก็ดี รัฐบาลกลางบอกให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสั่งล็อกดาวน์พื้นที่ของตัวเองหากว่าพบกรณีการติดเชื้อ แม้จะเจอแค่ไม่กี่รายเท่านั้น นอกจากนี้ จะมีการเรียกคนจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับผู้ติดเชื้อมาตรวจโควิด ใครที่ติดเชื้อก็ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือไม่ก็ไปอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐเป็นผู้ควบคุม ไม่เพียงเท่านั้น ทางการท้องถิ่นยังดำเนินมาตรการสุดโต่ง อาทิ ให้พนักงานโรงงานนอนในโรงงาน เพื่อที่จะทำงานต่อได้ แม้จะต้องกักตัวก็ตาม
โดยล่าสุดเทศบาลกรุงปักกิ่งประกาศการยกเลิกมาตรการวางแบริเออร์ หรือสิ่งกีดขวาง บริเวณทางเข้าที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยโควิด-19 นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่ระบุว่า “เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค” ต่อการทำงานของบุคลากรการแพทย์ และการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินอื่น
ขณะที่เทศบาลเมืองกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง ประกาศระงับมาตรการตรวจคัดกรองกับประชาชนเป็นวงกว้าง โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับจำนวนบุคลากรสาธารณสุข
ด้านทางการเมืองอุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อนุญาตให้ผู้ประกอบการตลาดสดและภาคธุรกิจใน “พื้นที่เสี่ยงต่ำ” กลับมาเปิดกิจการได้แล้ว ส่วนเทศบาลนครฉงชิ่งประกาศว่า ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ ไม่พบผู้ติดเชื้อยืนยันในรอบ 5 วันล่าสุด ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองของรัฐ
อย่างไรก็ตาม นายจาง จวิน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในขณะที่หลายประเทศ “ตัดสินใจเดินไปอีกทางหนึ่งเพื่อเสรีภาพและอิสรภาพ” แต่ผลที่ตามมาคือ ยังคงมีประชาชนเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นสิ่งที่จีนไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด
ด้านหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์ส หนึ่งในสื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานว่า การปรับเปลี่ยนมาตรการทางสังคมบางอย่าง ไม่ได้หมายความว่า ความเข้มงวดของการควบคุมและการป้องกันโรคโควิด-19 จะลดน้อยลงตามไปด้วย โดยไม่มีการเอ่ยถึงการประท้วงซึ่งเกิดขึ้นตลอด 5 วันที่ผ่านมาแต่อย่างใด.
📌 สถานการณ์โควิดในจีนเริ่มน่าวิตก ?
เมื่อไม่นานมานี้ จีนรายงานผู้เสียชีวิตรายใหม่จากโควิด เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วจีนถึง 40,052 คน ถือว่าเพิ่มจาก 39,506 คนเมื่อวันอาทิตย์ (27 พ.ย.) และถือว่าพุ่งสูงกว่าช่วงพีคครั้งล่าสุดในเดือน เม.ย. 2022 ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์อยู่ที่เฉลี่ยเกือบ 200,000 คน
แม้จะมีรายงานผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่ทั่วจีน แต่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เมืองกว่างโจว ทางตอนใต้ และฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 7,000-8,000 คนทุกวัน
ส่วนที่กรุงปักกิ่ง มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 4,000 ต่อวัน ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตต่อสัดส่วนประชาชนในจีน ยังถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ
📌 จีนใช้วัคซีนอะไร
จนถึงตอนนี้ มีประชากรจีนที่อายุเกิน 80 ปี เพียงประมาณครึ่งเดียว ที่ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว ขณะที่ประชากรอายุ 60-69 ปี ไม่ถึง 60% ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ประชาชนสูงอายุถือว่ามีความเสี่ยงต่อโควิด-19 มากที่สุด และจีนพยายามผลักดันให้ผู้สูงวัยเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว
เหตุผลหนึ่งที่ประชาชนไม่ต้องการรับวัคซีนในจีน เพราะรัฐบาลจีนเน้นการวัคซีนซิโนแวค และซิโนฟาร์ม เป็นหลัก ซึ่งประชาชนวิตกว่าจะไม่มีประสิทธิภาพต้านโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกในเวลานี้
ชาติตะวันตกเสนอวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า อาทิ วัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์ แต่จีนปฏิเสธจะใช้วัคซีนของชาติตะวันตกในวงกว้าง รัฐบาลจีนไม่ได้ให้เหตุผลที่แน่ชัดว่า ทำไมถึงยึดติดกับวัคซีนที่ผลิตเองในจีนมากนัก แต่ ดร. ยู เจีย นักวิจัยอาวุโส ขององค์กรระดมสมองชาแธมเฮาส์ มองว่า จีนอาจห่วงเรื่องศักดิ์ศรีของชาติมากกว่าการนำเข้ามาจากประเทศอื่น”
ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้จีนเปลี่ยนยุทธศาสตร์การรับมือโควิดเสียใหม่ แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ระบุว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่จีนใช้อยู่ เป็นไปตามหลัก “วิทยาศาสตร์และได้ผล”
📌 ไทม์ไลน์เหตุประท้วงโควิดปะทุรุนแรง
กระแสความไม่พอใจที่ลุกลามกลายเป็นเหตุประท้วงตามเมืองใหญ่ๆ ดูท่าว่าจะไม่จบลงง่ายๆ แม้ว่าทางการจีนจะระดมกำลังตำรวจลงพื้นที่ประจำจุดต่างๆ เพื่อควบคุมการประท้วงไม่ให้ลุกลามบานปลายแล้วก็ตาม ชนวนเหตุเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการประท้วงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนครั้งนี้ มีที่มาจากหลายเรื่องราวรวมกัน วันนี้เราจะพาไปย้อนดูไทม์ไลน์ว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนหน้าที่จะนำมาสู่เหตุประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้
-กระแสความแคลงใจในเซี่ยงไฮ้
การประกาศล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นชนวนเหตุสำคัญครั้งแรกที่จุดกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อมาตรการคุมเข้มโควิดให้เป็นศูนย์ของทางการจีน โดยครั้งนั้นก็มีการประท้วงย่อมๆ ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะขาดแคลนอาหาร ซึ่งแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับมหานครใหญ่ที่ร่ำรวยของจีน
ในเดือนเมษายน มีการเผยคลิปเสียงของประชาชนที่รู้สึกสิ้นหวังและได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการล็อกดาวน์ความยาว 6 นาทีถูกเผยแพร่ออกมา ก่อนที่คลิปจะถูกเซนเซอร์ไป
หลังจากนั้นในโลกโซเชียลก็เริ่มมีการโพสต์คลิปวิดีโอความไม่พอใจของประชาชนตามช่องทางต่างๆ เพื่อหลบหลีกการถูกบล็อก จนเกิดกระแสการประท้วงใหญ่ทางออนไลน์ นับตั้งแต่หมอหลี่ หรือนายแพทย์หลี่ เหวินเหลียงจักษุแพทย์ ผู้เปิดโปงเรื่องราวเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในอู่ฮั่น เสียชีวิตในวัย 34 ปี จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020
-เหตุประท้วงในมหาวิทยาลัย
ในเดือนพฤษภาคม มีนักศึกษาหลายร้อยคนในวิทยาเขตแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยปักกิ่งในกรุงปักกิ่ง ออกมาประท้วงมาตรการคุมเข้มล็อกดาวน์ เพื่อต้องการให้นักศึกษาได้มีอิสระในการเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยการประท้วงครั้งนี้ยุติลงหลังจากที่ทางการยอมผ่อนปรนที่จะยกเลิกมาตรการคุมเข้มบางอย่างลง โดยมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจีนต้องล็อกดาวน์ตลอดช่วงของการระบาดของโควิด-19 ห้ามบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยม และไม่อนุญาตให้นักเรียนนักศึกษากลับบ้านเพื่อป้องกันการระบาดด้วย
-การประท้วงธนาคารเหอหนาน
ในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม มีผู้ฝากเงินนับร้อยนับพันคนบุกประท้วงหน้าธนาคารประชาชนจีน สำนักงานเจิ้งโจว ในมณฑลเหอหนาน หลังจากโดนอายัดบัญชี เบิกถอนเงินไม่ได้มานานกว่า 90 วัน นอกจากนี้แอปพลิเคชันโควิด-19 ของรัฐ ที่ประชาชนทุกคนต้องลงทะเบียนใช้งาน ยังถูกติดตามความเคลื่อนไหว และถูกสกัดไม่ให้พวกเขาเดินทางออกนอกพื้นที่พักอาศัยเพื่อมาชุมนุมกันซึ่งประชาชนต่างกล่าวว่าเป็นความพยายามในการสกัดการประท้วงของภาครัฐ ก่อนที่ทางการจะเข้ามาแก้ไขปัญหา จับแก๊งอาชญากรรมท้องถิ่น และทยอยแก้ไขบัญชีที่ถูกอายัดให้กลับมาใช้งานได้ในภายหลัง
-การประท้วงในทิเบต
ต่อมาในเดือนตุลาคม ชาวบ้านในเมืองลาซาของทิเบตก็รวมตัวกันประท้วงมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมายาวนานถึง 3 เดือนใกล้กับพระราชวังโปตาลา สถานที่ประทับขององค์ทะไลลามะ โดยคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ออกมาจะเห็นประชาชนหลายร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้อพยพเชื้อสายฮั่น ที่ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐอนุญาตให้พวกเขาได้กลับบ้านเสียที
