SOCIAL : อัยย์ เพชรทอง อดีตศิษย์วัดพระธรรมกาย เลขาธิการ อปพส. ที่รับบทเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันต่อต้านศาสนาอิสลาม พาดพิงนายวันมูหะมัดนอร์มะทา และพรรคประชาชาติจนถูกฟ้องหมิ่นประมาทหลายคดี ศาลพิพากษาจำคุก ไร้เงินประกันตัว ใช้ชีวิตในเรือนจำลำบาก นักโทษส่วนใหญ่นับถืออิสลามสุดท้ายต้องให้ลูกเมียเดินเรื่องขอขมาเพื่อให้โจทก์ถอนฟ้อง งานนี้ไร้เงาทีมอปพส.
.
หายหน้าหายตาไปนานสำหรับนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ (อปพส.) ที่รับบทเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันปกป้องพระพุทธศาสนา ท้าชนกับศาสนาอิสลามในทุกมิติ รวมถึงเดินสายไปทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มีการ Live ปราศรัยจนกลายเป็นคดีความที่มีการฟ้องร้อง และหนึ่งในนั้นคือการกล่าวหานายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และอีกหลายบุคคลในพรรคประชาชาติ ว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย
.
คดีนี้มีการฟ้องร้องกันจนศาลมีคำพิพากษาจำคุกนายอัยย์ เพชรทอง หลายคดี จนนายอัยย์ได้ทำหนังสือขอขมาต่อพรรคประชาชาติและทีมงานทุกท่านศาลจังหวัดยะลา บัลลังก์ 2 วันที่ 30 มิถุนายน 2566
.
อัยย์-ขอขมา
.
กระผมนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการ อปพส. ซึ่งขณะนี้ได้อยู่ในเรือนจำกลางสงขลาเป็นเวลาเกือบ 5 เดือน จากคดีหมิ่นประมาทนายวันมูหะมัดนอร์ มะทาโดยการตั้งคำถามว่าเกี่ยวข้องกับโจรใต้แบ่งแยกดินแดนไหม จนเป็นเหตุให้ถูกฟ้องข้อหาต่างๆ เป็นจำนวน 8 คดี
.
บัดนี้กระผมได้ทราบข้อมูลที่เป็นจริงแล้ว่าท่านวันนอร์ พรรคประชาชาติและทีมงานทั้งหมด ทั้งท่านทวี สอด่อง ท่านอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ท่านกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับการสนับสนุนโจรใต้แบ่งแยกดินแดนเป็นการเข้าใจผิดของกระผมและเครือข่าย
.
ดังนั้น กระผมนายอัยย์ เพชรทอง และครอบครัวจึงได้ขอขมาลาโทษและขออโหสิกรรมต่อท่านวันนอร์ ท่านทวี สอดส่อง ท่านอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ท่านกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ มา ณ ที่นี้ด้วยความจริงใจและเต็มใจและรู้สึกสำนึกผิดที่ทำให้ทุกๆ ท่านเสียหาย เสียชื่อเสียง และขออโหสิมายังพรรคประชาชาติด้วยครับ
.
ขอแสดงความนับถือ นายอัยย์ เพชรทอง 30 มิถุนายน 2566 เวลา 16.30 น.
.
พรรคประชาชาติถอนฟ้อง
.
ในวันดังกล่าว (30 มิ.ย.2566) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะพยานโจทก์ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดยะลา ในคดีหมายเลขดำที่ อ371/2565 ที่นายวันมูหะมัดนอร์มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะโจทก์ ได้ยื่นฟ้อง นายอัยย์ เพชรทองเป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาท เพื่อถอนฟ้องนายอัยย์ หลังเจ้าตัวสำนึกผิด
.
“วันนี้คุณอัยย์ เพชรทอง ได้รับสารภาพ ยอมรับว่าสิ่งที่พูดไปไม่เป็นความจริงและขอโทษ ตอนนี้ติดมา 5 เดือน สุขภาพครอบครัวเราเห็น เมื่อเขาขอโทษอยากกลับไปทำในฐานะพลเมืองดี เพื่อจะไปสร้างความเข้าใจ จึงได้ถอนฟ้องซึ่งศาลได้ทำบันทึกกระบวนการพิจารณาถอนฟ้องเป็นที่เรียบร้อย ในส่วนคดีที่ฟ้องไว้ คุณอัยย์ได้เขียนสารภาพขึ้นมาเอง ได้เขียนจดหมายอธิบายเหตุผลว่าการที่ออกมาได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก หรือสื่อต่างๆ ไม่เป็นความจริง โดยจดหมายนี้ได้มอบสำเนาให้ จะให้ภรรยาที่รู้รหัสไปโพสต์ในเฟซบุ๊กของคุณอัยย์ต่อไป”
.
