เกิดอะไรในโลก : เลือกตั้งมาเลเซีย : พลังพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาล
คณะกรรมการการเลือกตั้งของมาเลเซีย จัดการรับสมัครบุคคล ลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 พ.ย. นี้ ถือเป็นการเลือกตั้งแห่งชาติครั้งที่ 15 ของมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นการชิงชัยที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ทั้ง 222 ที่นั่ง
สำหรับปัจจัยที่น่าจะมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชน แน่นอนว่าต้องมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และในสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางของมาเลเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 แล้ว นับตั้งแต่ต้นปีนี้
ด้านนายกฯ มาเลเซีย หวังการยุบสภาครั้งนี้ จะคืนอำนาจกลับสู่พรรคใหญ่ดั้งเดิม ขณะที่นักวิเคราะห์การเมืองมาเลเซียมองว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะประกอบด้วยพรรคร่วม 3 พรรคขึ้นไป ส่วนคนรุ่นใหม่มาเลเซีย ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจมากนัก
โดยพรรคอัมโน (UMNO) เป็นพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลมาเลเซียยาวนานกว่า 60 ปี ตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1957แต่จากคดีดังระดับโลก 1MDB ที่ทำให้ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียขณะนั้น “นายิ๊บ รอซัก” มีความผิดและถูกตัดสินโทษจำคุก 12 ปี
และในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2018 พรรคอัมโนต้องเสียเก้าอี้ฟากฝั่งรัฐบาล ให้กับกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) ที่ชนะการเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมี “มหาเธร์ มูฮัมหมัด” เป็นนายกฯ
นั่นคือความพ่ายแพ้ครั้งแรกของพรรคอัมโน และก็ถือว่าเป็นครั้งแรกของพรรคร่วมรัฐบาลเล็กๆ อีกหลายพรรคที่ต้องเข้ามาบริหารประเทศ จนเกิดปัญหาภายในรัฐบาลกันเองขึ้นเป็นระยะๆ และทำให้ นายกฯ ต้องเปลี่ยนถึง 3 คนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
📌 ไทม์ไลน์ นายกฯ 3 รายภายใน 4 ปี
2018-2020 : มหาเธร์ มูฮัมหมัด (ลาออกจากตำแหน่ง)
ในปี 2018 มหาเธร์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สมัยที่ 2 (ครั้งแรกเมื่อปี 1981-2003) พ่วงด้วยตำแหน่งนายกฯ ที่อายุมากที่สุดในโลก โดยในขณะนั้นเขามีอายุ 93 ปี แต่หลังจากบริหารราชการแผ่นดินได้เพียงปีเศษๆ มหาเธร์ก็ประกาศลาออก เนื่องจากความขัดแย้งของสถานการณ์การเมืองภายในมาเลเซียนั่นเอง
2020-2021 : มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน (ลาออกจากตำแหน่ง)
หลังจากการประกาศลาออกของ มหาเธร์ อย่างกะทันหัน ทำให้ มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน ต้องเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ต่อทันที แต่ มุฮ์ยิดดิน ก็ยังคงเผชิญกับความขัดแย้งการเมืองภายใน และวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มาเลเซียมีผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 20,000 คน/วัน ทำให้ มุฮ์ยิดดิน ตัดสินใจลาออกตาม มหาเธร์ ไปอีกคน
2022- ปัจจุบัน : อิสมาอิล ซอบรี ยะกู๊บ (ประกาศยุบสภา)
เข้ารับตำแหน่งได้เพียง 1 ปี 51 วัน ก็ประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เนื่องจากปัญหาความแตกแยกภายในพรรคร่วมรัฐบาลเช่นกัน
10 ต.ค. อิสมาอิล ซอบรี ยะกู๊บ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศยุบสภา ทำให้มาเลเซีย ต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นก่อนกำหนดการเดิม ที่รัฐบาลจะหมดวาระในเดือน ก.ย.2023 หรืออีกราว 1 ปีข้างหน้า
20 ต.ค. ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของมาเลเซีย (EC) ประกาศการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย จะมีขึ้นในวันที่ 19 พ.ย.2022
5 พ.ย. พรรคการเมืองเริ่มหาเสียง เพื่อให้ประชาชนสามารถลงคะแนนเสียงล่วงหน้าได้ในวันที่ 15 พ.ย.
