เกิดอะไรในโลก : มาเลเซียเลือกกษัตริย์องค์ใหม่ : ที่มาและการเลือกตั้ง
ในวันนี้ที่ประชุมประมุขแห่งรัฐของมาเลเซีย ได้ลงมติเลือก สุลต่านอิบรอฮิม สุลต่าน อิสกันดาร์ พระชนมายุ 64 พรรษา ประมุขของรัฐยะโฮร์ ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปของมาเลเซีย โดยสุลต่าน อิบรอฮิม จะทรงขึ้นสืบทอดพระราชอำนาจต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีอัล-สุลต่าน อับดุลเลาะฮ์ กษัตริย์มาเลเซียองค์ปัจจุบัน จากรัฐปาหัง ในวันที่ 31 มกราคมปี 2024 ที่จะถึง
อนึ่ง นับเป็นครั้งแรกในรอบ 39 ปี ซึ่งสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์จะทรงเป็นประมุขแห่งมาเลเซีย หรือนับตั้งแต่ปี 1984 ที่สุลต่านอิสกันดาร์ พระราชบิดาของสุลต่าน อิบรอฮิม ทรงได้รับการเลือกจากที่ประชุมสภาผู้ปกครอง ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 8
สุลต่านอิบรอฮิมแห่งยะโฮเป็นชาวมาเลย์เชื้อสายอังกฤษ มีความสนใจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เคยได้รับการฝึกทางทหารและศึกษาต่อที่ Fletcher School of Law and Diplomacy รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา ในหลักสูตรยุทธศาสตร์ศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกฎหมายทะเล
นอกจากนี้ สุลต่านอิบรอฮิมแห่งยะโฮ ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจผู้ร่ำรวยจากอสังหาริมทรัพย์และเหมืองแร่ อีกทั้งยังเป็นนักสะสมรถสปอร์ตหรูตัวยง และมีไลฟ์สไตล์ผาดโผนจากความคลั่งไคล้กีฬา
ที่มาและกระบวนการเลือกตั้งกษัตริย์
ชื่อเรียกกษัตริย์ของมาเลเซียตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญคือ ยังดี เปอร์ตวน อากง หากแปลตามความหมายก็จะหมายถึงบุคคลผู้เป็นหัวหน้าหรือผู้นำสูงสุดของผู้นำทั้งปวง หรือที่มาเลเซียเรียกว่าสุลต่านแห่งสุลต่านทั้งมวล เพราะกษัตริย์จะมาจากการเลือกและผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนระหว่างสุลต่านใน 9 รัฐ ได้แก่ ยะโฮร์, ตรังกานู, ปะหัง, สลังงอร์, เกดะห์, กลันตัน, เนเกอรีเซมบิลัน, เปรัก และปะลิส จึงทำให้ตำแหน่งยังดี เปอร์ตวน อากง ไม่ได้มาจากการสืบทอดราชบัลลังก์ และกษัตริย์ก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งตลอดพระชนมชีพ
ตำแหน่งกษัตริย์เพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อประเทศได้รับเอกราชในปี 1957 อีกทั้ง การที่มาเลเซียมาจากการรวมเอารัฐต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน กษัตริย์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งวัตถุประสงค์นี้ก็เกี่ยวข้องกับที่มาของกษัตริย์ และระยะเวลาการครองราชย์ที่ถูกกำหนดไว้ตายตัวคือ 5 ปี
ด้านกระบวนการเลือกตั้งกษัตริย์นั้น ผู้มีสิทธิลงคะแนนจะมีเพียงเจ้าผู้ปกครองรัฐ (หรือที่มักเรียกกันว่าสุลต่าน) จากรัฐมลายู 9 พระองค์ที่เป็นสมาชิกสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐเท่านั้นที่ได้เข้าร่วม โดยไม่นับรวมถึงยังดี เปอร์ตวน เนเกอรี (หรือที่เรียกว่าผู้ว่าการรัฐ) ในปีนัง, มะละกา, ซาบาห์ และซาราวัก
หากในวันเลือกตั้ง เจ้าผู้ปกครองรัฐไม่อาจเข้าร่วมในการลงคะแนนได้ สามารถมอบอำนาจให้เจ้าผู้ปกครองรัฐคนอื่นลงคะแนนแทนได้ ในช่วงก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง ผู้รักษาพระราชลัญจกร* จะต้องสอบถามไปยังเจ้าผู้ปกครองรัฐแต่ละคนว่ายินยอมให้เสนอชื่อเป็นผู้มีสิทธิรับคัดเลือกเป็นกษัตริย์หรือไม่
เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้เวลาในการเลือกตั้งประมาณ 1 ชั่วโมง และเป็นการลงคะแนนที่ไม่ซับซ้อน ทั้งนี้ สุลต่านทั้ง 9 พระองค์จะได้รับบัตรออกเสียงลงคะแนนคนละ 1 ใบ ในบัตรเลือกตั้งจะมีชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกษัตริย์ ซึ่งเจ้าผู้ปกครองรัฐจะต้องระบุว่าผู้สมัครนั้นเหมาะสมกับตำแหน่งกษัตริย์หรือไม่ บัตรที่ใช้ลงคะแนนจะไม่ระบุหมายเลขและจะใช้ปากกาและหมึกเดียวกันทั้งหมด เมื่อลงคะแนนแล้วบัตรเลือกตั้งจะถูกหย่อนลงในหีบ
สำหรับการนับคะแนน สุลต่านหรือเจ้าผู้ปกครองรัฐที่มีระยะเวลาในการขึ้นเป็นเจ้าผู้ปกครองรัฐน้อยที่สุด และไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกษัตริย์หรือรองพระราชาธิบดี จะเป็นผู้นับคะแนนร่วมกับผู้รักษาพระราชลัญจกร ผู้ที่จะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์จะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากคือ 5 คะแนนขึ้นไป หากผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกษัตริย์ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง หรือได้คะแนนน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด กระบวนการเลือกตั้งจะต้องเริ่มต้นใหม่ โดยเสนอชื่อเจ้าผู้ปกครองรัฐที่อยู่ในลำดับที่ 2 ของบัญชีรายชื่อขึ้นมาเป็นผู้มีสิทธิได้รับคัดเลือก
