วันมูหะมัดนอร์มะทาประธานรัฐสภาจะเดินทางประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ณสาธารณะรัฐอินโดนีเซีย 5-11 สิงหาคมนี้ – White Channel

White Channel

วันมูหะมัดนอร์มะทาประธานรัฐสภาจะเดินทางประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ณสาธารณะรัฐอินโดนีเซีย 5-11 สิงหาคมนี้

POLITICS : วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะเดินทางประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA)  สาธารณะรัฐอินโดนีเซีย 5-11 สิงหาคมนี้

        นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ที่กรุงจาการ์ตา สาธารณะรัฐอินโดนีเชีย ในระหว่างวันที่ 5-11 สิงหาคม 2566 นี้ ประธานรัฐสภาได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ที่สถานีโทรทัศน์รัฐสภา ช่อง 10 โดยเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมในครั้งนี้ว่า AIPA หรือสมัชชารัฐสภาอาเซียน เกิดขึ้นจากการรวมตัวของรัฐสภาและประชาชนในอาเซียนซึ่งหน้าที่ของ AIPA จะเน้นด้านนิติบัญญัติ มี 19 ประเทศสมาชิก ที่จะมุ่งเน้นประสานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจะประชุมหารือกันในเรื่องปัญหายาเสพติด เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม บทบาทของสตรีและเยาวชน

         นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า “ประเด็นที่น่าสนใจก็คือเรื่องยาเสพติด เพราะอาเซียนเรามีปัญหาเกี่ยวกับผู้ติดยาเสพติด มีแหล่งผลิตยาเสพติด และประเทศไทยมีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดตลอดมาต้องยอมรับว่าเราได้รับผลกระทบจากประเทศอาเซียนบางประเทศที่ผลิตยาเสพติดส่งมาประเทศไทย และประเทศไทยก็เป็นเส้นทางส่งออกไปอีกประเทศหนึ่ง ก็มีผลกระทบ เราจึงต้องสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหายาเสพติด ถ้าเราสามารถมีข้อตกลงระดับหนึ่งใน AIPA เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะต่อฝ่ายบริหารต่อไป ผมว่าความเบาบางของปัญหายาเสพติดจะลดลง”

         นอกจากเรื่องปัญหายาเสพติดแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังเตรียมหารือเรื่องเศรษฐกิจการค้าด้วย โดยกล่าวว่า “เรื่องเศรษฐกิจก็จะเน้นเหมือนฝ่ายอาเซียน ว่าเศรษฐกิจมีปัญหาอะไรบ้างที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะสร้างความร่วมมือในการพัฒนาในประเทศอาเซียน เรามีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นสมาชิกรัฐสภาเดินทางไปด้วย ทั้งฝ่ายวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทน
ราษฏร ผมจะหาโอกาสพบกับรัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซีย จะได้พูดคุยเรื่องการแก้ปัญหาราคายางพารา ในอาเซียนเราปลูกยางพารามากที่สุดในโลก ไทยปลูกมากที่สุดอันดับหนึ่ง อินโดนีเซียอันดับสองเราเคยมีราคายางพาราสูงมาก 100-150 บาทต่อกิโลกรัม แต่ตอนนี้ราคาลดลง ซึ่งยางพาราไม่ได้มีแค่ทางภาคใต้ แต่มีทางภาคอีสานภาคเหนือ และภาคตะวันออกก็มีปลูกแล้วเหมือนกัน ยางพารากลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย อินโดนีเซียก็เช่นเดียวกัน เราจะทำอย่างไรที่จะให้ยกระดับราคายางพารา เพราะไทยเราปลูกมากเป็นอันดับหนึ่ง อินโดนีเซียอันดับสอง มาเลเซียไม่มาก แต่มีประเทศที่ใช้ยางพารามากถึงร้อยกว่าประเทศ จะทำอย่างไรที่จะให้ผู้ผลิตยางพาราสองประเทศนี้ได้ร่วมมือกันยกระดับราคายางพารา ผมจะพยายามคุยกับรัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซียให้ได้”

