WORLD : เด็กชาวปาเลสไตน์ผู้กล้าหาญยืนหยัดต่อสู้กับกองกำลังยึดครองของอิสราเอลที่ติดอาวุธหนักที่ทางเข้…
เกิดอะไรในโลก : ประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ ประกาศแผนสร้าง “เมืองบิตคอยน์” ที่จะใช้พลังงานจากภูเขาไฟในการขุดเหมืองบิตคอยน์ และใช้ทุนจากพันธบัตรคริปโทเคอร์เรนซีในการก่อสร้าง
ประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล (Nayib Bukele) แห่งประเทศเอลซัลวาดอร์ ประกาศวางแผนที่จะสร้าง “เมืองบิตคอยน์” เป็นเมืองแรกของโลก โดยได้รับทุนสนับสนุนเบื้องต้น จากพันธบัตรที่มีเงินบิตคอยน์เป็นกองทุน ซึ่งคาดว่าจะทำเงินได้เป็นสองเท่าจากที่ลงทุน เป็นการใช้ประโยชน์ของสกุลเงินคริปโต โดยนำมาช่วยกระตุ้นการลงทุนในประเทศของทวีปอเมริกาตอนกลางแห่งนี้
บูเคเลซึ่งมีคิวขึ้นพูดปิดท้ายงาน ประชุมบิตคอยน์และบล็อกเชนแห่งลาตินอเมริกา ซึ่งกินเวลา 1 สัปดาห์ในเอลซัลวาดอร์ กล่าวว่าเมืองที่อยู่ในแผนการ La Union ในภูมิภาคตะวันออกของประเทศ จะใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ ในการขุดบิตคอยน์จากภูเขาไฟกอนชากัว และจะไม่มีการเก็บภาษี เว้นแต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม
“มาลงทุนที่นี่แล้วหาเงินได้เท่าที่คุณต้องการ” บูเคเลกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ แต่งกายด้วยชุดสีขาวและสวมหมวกเบสบอลแบบกลับหลัง ในรีสอร์ทริมหาดมิซาตา “ที่นี่คือเมืองที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ซึ่งขับเคลื่อนและได้รับพลังงานจากภูเขาไฟ”
เอลซัลวาดอร์มีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพจากภูเขาไฟเตกาปา ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในประเทศบางส่วนอยู่แล้ว บูเคเลกล่าวว่า เริ่มแรกนั้นเมืองนี้ก็จะใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าเตกาปาแห่งนี้ ก่อนที่รัฐบาลของเขาจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพจากภูเขาไฟกอนชากัวแห่งใหม่ขึ้น
บูเคเลกล่าวว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มครึ่งหนึ่งที่เรียกเก็บจะถูกนำไปใช้เป็นกองทุน ในการออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาใช้สร้างเมือง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะใช้จ่ายค่าบริการต่างๆ เช่น การเก็บขยะ โดยประมาณการโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะไว้ว่า จะมีค่าใช้จ่ายราว 300,000 บิตคอยน์
📌 ต่อยอดนโยบาย
ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เอลซัลาดอร์เป็นประเทศแรกในโลก ที่ยอมรับว่าบิตคอยน์เป็นเงินที่ใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ได้นำกำไรที่ยังไม่รับรู้ กลับไปลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ ตัวอย่างเช่นต้นเดือนนี้บูเคเลประกาศว่า จะนำกำไรที่ได้จากบัญชีบิตคอยน์ทรัสต์ของรัฐบาล ไปสร้างโรงเรียนใหม่ 20 แห่ง ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือนตุลาคม รัฐบาลเอลซัลวาดอร์นำกำไร 4 ล้านดอลลาร์ที่ได้จากบิตคอยน์ทรัสต์ไปลงทุนในโรงพยาบาลสัตว์ในกรุงซานซัลวาดอร์ แม้มีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยโดยบอกว่า การลงทุนในสถานพยาบาลสำหรับคนมีความจำเป็นเร่งด่วนกว่าก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบูเคเลจะเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยม แต่ผลจากการสำรวจความคิดเห็นก็แสดงว่า ชาวเอลซัลวาดอร์ยังไม่วางใจเขาในประเด็นของบิตคอยน์ และการเริ่มต้นใช้สกุลเงินดังกล่าวในระบบที่ไม่ราบรื่นนัก ก็ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในเวลาต่อมา
บูเคเลเอ่ยอ้างว่าแผนการที่เขาวางไว้สำหรับเมืองต่าง ๆ ของเขาคล้ายกับการวางผังเมืองอเล็กซานเดรียของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เขาบอกว่าเมืองบิตคอยน์จะมีรูปแบบเป็นวงกลม โดยมีสนามบิน ย่านที่พักอาศัยและย่านการค้า มีลานกลางเมืองเป็นจุดเด่น ซึ่งจะออกแบบให้มีหน้าตาคล้ายสัญลักษณ์ของบิตคอยน์ เมื่อมองจากมุมสูง
“ถ้าคุณต้องการให้บิตคอยน์แพร่ไปทั่วโลก เราควรจะสร้างเมืองแบบเมืองอเล็กซานเดรียหลาย ๆ แห่ง” บูเคเลในวัย 40 ปีเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและเคยพูดเล่นว่าตัวเองเป็น “เผด็จการ” ของเอลซัลาดอร์บนทวิตเตอร์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