-เหตุประท้วงที่สะพานซี่ตง ปักกิ่ง
ในเดือนเดียวกัน ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพียงไม่กี่วัน มีผู้ประท้วงรายหนึ่งท้าทายรัฐบาลด้วยการนำป้ายผ้าที่เขียนด้วยลายมือ ที่มีข้อความวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาติดไว้บนสะพาน โดยหนึ่งในป้ายผ้าระบุข้อความว่า “ไม่ต้องการตรวจโควิดแล้ว ฉันอยากทำมาหากิน ไม่เอาการปฏิวัติวัฒนธรรม ฉันอยากให้มีการปฏิรูป ไม่เอาล็อกดาวน์ ฉันต้องการอิสระ ไม่เอาผู้นำ ฉันต้องการโหวต ไม่เอาคำโกหก ฉันต้องการศักดิ์ศรี ฉันไม่ต้องการเป็นทาส ฉันจะเป็นพลเมือง” ส่วนอีกป้ายหนึ่งเขียนเรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงและโค่นล้มนายสี จิ้นผิง
-เหตุปะทะที่กวางโจว
ในเดือนพฤศจิกายน เกิดเหตุปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงในเมืองกวางโจว กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากมีการประกาศขยายล็อกดาวน์ เนื่องจากพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
โดยคลิปวิดีโอที่มีการแชร์ต่อกันในโลกออนไลน์ จะเห็นภาพของผู้ประท้วงหลายร้อยคนเดินประท้วงบนถนน มีการพังแนวกั้นที่ทางการใช้ปิดช่องทาง เพื่อไม่ให้ประชาชนออกมาจากที่พักอาศัยของพวกเขาได้ พร้อมกับตะโกนซ้ำๆ ว่า ไม่ต้องการตรวจโควิดแล้ว พร้อมขว้างปาข้าวของใส่ตำรวจด้วย
-เหตุประท้วงโรงงานฟ็อกซ์คอนน์
เกิดเหตุประท้วงรุนแรงภายในโรงงานงานฟ็อกซ์คอนน์ โรงงานผลิตไอโฟนที่ใหญ่ที่สุดของโลกในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน โดยคนงานในโรงงานหลายร้อยคนต่างออกมาเดินขบวนประท้วง เนื่องจากไม่พอใจเรื่องค่าแรง และสภาพการทำงาน และการที่ต้องถูกล็อกดาวน์อยู่แต่ในโรงงานมานานนับตั้งแต่เดือนตุลาคม หลังพบผู้ติดเชื้อโควิดภายในโรงงานจนเกิดการปะทะกับตำรวจปราบจลาจล
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุทางฟ็อกซ์คอนน์พยายามที่จะเสนอโบนัสพิเศษเกือบ 50,000 บาท ให้แก่พนักงานที่เต็มใจจะกลับมาทำงานต่อ เพื่อให้เหตุการณ์สงบลง
-การประท้วงในอุรุมชี
คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ในโลกโซเชียลช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นประชาชนจำนวนมากที่ออกมาประท้วงมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ตามท้องถนนในเมืองอุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ โดยผู้ประท้วงต่างเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหนักในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
สำหรับชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการประท้วงในเมืองนี้ เกิดขึ้นหลังจากเหตุไฟไหม้อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง จนมีผู้เสียชีวิต 10 ศพ สาเหตุเกิดจากการที่พวกเขาถูกล็อกดาวน์ จนไม่สามารถหนีออกมาได้ทันเวลา และเจ้าหน้าที่ยังล่าช้าในการเข้าช่วยเหลือด้วย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งเป็นเชื้อไฟ ทำให้กระแสความไม่พอใจในมาตรการล็อกดาวน์ขยายวงกว้างและแสดงออกมาชัดเจนมากขึ้น
เหตุการณ์ที่กล่าวมายังไม่รวมถึงเหตุโศกนาฏกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ จนจุดกระแสความโกรธแค้นของประชาชนต่อภาครัฐ อย่างการเสียชีวิตของทารกในเมืองเจิ้งโจว การเสียชีวิตของเด็กหญิงวัย 14 ปีที่มณฑลเหอหนาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นเพราะมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดจนเกินไป ทำให้ผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
หลังจากนี้จึงต้องจับตาดูว่า นายสี จิ้นผิง ผู้นำของจีนจะมีท่าทีอย่างไร นอกเหนือจากการส่งกำลังตำรวจเข้ามาควบคุมสถานการณ์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระแสความไม่พอใจที่ปะทุขึ้นนี้จะเสียงดังมากพอที่รัฐบาลจีนจะหันมารับฟังและเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้หรือไม่ เพราะยิ่งปล่อยไว้นาน การประท้วงที่เคยมุ่งโจมตีนโยบาย อาจจะเบนเข็มกลายไปเป็นการโค่นอำนาจของนายสี จิ้นผิง แทน ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานะทางการเมืองของเขายิ่งตึงเครียดไปมากกว่านี้.