📌 การเมืองมาเลเซียที่เปลี่ยนไป
หลังจากความพ่ายแพ้ของพรรคอัมโนและชื่อเสียงเรื่องการคอร์รัปชันของอดีตนายกฯ นายิ๊บ ทำให้รูปแบบการเมืองของมาเลเซียเปลี่ยนไป ชัยวัฒน์ มีสันฐาน นักวิชาการจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อสังเกตไว้
ตอนนี้ทุกคนสามารถไปอยู่กับฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ได้ เพราะไม่มีตัวแปรเป็นพรรคใหญ่ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จและเด็ดขาดเหมือนยุคก่อนแล้ว
เช่น ช่วงเปลี่ยนนายกฯ จาก มหาเธร์ มูฮัมหมัด เป็น มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน ก็เกิดจาก มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน นำ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลย้ายข้างไปจับมือกับฝ่ายค้าน และสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และทำให้ตัวเขาเองเข้ารับตำแหน่ง นายกฯ ต่อจาก มหาเธร์ มูฮัมหมัด ได้ทันที
เช่นเดียวกับพรรคอัมโนที่เป็นฝ่ายค้านในยุค มหาเธร์ แต่เมื่อ มุฮ์ยิดดิน ย้ายมาเข้าร่วมและจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ทำให้พรรคอัมโนเป็นเสียงข้างมากฝั่งรัฐบาลทันที จนกระทั่งวิกฤตโควิด-19 ทำให้พรรคอัมโนถอนการสนับสนุน มุฮ์ยิดดิน และดันให้อิสมาอิล ซอบรี ยะกู๊บ ขึ้นนั่งนายกฯ แทน
นักวิเคราะห์การเมืองมาเลเซียหลายคนมองเห็นตรงกันว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจนทำให้ นายกฯ มาเลเซียคนล่าสุดต้องประกาศยุบสภา เป็นแผนการต้องการกลับมารวบรวมอำนาจไว้ที่พรรคใหญ่พรรคเดียว “พรรคอัมโน” แต่ก็มองต่อไปว่า หลังจากนี้มาเลเซียอาจจะไม่สามารถแต่งตั้งรัฐบาลจากพรรคใหญ่พรรคเดียวได้อีกต่อไป
คาดการณ์ว่าในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ฝ่ายรัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสม และมีอย่างน้อย 3 พรรคที่จับมือกันเพื่อให้ได้เสียงข้างมากในสภา ในขณะเดียวกัน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 60 วัน ซึ่งจะตรงกับช่วงฤดูมรสุมของมาเลเซียทำให้เป็นอุปสรรคต่อการออกมาใช้สิทธิของประชาชน
📌 มาเลเซียแก้ กม. คนรุ่นใหม่ไปใช้สิทธิมากขึ้น
ในปี 2019 รัฐสภามาเลเซียแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 119 ปรับเปลี่ยนอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในระดับชาติ และในระดับรัฐ จากอายุ 21 ปีขึ้นไป เป็นอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่งผลให้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากเมื่อปี 2018 ซึ่งมีจำนวน 14.9 ล้านคน เพิ่มเป็นจำนวน 21 ล้านคน ในปี 2023 หรือเพิ่มขึ้นราว 6 ล้านคน
แต่นักวิเคราะห์มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหมืองช่วงปี 2018ที่คนส่วนใหญ่ออกมาใช้สิทธิเพื่อต่อต้าน นายิ๊บ รอซัก และต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศ
ข้อมูลจากศูนย์เมอร์เดก้า (Merdeka Center) บริษัทสำรวจความคิดเห็น ทำการสำรวจความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีเพียงร้อยละ 40 ที่จะไปเลือกตั้ง และประชากรอายุ 18-30 ปี ให้ความสนใจเรื่องการเมืองเพียงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือไม่สนใจการเมืองโดยให้เหตุผลว่า การเมืองมาเลเซียเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินไป
ในขณะที่ทางการมาเลเซีย ขอความร่วมมือข้าราชการและประชาชนงดออกนอกประเทศ ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย
📌 “อันวาร์” หวังได้เป็นนายกฯ
อันวาร์ อิบราฮิม วัย 75 ปี กล่าวหลังจากหาเสียงที่เขตตัมบุน รัฐเประ ทางตะวันตกของมาเลเซีย ชูนโยบายเรื่องใช้หลักธรรมรัฐ ต่อต้านการทุจริต ขจัดการเหยียดผิวและการคลั่งศาสนา ระบุว่าเขาขอรณรงค์ให้ชาวมาเลเซียเลือกเขาเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งก่อนกำหนดที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ หลังจากตกเป็นผู้นำฝ่ายค้านมาร่วม 20 ปี
พร้อมกับเผยว่าจะไม่ทำงานร่วมกับพันธมิตรของนายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซอบรี ยะกู๊บ หรือพันธมิตรของอดีตนายกรัฐมนตรีมูยิดดิน ยัสซิน เนื่องจากมีนโยบายพื้นฐานที่แตกต่างกัน การเป็นพันธมิตรจะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ เพราะต้องจับมือกับกลุ่มคนที่เหยียดผิว หรือกลุ่มคนคลั่งความเป็นมุสลิม นอกจากนี้ เขายังจะไม่ทำงานร่วมกับอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ มูฮัมหมัดด้วย
แม้ว่าผลการหยั่งเสียงชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มีพรรคการเมืองเดียวหรือพันธมิตรกลุ่มเดียวได้เสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ตาม
ทั้งนี้อันวาร์เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง และรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลมหาเธร์ ก่อนถูกขับออกจากคณะรัฐมนตรี จากข้อหามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายในมาเลเซีย ต่อมาถูกขับออกจากพรรคอัมโนที่เป็นรัฐบาล และถูกจับกุมด้วยกฎหมายความมั่นคงภายใน ศาลตัดสินจำคุก 6 ปี ในความผิดข้อหาทุจริตและมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก และตัดสินจำคุกอีก 9 ปี ในความผิดข้อหามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอีกคดี ต่อมาศาลรัฐบาลกลางตัดสินให้พ้นผิดและปล่อยตัวในปี 2004 อันวาร์กลับเข้าสู่สนามการเมืองด้วยการชนะเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ในปี 2008 และกลายเป็นผู้นำฝ่ายค้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา.
📌 พรรคแนวร่วมเสนอระบบ “รายได้ขั้นพื้นฐาน” และสวัสดิการ
กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ(บาริซาน นาซิอองแนล-บีเอ็น) ขั้วหนึ่งในพรรครัฐบาลของมาเลเซีย ปราศรัยหาเสียงด้วยข้อเสนอที่ทะเยอทะยานมากที่สุดของพวกเขา คือสัญญาว่าจะให้ชาวมาเลเซียทุกครัวเรือนได้รับรายได้ขั้นพื้นฐานต่อเดือนอย่างน้อย 2,208 ริงกิต (ราว 17,000 บาท) ต่อเดือน ถ้าหากบีเอ็นสามารถเอาชนะการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียครั้งที่ 15 ได้
คำสัญญาในเรื่องรายได้ขั้นพื้นฐานนี้เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่อยู่ในแถลงการณ์ปาดู (PADU) ที่สื่อถึงเรื่องแนวทางริเริ่มด้านการวางแผน, สวัสดิการ และความอุตสาหะ โดยที่แนวร่วมรัฐบาลของมาเลเซียได้เสนอให้มี “รายได้ขั้นพื้นฐานในเชิงช่วยเหลือ” ซึ่งทางรัฐบาลจะให้ทุกครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำได้รับรายได้พื้นฐานนี้โดยอัตโนมัติ
ดาโต๊ะ ซะรี อะห์หมัด ซาฮิด ฮามีดี ประธานของบีเอ็นกล่าวว่า มันจะเป็นรายได้ต่อเดือนแบบ “ทบเพิ่ม” จากรายได้เดิมที่มีอยู่ ซาฮิดบอกว่าแผนการนี้ “จะกลายเป็นหนทางที่เป็นธรรม, สมเหตุสมผล และเป็นไปตามหลักยุทธศาสตร์มากที่สุด ซึ่งไม่เพียงแค่ช่วยแก้ไขปัญหาภาระค่าครองชีพเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ทุกครัวเรือนไม่ต้องถูกบีบให้อยู่ภายใต้เส้นความยากจนด้วย พูดอีกอย่างก็คือนับจากนี้ไป สภาพการณ์ของความยากจนสัมบูรณ์นั้น จะหลงเหลืออยู่แค่ในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย”