บูเคเลกล่าวว่า เอลซัลวาดอร์วางแผนที่จะออกพันธบัตรรัฐบาลชุดแรกในปี 2022 โดยประเมินว่าน่าจะใช้เวลาภายใน 60 วันในการเปิดขาย
📌 หวังเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกใหม่
แซมซั่น โมว์ (Samson Mow) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของบล็อกสตรีม บริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีบล็อกเชน บอกว่าพันธบัตรใน 10 ปีแรกที่เรียกว่า “พันธบัตรภูเขาไฟ” เมื่อรวมกันแล้วจะมีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากบิตคอยน์และให้ดอกเบี้ยในอัตรา 6.5% เขากล่าวว่าครึ่งหนึ่งของเงินที่ได้จากการขายจะนำไปซื้อบิตคอยน์ในตลาด และจะมีการออกพันธบัตรอื่น ๆ จะตามมา
โมว์กล่าวว่า หลังจากปิดกองทุนเป็นเวลาห้าปี เอลซัลวาดอร์จะเริ่มขายบิตคอยน์บางส่วนที่ใช้เป็นกองทุนในการออกพันธบัตรเพื่อให้นักลงทุนได้รับ “ดอกเบี้ยเพิ่มเติม” โดยวางตัวว่ามูลค่าของสกุลเงินคริปโตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“สิ่งนี้จะทำให้เอลซัลวาดอร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก เปรียบเทียบได้กับสิงคโปร์แห่งละตินอเมริกา และเสริมว่าเขาคาดว่าประเทศอื่นๆ จะปฏิบัติตาม “ประเทศแรกที่ทำเช่นนี้จะมีข้อได้เปรียบอย่างมาก นี่เป็นจุดเริ่มต้นของสถานะ Bitcoin FOMO ของประเทศต่างๆ” ซึ่ง FOMO หมายถึงความกลัวที่จะพลาดโอกาสจากสิ่งที่กำลังเป็นกระแส (fear of missing out)
การออกพันธบัตรจะทำกันบนระบบที่เรียกว่า “Liquid Network” ซึ่งเป็นเครือข่ายบิตคอยน์ไซด์เชน (Bitcoin sidechain) อย่างหนึ่ง โมว์กล่าวว่า เพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการดังกล่าว รัฐบาลของเอลซัลวาดอร์กำลังเตรียมออกกฎหมายหลักทรัพย์ และใบอนุญาตใบแรกในการดำเนินการซื้อขายแลกเปลี่ยน จะเป็นของแพลตฟอร์มบิตฟิเน็กซ์ (Bitfinex)
โมว์ยังบอกว่า เมื่อมีการออกพันธบัตรในลักษณะดังกล่าวไป 10 ชุด จะมีการถอนเงินบิตคอยน์ที่มีมูลค่าเท่ากับ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกจากตลาดไปหลายปี “และถ้าคุณมีอีก 100 ประเทศที่ออกพันธบัตรแบบนี้ นั่นคือครึ่งหนึ่งของมูลค่าในตลาดของบิตคอยน์”
📌 หลายฝ่ายยังกังวล
อย่างไรก็ตามความพยายามของประธานาธิบดี นายิบ บูเกเลข ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางการเงินดิจิตอลของโลก ยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์อีกระยะหนึ่ง เนื่องจากค่าของเงินดิจิตอลบิตคอยน์ มีความผันผวนสูงอยู่ตลอดเวลา
รัฐบาลเอลซัลวาดอร์นำเสนอมาตรการดังกล่าว เป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงาน. เท่ากับว่าภาคธุรกิจตอนนี้จำต้องยอมรับสกุลเงินดิจิตอล ในชำระสินค้าและบริการ จึงมีเสียงประท้วงเป็นวงกว้างด้วยความกลัวว่า บิตคอยน์จะทำให้เอลซัลวาดอร์เองไม่มีเสถียรภาพและเงินเฟ้อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมูลค่าของมันผันผวนอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างมากในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีการแสดงท่าทีจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่แสดงความกังวลต่อนโยบายทางการเงินของประเทศเอลซัลวาดอร์ โดยเจ้าหน้าที่ของ IMF แนะนำว่า ควรจำกัดขอบเขตทางกฎหมายบิตคอยน์ให้แคบลง และเรียกร้องให้ดำเนินการวางกฎระเบียบ และตรวจสอบระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่นี้อย่างรัดกุม” แม้ว่าปัจจุบันการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิตอล ในตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอล (Cryptocurrency Exchange) เป็นสิ่งถูกกฎหมายในหลายประเทศรวมไปถึงประเทศไทย
ขณะเดียวกัน IMF ประมาณการว่า เศรษฐกิจของเอลซัลวาดอร์จะขยายตัว 10% ในปี 2021 และ 3.2% ในปี 2022 รวมทั้งคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2021 หนี้สาธารณะจะแตะที่ 85% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
ที่มา :
dailynews : https://www.dailynews.co.th/news/501806/
thaipost : https://www.thaipost.net/abroad-news/30131/
springnews : https://www.springnews.co.th/news/818381
mgronline : https://mgronline.com/stockmarket/detail/9640000115713
tnnthailand : https://www.tnnthailand.com/news/tech/97192/
ryt9 : https://www.ryt9.com/s/iq29/3275908
posttoday : https://www.posttoday.com/world/668753