White Channel

#สถานการณ์น้ำ67 : ระดมแผนป้องกันน้ำท่วม “ลุ่มเจ้าพระยา” รัฐ-เอกชน มั่นใจผลกระทบไม่เท่าปี 54

คลัง” มั่นใจน้ำท่วมไม่เท่าปี 54 หารือ “แบงก์” จัดแพ็กเกจช่วยผู้ประกอบการ – ประชาชน “กรมชลฯ” ชี้เขื่อนรับน้ำได้อีก “เกษตร” ปรับแผนเก็บเกี่ยวข้าวเร็วขึ้น “กนอ.” สั่งทุกนิคมฯ ตรวจความพร้อมเขื่อนกั้นน้ำ “บ้านจัดสรร” เตรียมสภาพคล่องรับยอดขายลด “ท่องเที่ยว” จ่อเยียวยา

สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ สร้างความกังวลถึงช่วงฤดูน้ำหลากในเดือนก.ย.- ต.ค.2567 ที่อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินการบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนสำคัญ ณ วันที่ 26 ส.ค.2567 ที่มีผลต่อลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาพบว่ายังสามารถปรับปริมาณน้ำฝนเพิ่มเติมได้หลังจากนี้ ดังนี้

1.เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ที่รับน้ำจากแม่น้ำปิง กักเก็บน้ำในปัจจุบัน 5,936 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 45% ของความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ 2,136 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 23% รับน้ำได้อีก 7,526 ล้านลบ.ม.

2.เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ที่รับน้ำจากแม่น้ำน่าน กักเก็บน้ำในปัจจุบัน6,674 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 71% ของความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ 3,824 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 58% รับน้ำได้อีก 2,836 ล้านลบ.ม.

3.เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก กักเก็บน้ำในปัจจุบัน 354 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 38% ของความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ 311ล้านลบ.ม. คิดเป็น 35% รับน้ำได้อีก 585 ล้านลบ.ม.

4.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี กักเก็บน้ำในปัจจุบัน 281ล้านลบ.ม.คิดเป็น 30% ของความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ 278 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 29% รับน้ำได้อีก 679 ล้านลบ.ม.

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า มวลน้ำใน จ.เชียงราย และ จ.พะเยา ได้ระบายลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ และแม่น้ำโขง และส่วนที่เหลือเป็นปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำยม ซึ่งปัจจุบันไหลผ่าน อ.วังชิ้น จ.แพร่ อยู่ที่ 1,700 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยได้เพิ่มการระบายน้ำลงคลองต่างๆ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.สุโขทัย อยู่อัตรา 500 ลบ.ม.ต่อวินาที

รวมทั้งจะผันน้ำส่วนหนึ่งไปทุ่งรับน้ำ และจะพิจารณาระบายน้ำในทุ่งลงไปสู่แม่น้ำน่าน เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับฝนตกในช่วงต่อจากนี้

สำหรับมวลน้ำที่ไหลมารวมกันที่ จ.นครสวรรค์ จะควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 700-1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชัยนาท และบางส่วนของ จ.สิงห์บุรี ซึ่งกรมชลประทานจะแจ้งเตือนการระบายน้ำให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมยกของขึ้นที่สูง

นอกจากนี้ ประเมินว่าจะไม่เกิดผลกระทบรุนแรงเหมือนอุทกภัยปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยามากว่า 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที โดย สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเฝ้าระวังพายุหมุนเขตร้อนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่ามีโอกาสเคลื่อนตัวเข้ามา 1-2 ลูก ในช่วงฤดูฝน

“คลัง”มั่นใจผลกระทบไม่เท่าปี 54

นายพิชัย ชุณหวชิร รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมไม่เป็นปัจจัยที่กังวลต่อเศรษฐกิจไทยมาก เพราะยังไม่รุนแรงเหมือนกับน้ำท่วมเมื่อปี 2554 และไม่ขยายเป็นกว้างถึงเมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจหลัก ซึ่งมั่นใจว่ารัฐบาลบริหารจัดการได้

รวมถึงกระทรวงการคลังจะหารือธนาคารเพื่อเตรียมแพ็กเกจช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น การยืดหยุ่นลูกหนี้ 3-6 เดือน ซึ่งจะบรรเทาผลกระทบให้ลูกหนี้ และช่วยให้ประชาชนไม่เดือดร้อนจากน้ำท่วมมากนัก

.

ขอบคุณ : กรุงเทพธุรกิจ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