ทั้งนี้ กระบวนการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นต่อเมื่อผู้ที่ได้รับเลือกตั้งยอมรับที่จะดำรงตำแหน่งกษัตริย์ หลังจากนั้นสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐจะประกาศชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประมุขแห่งสหพันธรัฐ และผลการเลือกตั้งจะถูกนำส่งต่อให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อประกาศให้ประชาชนทราบ ก่อนที่กลุ่มเจ้าผู้ปกครองรัฐจะแยกย้ายกัน กระดาษที่ใช้ลงคะแนนเลือกตั้งจะถูกเผาทำลายต่อหน้าเจ้าผู้ปกครองรัฐที่เข้าร่วมกระบวนการเลือกตั้ง
รู้จักกษัตริย์มาเลเซียองค์ปัจจุบัน
กษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลเลาะห์ รีอายาตุดดิน อัล-มุซตาฟา บิลละฮ์ ซะฮ์ อิบนี อัล-มาร์ฮุม สุลต่าน ฮาจี อะฮ์มัด ซะฮ์ อัล-มุซตาอิน บิลละฮ์ แห่งรัฐปะหังทางตะวันออกของมาเลเซีย ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2019 ขณะมีพระชนมายุ 59 พรรษา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 16 ของมาเลเซีย นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1957
สมเด็จพระราชาธิบดีที่ 16 ของมาเลเซีย มีคะแนนนิยมจากภาพลักษณ์ติดดินมาตั้งแต่เริ่มรัชกาล จากภาพที่พระองค์ทรงต่อแถวซื้อไก่ทอด และทรงให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนทางหลวง นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นนักกีฬามากความสามารถ เคยเป็นนักกีฬาตัวแทนของรัฐในการแข่งขันฟุตบอลเมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเป็นสมาชิกกรรมการบริหารฟีฟ่าและประธานสหพันธ์ฮ็อกกีแห่งเอเชียด้วย
บทบาททางการเมือง
แม้ตามรัฐธรรมนูญมาเลเซียจะให้อำนาจกษัตริย์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ในอดีตที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้มีกษัตริย์พระองค์ใดใช้อำนาจดังกล่าว เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ขึ้นเป็นนายกฯ ก็จะมาจากผลการเลือกตั้ง จนกระทั่งเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นในปี 2020 หลังจากที่พรรคอัมโนซึ่งครองอิทธิพลทางการเมืองในมาเลเซียมาตลอด ได้เสื่อมอำนาจลง จากคดีฉาวทุจริตกองทุน 1MDB ของอดีตนายกรัฐมนตรีนาญิ๊บ รอซัค ผู้นำพรรค
รวมถึงการเสื่อมถอยของกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ หรือ บาริซาน เนชันแนล (Barisan Nasional – BN) ซึ่งเคยเรืองอำนาจในอดีต ทำให้ทิศทางการเมืองของมาเลเซียต้องตกอยู่ในสถานการณ์ไร้เสถียรภาพ จนนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ขอลาออกถึง 2 คน ส่งผลให้กษัตริย์ต้องทรงใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
โดยครั้งแรก พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2020 หลังจากที่นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลผสม ซึ่งการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น พระองค์ได้ร่วมประชุมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติ 222 คน เพื่อเลือกว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลผสม
ต่อมา นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากขาดเสียงสนับสนุนในสภา ท่ามกลางข้อครหาเรื่องการจัดการกับโควิด-19 สมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ ได้ใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้ง นายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เขาได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 114 คน จากทั้งหมด 222 คนในสภา
อย่างไรก็ตาม การใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับสองครั้งก่อนหน้า เนื่องจากเกิดขึ้นหลังจากที่มาเลเซียจัดการเลือกตั้งทั่วไป แต่ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากในสภา ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จนมาเลเซียเข้าสู่ภาวะสภาแขวนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ทิศทางการเมืองมาเลเซียต่อจากนี้
ทั้งหมดนี้เป็นการหักล้างธรรมเนียมดั้งเดิมในอดีต เมื่อประมุขแห่งรัฐจะไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ แม้สมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมมัดที่ 5 แห่งกลันตัน (Sultan Muhammad V) เคยพระราชทานอภัยโทษในปี 2018 ให้กับ อันวาร์ อิบรอฮิม (Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน หลังถูกจำคุกในข้อกล่าวหามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักและคอร์รัปชัน
จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้สื่อต่างชาติและสาธารณชน สนใจบทบาทของสุลต่านอิบรอฮิมแห่งยะโฮ เพราะในอดีตที่ผ่านมา เขาเป็นผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังกล่าวว่า ตนมีความสัมพันธ์อันดีกับอันวาร์
ที่มา :
https://www.matichon.co.th/foreign/news_4254130
https://www.dailynews.co.th/news/2845273/
https://thestandard.co/malaysia-changing-the-new-king/
https://themomentum.co/report-malaysia-new-king-sultan-ibrahim/
https://workpointtoday.com/political-role-of-malaysias-king-choosing-next-pm/