ลูกเมียเข้าขอขมา
จากนั้น 11 กรกฎาคม 2566 นางจันทร์เต็มดวง พาเจริญ ภรรยาของ อัยย์เพชรทอง เดินทางมาที่พรรคประชาชาติ พร้อมบุตรชาย 2 คน และอาจารย์จาตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา เข้าพบนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อขอกราบขอขมาลาโทษกรณีที่นายอัยย์เพชรทอง สามีของตนโพสต์หมิ่นประมาทว่านายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าโจรกบฏแบ่งแยกดินแดน ซึ่งศาลยะลาได้ตัดสินจำคุกรวม 8 ปี …. ปัจจุบันถูกขังอยู่ที่เรือนจำสงขลา
นอกจากคำกล่าวขอโทษและขอขมาต่อบุคคลต่างๆ ของพรรคประชาชาติแล้ว นายอัยย์ยังให้สัญญาว่า กระผมขอให้คำมั่นสัญญาว่า ต่อแต่นี้ไปตลอดจนในอนาคต กระผมจะไม่ทำความเสียหายใดๆ ในทุกๆ ด้านต่อท่าน อ.วันนอร์ ท่านทวี ท่านอารีเพ็ญ ท่านกมลศักดิ์ และพรรคประชาชาติ อีกต่อไปกระผมและครอบครัวหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะให้อภัย ให้อโหสิกรรมต่อกระผม ซึ่งได้สำนึกผิดอย่างจริงใจ และด้วยเมตตาธรรมของท่าน ช่วยถอนฟ้องกระผมทุกคดี ทั้งคดีเก่า คดีใหม่ ทั้งที่ศาล จ.ยะลา ศาล จ.นราธิวาส ในเร็ววันนี้ด้วยเถิด กระผมและครอบครัว และสมาชิก อปพส.ทั่วประเทศ รวมทั้งองค์กรพุทธต่างๆ ขอกราบขอบพระคุณ ท่าน อ.วันนอร์ และคณะรวมทั้งพรรคประชาชาติมา ณ โอกาสนี้
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส ตัวแทนรับจดหมาย กล่าวว่า ความจริงนโยบายของพรรคประชาชาติเราส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม ที่จริงแล้วเรามีความเห็นใจ คดีนี้เป็นคดีที่ยอมความได้ จะรับคำขอขมานี้ไว้พิจารณา โดยทั้งหมดมี 6 คดี และได้ถอนฟ้องไปแล้ว 3 คดี ซึ่ง 3 คดีที่ศาลตัดสินจำคุกตอนนั้นนายอัยย์ ยังไม่ได้รับสารภาพ ยังต่อสู้คดีอยู่
ใน 3 คดีศาลตัดสินลงโทษทั้งหมด ส่วน 3 คดีหลังนั้นได้มีการถอนฟ้องไปแล้ว หลังจากรับหนังสือในวันนี้จะรับไว้พิจารณา เพราะคดีนี้เป็นคดียอมความได้ ถอนฟ้องได้ ก่อนคดีจะถึงที่สุด 2 คดีแรกอยู่ในระหว่างฎีกา ส่วนอีก1 คดี ที่ตนฟ้องอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งจะรับไว้พิจารณา เชื่อว่าจะมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น
ลำบากต้องย้ายมาสงขลา
แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กล่าวว่า ช่วงที่นายอัยย์ ถูกจำคุกนั้นเป็นพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเรือนจำเล็กๆ จึงต้องขังรวมกับผู้ถูกคุมขังรายอื่น ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม คดีของนายอัยย์ เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา ทำให้ใช้ชีวิตในเรือนจำนั้นลำบาก จึงได้มีการขอย้ายมาที่เรือนจำกลางสงขลา
การที่เขาต้องเขียนหนังสือขอขมาต่ออาจารย์วันนอร์ และพรรคประชาชาตินั้นเพื่อหวังให้เกิดการถอนฟ้อง เพราะทุกวันนี้ลูกและภรรยาของนายอัยย์ ค่อนข้างลำบาก ลองสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเมื่อ 11 กรกฎาคมที่มีการยื่นหนังสือขอโทษพรรคประชาชาติอย่างเป็นทางการนั้น มีแค่ภรรยาและลูกของนายอัยย์ และอาจารย์จาตุรงค์ เป็นหลักเท่านั้น สายที่เคยเคลื่อนไหวกันในนามอปพส.ไม่มี
“พูดง่ายๆ พี่อัยย์ถูกทิ้ง เดิมเป็นคนขับเคลื่อนหลักใน อปพส. เดินสายทั่วประเทศ Live ผ่านโลกโซเชียล ที่จริงมีคนฟ้องแกเยอะกว่านี้ แต่มือกฎหมายอาจไม่แข็งแกร่งเหมือนกับทีมของพรรคประชาชาติ ที่จริงเรื่องนี้ควรเป็นคนในทีม อปพส.ออกมาเดินเรื่องแทน เงินประกันตัวก็ไม่มี ต้องติดคุกก่อนและเมื่อย้อนกลับไปตรวจสอบในทีม อปพส. ยังคงเดินในแนวทางเดิม”
.
