White Channel

มลพิษทางอากาศอินโดฯ ทำปธน.ไอเรื้อรังนานนับเดือน

เกิดอะไรในโลก : มลพิษทางอากาศอินโดฯ วิกฤติต่อเนื่อง ปธน.ไอเรื้อรังนานนับเดือน

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายซานดิอากา อูโน รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอินโดนีเซีย เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด กำลังป่วยจากอาการไอเรื้อรังที่เขาเป็นมานานกว่า 4 สัปดาห์แล้ว โดยแพทย์วินิจฉัยว่าอาการไอของเขา อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ลงอย่างมาก ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทาง IQAir บริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศชั้นนำของสวิสเปิด เผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าจาการ์ตามีมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดในโลก

ก่อนหน้านี้ มีการเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาที่พบว่า กรุงจาการ์ตาเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการรวมตัวกันของปัจจัยต่างๆ ซึ่งรวมถึงการปล่อยไอเสียรถยนต์ โครงการก่อสร้างบ้านจัดสรรและอาคารสูง การเผาไหม้ของชีวมวลและเชื้อเพลิงอื่นๆ รวมถึงถ่านหิน และการปล่อยฝุ่นละอองควันพิษในอากาศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโรงงานและอุตสาหกรรมในพื้นที่โดยรอบซึ่งปล่อยหมอกควันหนาทึบไปทั่วเมืองหลวง

บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซียระบุว่า หากการไอของประธานาธิบดีโจโควี มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศจริงๆ มันก็เป็นผลมาจากความล่าช้าในการแก้ปัญหาของเขาเองในขณะที่ประชาชนจำนวนมากในกรุงจาการ์ตา ต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจากมลพิษทางอากาศเช่นกัน

📌 รัฐบาลโจโควีแพ้คดีมลพิษทางอากาศ

ในคดีฟ้องร้องเมื่อปี 2021ประธานาธิบดีโจโควี และเจ้าหน้าที่รัฐอีก 6 คน ได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ รัฐมนตรีมหาดไทยและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ผู้ว่าราชการจังหวัดชวาตะวันตก และผู้ว่าราชการจังหวัดบันเติน ที่เป็นจำเลย ได้แพ้คดีที่พวกเขาเป็นจำเลย โดยศาลตัดสินว่าจำเลยทั้ง 7 คนล้มเหลวในการทำหน้าที่ในการควบคุมมลพิษในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกรุงจาการ์ตาและพื้นที่โดยรอบ ทำให้พวกเขาต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเร่งด่วน

ศาลระบุว่าจำเลยได้กระทำการที่ผิดกฎหมาย ละเลยที่จะใช้มาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศในกรุงจาการ์ตา โดยสั่งให้ประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นจำเลย ต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมืองหลวงและแก้ไขกฎระเบียบของรัฐบาลเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ

นายอะนีส บาสเวดาน ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาในขณะนั้น กล่าวว่า เขาจะไม่อุทธรณ์คำตัดสินและฝ่ายบริหารของเขาพร้อมที่จะดำเนินการตามคำตัดสินของศาลเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศในกรุงจาการ์ตา อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีโจโควี และรัฐมนตรีของเขาได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน แต่พ่ายแพ้อีกครั้งในปี 2022 ก่อนจะยื่นอุทธรณ์อีกครั้งในปี 2023 ขณะที่คำตัดสินขั้นสุดท้ายยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

เอลิซา สุทนัดชา หนึ่งในโจทก์ผู้ยื่นฟ้องคดีนี้กล่าวว่า รัฐบาลปฏิเสธมาตลอด 2 ปี และยังคงยื่นอุทธรณ์ต่อทุกครั้งที่แพ้ในศาล ขณะที่เป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่เธอเห็นว่ารัฐบาลอาจจะต้องเริ่มทำอะไรบางอย่าง หลังจากที่ประธานาธิบดีไอเรื้อรังมาเป็นเดือนแล้ว 