        ปัญหาประมง เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ให้ความสนใจ “อีกกระทรวงหนึ่งที่ผมอยากพบก็คือรัฐมนตรีกระทรวงประมงของอินโดนีเซีย เพราะเรามีปัญหาด้านการประมง เราจะต้องสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการประมง ประมงไทยมีอุปกรณ์จับปลาพร้อม แต่อินโดนีเซียมีปลาเยอะ จะทำอย่างไรที่จะให้เราได้เข้าไปจับปลา จึงต้องมีความร่วมมือด้านประมง”

เรื่องเยาวชน เป็นอีกประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า “การประชุมครั้งนี้ เรื่องเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นหัวข้อหนึ่งที่ทันสมัย เรามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาจำนวนมากพอสมควร เราจะทำอย่างไรให้เยาวชนในประเทศนั้นๆให้ความสนใจด้านการเมืองและประชาธิปไตย และให้เขามีส่วนร่วมมากที่สุด และสถาบันการศึกษาต้องมีหลักสูตรด้วย ทั้งมหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยม เพราะประชาธิปไตยคือชีวิตของคน”

เรื่องสตรี เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เตรียมหารือโดยกล่าวว่า “จะทำอย่างไรให้สตรีมีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้นสภาควรจะมีสัดส่วนของสตรีมากขึ้น เช่นรัฐธรรมนูญอาจจะกำหนดว่าสส.ปาร์ตี้ลิสต์ให้คำนึงถึงสัดส่วนของสตรีด้วย ซึ่งการเลือกตั้งล่าสุดปี2566 สอดคล้องกับที่เราจะพูดว่าเรามี สส.สตรี 96 คน ถือว่าเกือบ20% แต่ในหลายประเทศก็มี 30% นี่ก็เป็นนิมิตหมายที่เห็นว่ามีการพัฒนาขึ้น คณะที่เราจะเดินทางไปก็มีสตรีเข้าร่วมด้วย และมี สว.คงจะได้พูดถึงเรื่องบทบาทของสตรีในฐานะสมาชิกรัฐสภา และน่าสนใจว่าการประชุมรัฐสภาอาเซียนคราวนี้ ประธานจัดประชุมก็เป็นผู้หญิงเป็นหลานของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน่ของอินโดนีเซียด้วย อีกทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งโลกเราเปลี่ยนแปลงไปมาก ที่ประชุมรัฐสภาอาเซียนจะมีการพูดคุยถึงความร่วมมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

          คณะผู้แทนไทยที่จะเดินทางไปร่วมประชุมมี 18 คน ประกอบด้วยสส.และ สว. มีคณะประชุมใหญ่และคณะประชุมย่อยแต่ละประเด็นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ตั้งใจจะเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีอินโดนีเซียด้วย

“ผมคิดว่าถ้ามีโอกาส ผมจะเข้าเยี่ยมประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโกวิโดโด จะแสดงความชื่นชมยินดีต่อประธานาธิบดี ตั้งแต่ท่านเป็นประธานาธิบดี ท่านเป็นผู้นำที่ส่งเสริมประชาธิปไตยมาก มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ดีขึ้นมาก เพราะท่านเคยเป็นผู้บริหารท้องถิ่นมาก่อน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกรัฐมนตรี ในสมัยท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียอย่างน่าสนใจซึ่งก่อนหน้านั้นอินโดนีเซียตามหลังอาเซียนค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันทุกประเทศก็สนใจอินโดนีเซีย จึงอยากจะไปขอคำแนะนำจากประธานาธิบดี เมื่อคราวที่แล้วผมไปร่วมประชุมรัฐสภาอาเซียน มีโอกาสได้พบกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียในขณะนั้นคือท่านซูการ์โนแต่ยังไม่ได้คุยกันถึงเรื่องประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจเพราะอินโดนีเซียค่อนข้างมีปัญหาเศรษฐกิจมาก ตอนนั้นเราคุยกันแค่เรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และเรามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตลอด เรามีความร่วมมือทางชายแดน เราจะทำอย่างไรที่จะให้รัฐสภาหรืออาเซียน มีความร่วมมือในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับอินโดนีเซีย แม้ว่าอาจจะมีปัญหาความมั่นคง แต่เราจะเรียนต่อท่านประธานาธิบดีว่าเราจะสร้างความร่วมมือกันอย่างไรดี” นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าว