นอกจากเรื่องนี้แล้ว บีเอ็นยังได้เสนอในเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นการลดภาษีเงินได้ร้อยละ 2 ให้กับคนที่มีรายได้อยู่ระหว่าง 50,000 ริงกิตต่อปี (ราว 393,000 บาทต่อปี) ถึง 100,000 ริงกิตต่อปี (ราว 786,000 บาทต่อปี) เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและลดภาระทางการเงินให้กับคนกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังระบุว่าคนทำงานแม่บ้านที่กลับไปทำงานหลังจากพักจากงานจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เหลือร้อยละ 0 ในช่วง 5 ปีแรกที่กลับเข้าทำงานด้วย
ประเด็นการศึกษาเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่บีเอ็นเน้นย้ำในการหาเสียง บีเอ็นเสนอให้มีระบบการรับเลี้ยงเด็กอ่อนและการศึกษาก่อนเข้าโรงเรียนสำหรับเด็กอายุ 6 ปีลงไปเรียนฟรี ซาฮิดบอกว่าแผนการนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับการเลี้ยงเด็กอ่อนและการศึกษาวัยก่อนเข้าเรียน
นอกจากนี้ซาฮิดยังกล่าวให้สัญญา ว่าจะนำเสนอระบบการศึกษาแบบไร้ตำราเรียนโดยจะให้เรียนผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทน บีเอ็นสัญญาว่าจะแจกแล็บท็อปแก่เด็กนักเรียนที่ยากจนฟรีและทำให้อินเทอร์เน็ต 5G ครอบคลุมถึงทุกโรงเรียนภายใน 18 เดือน และจะทำให้การศึกษาฟรีกับคนที่อายุไม่เกิน 40 ปี ในการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือบัณฑิตศึกษา อีกทั้งยังเสนอว่าจะจัดให้มีระบบการศึกษาแบบยึดหยุ่น โดยมีทั้งการศึกษารูปแบบในสถานศึกษา และการศึกษาออนไลน์หรือทางไกลซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่ตัวแทนบีเอ็นพยายามจะชูเกี่ยวกับการศึกษาคือการส่งเสริมความปรองดองในหมู่ประชาชนและส่งเสริมความหลากหลาย รวมถึงทำให้มีค่านิยมการยอมรับกันและกัน โดยจะจัดให้มีการเรียนการสอนด้วยภาษาสื่อสารพื้นฐานเป็นภาษากลุ่มชาติพันธุ์หรือชนชาติต่างๆ ที่อาศัยในมาเลเซียนอกเหนือไปจากภาษามาเลย์และภาษาอังกฤษ เช่น ภาษาจีนแมนดารินและภาษาทมิฬ อีกทั้งยังเสนอให้มีการเรียนการสอนทักษะใหม่ในโรงเรียนอย่างการโปรแกรมมิ่งคอมพิวเตอร์และเรื่องความคิดสร้างสรรค์
ประเด็นนอกเหนือจากนี้คือการส่งเสริมความหลากหลายในการจ้างงานและในที่ทำงาน โดยให้สถานะพลเมืองแก่เด็กที่เกิดจากชาวต่างชาติที่แต่งงานกับผู้หญิงมาเลเซีย การลดปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน การพยายามแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยการส่งเสริมพลังงานสะอาด การวางเป้าหมายทำให้มาเลเซียมีพื้นที่ป่าร้อยละ 60 และยกเลิกการขออนุญาตนำเข้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
ในการปราศรัยหาเสียงครั้งนี้ ซาฮิดกล่าวถึงนโยบายที่จะทำให้การบริหารงานทางการเมืองของมาเลเซีย เกิดขึ้นในลักษณะที่มีความรับผิดชอบและมีความโปร่งใส โดยผ่านการออกกฎหมายการระดมทุนทางการเมือง และทำให้การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการในตำแหน่งสำคัญต้องได้รับการตรวจสอบคัดกรองจากคณะกรรมการพิเศษของสภาด้วย
ที่มา
:
thaipbs : https://www.thaipbs.or.th/news/content/321226
prachatai : https://prachatai.com/journal/2022/11/101315
mcot : https://tna.mcot.net/world-1052562
dailynews : https://www.dailynews.co.th/news/1650953/