📌 วิกฤติมลพิษทางอากาศจาการ์ตา

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจาการ์ตาเป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษมากเป็นอันดับ 10 ของโลก ตามรายงานคุณภาพอากาศโลกของ IQAir เมื่อปี 2020

มลพิษทางอากาศวัดจากระดับความเข้มข้นของ PM 2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดจิ๋วที่ประกอบด้วยสารก่อมลพิษ เช่น ซัลเฟต ไนเตรต และคาร์บอนดำ ซึ่งเป็นฝุ่นละอองมีขนาดเล็กจิ๋วพอที่จะเจาะลึกเข้าไปในปอดและอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ เช่น มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) กำหนดมาตรฐานสำหรับ PM 2.5 ในคุณภาพอากาศแวดล้อมที่ปลอดภัยที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในอินโดนีเซีย มาตรฐานความปลอดภัยแห่งชาติที่กำหนดโดยรัฐบาลคือ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

แต่ในกรุงจาการ์ตา ค่าที่อ่านได้สูงกว่าทั้งสองระดับอย่างสม่ำเสมอ โดยมีความเข้มข้นของ PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีที่ 39.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามรายงานของ IQAir

การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วและความแออัดของการจราจรในระดับสูงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพอากาศย่ำแย่ของจาการ์ตา จากการศึกษาของ Center for Research on Energy and Clean Air พบว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตชานเมืองก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศเช่นกัน 

บอนดาน แอนดริยานู นักรณรงค์ด้านสภาพอากาศและพลังงานของกรีนพีซอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย รับทราบว่ามีชาวจาการ์ตา 600,000 คนติดเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนต้น เริ่มตั้งแต่ช่องจมูกจนถึงเหนือกล่องเสียง (Upper respiratory infection) นับจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ ทำให้กรณีนี้เป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน

สื่อท้องถิ่นของอินโดนีเซียรายงานว่า ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโควี สั่งให้มีการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองให้มากขึ้น และสนับสนุนให้สำนักงานต่างๆ หันมาใช้สภาพการทำงานแบบผสมผสาน ระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศและที่บ้าน ซึ่งบรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมมองว่า เป็นเพียงมาตรการที่มองข้ามโรงงานอุตสาหกรรมแล้วมาผลักภาระให้กับประชาชนในขณะที่รัฐแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เช่นเดียวกับเวลาที่รัฐบอกว่าสนับสนุนให้ประชาชนช่วยลดมลพิษด้วยการหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัว ในขณะที่ระบบขนส่งมวลชนของอินโดนีเซียยังคงย่ำแย่และไม่มีใครอยากใช้บริการ 

ในขณะที่นักวิจารณ์กล่าวว่ารัฐบาลล้มเหลวในการดำเนินการแก้ปัญหามลพิษในทางปฏิบัติในกรุงจาการ์ตา แต่ขณะนี้มีแผนขนาดมหึมาที่จะย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียไปยังสถานที่ใหม่ที่ปราศจากหมอกควัน ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1,200 กิโลเมตรในจังหวัดกะลิมันตันตะวันออก บนเกาะบอร์เนียว

แผนการย้ายเมืองหลวงมูลค่ามากกว่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้รับการเปิดเผยครั้งแรกระหว่างการปราศรัยของประธานาธิบดีโจโควี ในช่วง 1 วันก่อนวันประกาศอิสรภาพของอินโดนีเซียครั้งที่ 74 ในปี 2019 โดยระบุว่าเป็นการแก้ปัญหามากมายของกรุงจาการ์ตา ตั้งแต่มลพิษทางอากาศ ไปจนถึงการจราจรติดขัด ความแออัดยัดเยียด การสูบน้ำบาดาลที่ไร้การควบคุมซึ่งทำให้เมืองหลวงทรุดทำให้เกิดน้ำท่วม.

ที่มา :

https://www.thairath.co.th/news/foreign/2718608

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