ธรรมกายก็ไม่เอา
คุณอัยย์ เคยเป็นศิษย์คนสำคัญและมีบทบาทในวัดพระธรรมกาย ศรัทธาในพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมาก ออกมาปกป้องวัดและพระธัมมชโยเมื่อครั้งเกิดปัญหาเรื่องพัวพันกับคดีทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
เมื่อรัฐบาลตัดสินใจปิดล้อมวัดพระธรรมกายเพื่อนำตัวพระธัมมชโย มาดำเนินคดี สถานะของอัยย์ ในวัดพระธรรมกายลดลงเรื่อยๆ หลังจากที่แพ้ดีเบตกับอุ๋ย บุดดาเปลส ช่วง 24 กุมภาพันธ์ 2560 จากนั้นมีข่าวออกมาตลอดว่าเขาถูกตัดออกจากวัดพระธรรมกาย
จากปัญหาในวัดพระธรรมกายที่พระธัมมชโยถูกกล่าวโทษดำเนินคดีนั้น นายอัยย์เชื่อว่าภายในวัดพระธรรมกายเองมีหนอนภายในวัด มีการวางแผนทำไปเพื่อต้องการขึ้นมาเป็นใหญ่ในวัดพระธรรมกายแทนพระธัมมชโย มีการออกมาเปิดโปงและกล่าวหาพระผู้ใหญ่ของวัดพระธรรมกายบางรูป
การเคลื่อนไหวของนายอัยย์ ยังก้าวเข้าไปสู่การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับพระสงฆ์ที่อาจถูกกล่าวโทษในกรณีเงินทอนวัด ด้วยการเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งขัดกับกฎระเบียบของมหาเถรสมาคม ทำให้วัดพระธรรมกายออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับนายอัยย์ เพชรทอง จนถึงขั้นมีคำสั่งห้ามนายอัยย์เข้าวัด
ธรรมกายช่วยทุกปีวัดชายแดนใต้
คนที่ตามข่าววัดพระธรรมกายบ่อยๆ ย่อมพอจะทราบดีว่า ไม่ว่าจะเป็นพระหรือศิษย์วัดพระธรรมกายคนใดที่ทำให้วัดเสื่อมเสียชื่อเสียงแล้วทางวัดจะตัดออกทันที เพราะทางวัดให้ความสำคัญกับเรื่องภาพลักษณ์เป็นพิเศษเนื่องจากชาวพุทธบางส่วนตั้งข้อสังเกตที่แนวทางของวัดพระธรรมกายอาจขัดกับแนวทางของวัดโดยทั่วไป
ที่จริงแล้วสิ่งที่นายอัยย์ ทำอยู่เรื่องการปกป้องพระพุทธศาสนาแล้วพุ่งเป้าไปที่ศาสนาอิสลามนั้น เป็นการหยิบสถานการณ์ความรุนแรงทาง 3 จังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมาเป็นแนวทางในการต่อสู้
ซึ่งวัดพระธรรมกายได้ให้ความช่วยเหลือวัดที่อยู่ทางจังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อ 29 พฤษภาคม 2566 พระครูสมุห์สนิทวงศ์วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย แจ้งว่า วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี มูลนิธิธรรมกาย และกัลยาณมิตรทั่วทั้งโลก ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดสงขลา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจังหวัดสงขลา จัดพิธีถวายสังฆทานแก่คณะสงฆ์ 323 วัด พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์จากเหตุการณ์ความไม่สงบ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้(ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ปีที่ 19 ครั้งที่ 162 และพิธีมอบกองทุนหนุนแรงใจช่วยครูใต้ ปีที่ 16 ครั้งที่ 127 จำนวน 138 กองทุน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมภาคใต้ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา
แนวทางของ อปพส.ค่อนข้างดุเดือด จับผิดทั้งเรื่องการสร้างมิสยิด รวมไปจนถึงตราฮาลาล ยิ่งเดินเครื่องกล่าวหากันอย่างรุนแรง แบบนี้ยิ่งทำให้คนพุทธที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยิ่งลำบาก ไม่ต่างไปจากการเพิ่มความขัดแย้งให้คนในพื้นที่ แต่โชคดีที่คนพุทธและมุสลิมในจังหวัดชายแดนเข้าใจสถานการณ์ดีจึงไม่เกิดปัญหาเรื่องความแตกแยก
สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนสอนคนได้เป็นอย่างดีว่า เมื่อใดที่ท่านยังมีประโยชน์ทุกคนพร้อมจะใช้คุณ จะยกยอปอปั้นให้กลายเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าแค่ไหนก็ทำได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะหลงหรือคล้อยตามกับสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ และพิจารณาถึงสิ่งที่ทำด้วยว่า ถูกต้อง เหมาะสม หรือผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะในวันที่คุณถูกดำเนินคดี คุณถึงจะเห็นว่าใครเป็นมิตรแท้ ใครเป็นแค่คนหลอกใช้คุณ และเมื่อคุณหมดประโยชน์พวกเขาก็จะทิ้งพวกคุณไป
.
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
#ขุนคมคำ