📌 สื่อของรัฐบาลจีนไม่พูดถึงการประท้วง
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน นายจ้าว ลี่เจี้ยน กล่าวโทษ “บุคคลที่ไม่ประสงค์ดี” ที่เชื่อมโยงเหตุเพลิงไหม้ในภูมิภาคซินเจียง กับมาตรการโควิด
ด้านสื่อของรัฐบาลจีน ทั้งสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่เป็นภาษาจีน แทบไม่รายงานถึงการประท้วงต่อต้านมาตรการโควิดที่เกิดขึ้นในช่วง 2 วันที่ผ่านมาเลย ส่วนหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษของรัฐบาลจีน คือ โกลบอลไทมส์ เผยแพร่บทความวิจารณ์สื่อชาติตะวันตกที่ปลุกเร้ากระแสความไม่พอใจต่อมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีน
“อุดมคติที่ต่างกัน ทำให้ชาติตะวันตกและสื่อตะวันตกวิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จนเกือบจะเป็นสัญญาตญาณ ด้วยจุดมุ่งหมายล้มล้างระบอบการปกครองด้วยการปฏิรูป” โกลบอลไทมส์ รายงานโดยอ้างอิงคำกล่าวของนักวิชาการคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยฟูตัน
ด้านสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการโควิดที่เข้มงวด
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนออกมาตอบโต้ คำกล่าวอ้างของรัฐบาลจีนว่า มี “ขุมพลังต่างชาติ” ปลุกปั่นให้เกิดความไม่พอใจในตัวรัฐบาล คล้ายกับเหตุการณ์ในอดีต ทั้งการประท้วงในฮ่องกง ซินเจียง ทิเบต และภูมิภาคอื่น ๆ
โพสต์หนึ่งในเว่ยป๋อ ซึ่งเป็นสังคมออนไลน์คล้ายทวิตเตอร์ในจีน ระบุว่า “มีขุมพลังต่างชาติจริงหรือ อาจจะ แต่คิดหรือว่า อำนาจต่างชาติจะจัดการประท้วงทั่วประเทศขนาดใหญ่ได้แบบข้ามคืนเช่นนี้ พวกเขาจ่ายเงินให้ประชาชนถือกระดาษขาวหรือ ถ้าคิดเช่นนั้นก็ถือว่าดูถูกเครือข่ายสังเกตการณ์ของพวกเราไปหน่อย” โพสต์นี้มีคนกดไลค์ถึง 28,000 ครั้ง
📌 ตำรวจไล่สอบโทรศัพท์
ตำรวจในประเทศจีนได้วางกำลังตรวจสอบสมาร์ทโฟนของผู้ที่สัญจรไปมา ไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่เคยเป็นจุดประท้วงต่อต้านนโยบายโควิด-19 ของรัฐบาลจีน รวมไปถึงพื้นที่ทางเข้าศูนย์การค้า ในหลายพื้นที่ของกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และหางโจว เป็นต้น โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อค้นหาว่ามีการใช้งานแอปพลิเคชันต้องห้ามหรือไม่
ในเวลานี้ประชาชนจำนวนมากในประเทศจีนกำลังเข้าถึงแอปพลิเคชันที่ถูกแบนโดยรัฐบาลจีน โดยแอปพลิเคชันที่ถูกแบนนี้ประกอบไปด้วย ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม และเทเลแกรม ซึ่งแม้ว่าแอปเหล่านี้จะถูกแบนจากรัฐบาลจีนก็จริง แต่ชาวจีนสามารถเข้าถึงการใช้งานแอปพลิเคชันที่ถูกแบนเหล่านี้ภายใต้การใช้งานเครือข่ายเสมือน หรือ VPN (Virtual Private Networks)
และได้มีการใช้แอปพลิเคชันอย่างเทเลแกรม, ทวิตเตอร์ ไปจนถึงอินสตาแกรม เพื่อสื่อสาร พูดคุย และวางแผนประท้วง รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการประท้วงออกสู่โลกภายนอก
📌 ความท้าทายต่อสี จิ้นผิง
ศาสตราจารย์ โฮ-ฟุง โห สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกินส์ในสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจีนช่วงไม่กี่วันมานี้ ถือเป็น “สถานการณ์ที่ท้าทาย” สำหรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
และแม้การประท้วงเป็นวงกว้างจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกมากนักในจีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น “ถือเป็นบททดสอบสำคัญแรกต่อการปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” เพราะผู้ประท้วงหลายคนออกมาประกาศชัด เรียกร้องให้นายสี ลงจากอำนาจ