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังได้เปิดเผยว่า การหารือในระดับทวิภาคีมีประเทศที่เป็นผู้สังเกตการณ์ 19 ประเทศ และมีประเทศใหม่ๆ จะเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย เช่นตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากถึงร้อยล้านคน และ 90% เป็นมุสลิม มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเช่นเดียวกับไทย ขณะนี้ทั่วโลกสนใจอาเซียนเพราะมีภาวะเศรษฐกิจที่ดีในขณะที่ยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกามีปัญหาเศรษฐกิจ

“ผมมีความตั้งใจว่า มิติของสภาควรจะเดินทางไปดูงานต่างประเทศที่รัฐสภาด้วยกัน และฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้ไปดูเกี่ยวกับประเทศไทยเพราะว่าในต่างประเทศได้หลายประเทศเขาให้ความสำคัญกับประธานรัฐสภามาก เช่นการที่เราไปในนามของรัฐสภาไทยเราจะมีโอกาสได้ร่วมมือกับเขามากขึ้น ซึ่งผมตั้งใจว่าถ้ามีโอกาส ในสมัยไปประชุมที่ประเทศจีนก็น่าสนใจ เพราะสมัยแรกที่ผมไปประธานาธิบดีจีนให้โอกาสผมได้พบและเราได้ขอความร่วมมือตอนนั้นภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจเราเสียหายมาก เราอยู่ในภาวะของต้มยำกุ้งผมมีโอกาสได้พบประธานาธิบดีจีน ก็ปรารภในเรื่องนี้ประเทศไทยกับประเทศจีนเราคือพี่น้องกัน ใครมีปัญหาบอกเลย เขาก็ส่งคนมาให้ความร่วมมือกับกระทรวงการคลังของเรา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีผมคิดว่านอกจากประเทศซาอุดิอาระเบียแล้ว ก็อาจจะมีหลายประเทศที่เชิญบางประเทศไม่เชิญ
แต่เราจะไปพบอยากไปเยือนเช่นประเทศจีน อะไรที่ประเทศชาติได้ประโยชน์รัฐสภาได้ประโยชน์ประธานสภาก็จะไป”

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวทิ้งท้ายถึงเรื่องที่ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มาเยือนรัฐสภาไทย ว่า “ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ได้เดินทางมาเยือนรัฐสภาของเรา เขามีสมาชิก 150 คน มีบทบาทและหน้าที่เหมือนกับสมาชิกวุฒิสภาของเราใน 150 คนนี้เป็นสตรี 30 คน หรือ 20% ของสมาชิก เราจะเห็นได้ว่าประเทศซาอุดิอาระเบียให้ความสำคัญกับบทบาทของสตรีมาก สภาที่ปรึกษาของเขาคือเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์โดยตรงกลั่นกรองกฎหมาย เสนอแนะข้อกฎหมาย และทำหน้าที่เหมือน สว. ประธานสภาที่ปรึกษาที่มาพบผมนั้น เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมากเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย เป็นคนที่มีความรู้มาก และเป็นลูกของมุขมนตรีสูงสุดเหมือนกับประธานศาลสูงสุดของซาอุดิอาระเบียเราคุยกันด้วยบรรยากาศที่ดีมาก เพราะคุณพ่อของท่านรู้จักกับผมมาก่อน เคยเป็นกรรมการรอบิเฎาะ สันนิบาตมุสลิมโลก ก็คุยกันน้ำตาซึมๆ มีความรู้สึกดีๆ ท่านจึงถือโอกาสนี้เชิญให้ผมไปเยือนสภาที่ปรึกษาซาอุดีอาระเบียอีกครั้งหนึ่ง เขาบอกรู้ว่าท่านเคยไปแล้ว แต่ครั้งนี้เขาจะพาผมไปพบกับมกุฎราชกุมาร เจ้าชายมูฮัมมัด บินซัลมาน เขาบอกว่าท่านต้องการจะพบใคร เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย ผมพร้อมพาท่านไปพบ และอยากให้ท่านไปเยือนเร็วๆ”

ข่าว มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ ผู้ช่วยเลขานุการ ประธานรัฐสภา

..66

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