“ประธานาธิบดีสี ต้อนตัวเองจนมุม” ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ด้วยการเดินหน้าใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่ไม่มีกำหนดสิ้นสุดที่ชัดเจน จนทำให้คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง รวมถึงชนชั้นสูงบางคน เริ่มหมดความอดทน
ด้าน สตีเฟน แมคโดเนลล์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศจีน ระบุว่า การแสดงท่าทีต่อต้านไม่ใช่เรื่องผิดปกติในจีน เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวจีนออกมาประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจในเรื่องต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ ตั้งแต่ปัญหามลพิษไปจนถึงการยึดที่ดินอย่างผิดกฎหมาย หรือการที่ตำรวจปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม
📌 ทำไมจีนยังพยายามให้ยอดโควิดเป็นศูนย์อยู่
จีนบอกว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์ช่วยชีวิตคนได้ เพราะการแพร่ระบาดอย่างไม่สามารถควบคุมได้จะทำให้กลุ่มคนเปราะบาง อาทิ คนสูงอายุ ตกอยู่ในอันตราย
การล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตในจีนยังน้อยมาก โดยตัวเลขทางการอยู่แค่ 5,200 ราย
ตัวเลขรายงานนี้เท่ากับว่าใน 1 ล้านคน จีนมีผู้เสียชีวิตจากโควิดแค่ 3 รายเท่านั้น เทียบกับ 3,000 รายต่อหนึ่ง 1 ล้านคนสำหรับสหรัฐฯ และ 2,400 รายต่อ 1 ล้านคนสำหรับสหราชอาณาจักร
📌 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการล็อกดาวน์ในหลายเมืองของจีนพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเซินเจิ้น เมืองที่มีประชากร 17.5 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางของภาคเทคโนโลยี หรือนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประชากร 26 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางการเงิน การค้า และอุตสาหกรรมการผลิต ของประเทศ
การล็อกดาวน์ทำให้โรงงานและท่าเรือต้องปิดตัวลงเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อหลายบริษัทรวมถึงของชาวต่างชาติด้วย เศรษฐกิจจีนเติบโตแค่ 3.9% ในปีที่แล้ว เทียบกับเป้าที่วางไว้ 5.5% สำหรับปี 2022 นอกจากนี้ บริษัทและผู้บริโภคที่อื่นในโลกที่ต้องพึ่งสินค้าจากจีนก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
📌 ทำไมองค์การอนามัยโลกบอกว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิด
แม้ว่าจีนรับมือกับโควิดได้ค่อนข้างประสบความสำเร็จในช่วงต้น องค์การอนามัยโลกบอกว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอนระบาดไปทั่วจีนเพราะมันแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ
องค์การอนามัยโลกบอกว่าโควิดมีวิวัฒนาการและเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเปลี่ยนมาตรการรับมือไปด้วย
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนบอกว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์ทั้งมีประสิทธิภาพและอิงหลักวิทยาศาสตร์ รัฐบาลจีนบอกว่าการเปลี่ยนนโยบายจะทำให้คนสูงอายุจำนวนมากเสียชีวิต
ที่มา :
bbc : https://www.bbc.com/thai/international-63790641
https://www.bbc.com/thai/articles/c80gvgx9y95o
thairath : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2565366
https://www.thairath.co.th/news/tech/2565368
dailynews : https://www.dailynews.co.th/news/1735175/