White Channel

กมธ.การกฎหมายฯ ร่อนหนังสือถึงนายกฯ จี้บังคับใช้ พ.ร.บ.ต้านซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ภายในกำหนด 22 ก.พ.นี้

POLITICS : กมธ.การกฎหมายฯ ร่อนหนังสือถึงนายกฯ จี้บังคับใช้ พ.ร.บ.ต้านซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ภายในกำหนด 22 ก.พ.นี้
.
The Reporters รายงาน (19 ม.ค.) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร นำโดย อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ และกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ร่วมกันแถลงถึงกรณีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ภายหลังราชกิจจานุเบกษากำหนดให้มีผลภายใน 22 ก.พ. 2566
.
โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ภายในกรรมาธิการฯ ดังกล่าว เคยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทุกหน่วยงานให้คำยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566
.
อย่างไรก็ตาม ตำรวจแจ้งว่ามีเหตุขัดข้องโดยส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เป็นเหตุให้คณะกรรมาธิการฯ มีความกังวลใจ จึงทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยส่งเป็นหนังสือไปแล้ววันนี้
.
อาดิลัน ยังกล่าวถึงผลการประชุมกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งได้เคยยืนยันต่อที่ประชุมกรรมาธิการฯ ว่า ตำรวจมีความพร้อมจะบังคับใช้กฎหมาย แม้ว่าอุปกรณ์จะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ แต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นอุปสรรค โดยงบประมาณที่ตำรวจจำเป็นต้องใช้ประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อซื้อกล้องสำหรับติดตั้งให้เจ้าพนักงาน และตามสถานที่ต่างๆ ส่วนสำนักงานอัยการสูงสุดต้องใช้ 100 กว่าล้านบาท เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าควรต้องใช้งบกลางเพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งทุกหน่วยงานก็เห็นพร้อม
.
ในส่วนของกล้องติดตามตัวที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกังวลนั้น แม้กฎหมายฉบับนี้จะกำหนดว่าให้ต้องบันทึกภาพเสียงทันที ตั้งแต่การควบคุมตัว จนกระทั่งปล่อยตัวกลับ หรือนำส่งพนักงานสอบสวน แต่กรณีความผิดซึ่งหน้า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างทาง แล้วอาจไม่ต้องบันทึกภาพเสียงก็ได้ เพราะเป็นเหตุจำเป็น มีข้อยกเว้นตามกฎหมายอยู่แล้ว
ด้านกมลศักดิ์ ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้กว่าจะผ่านสภาใช้เวลายาวนานมาก แต่เมื่อใกล้จะประกาศใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานกลับขอชะลอเวลา กรรมาธิการฯ ได้ประชุมแล้วเห็นว่ายังไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ทำให้ขยายเวลาได้ แม้จะออกเป็น พ.ร.ก.ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า พ.ร.ก. อีกทั้งเหตุผลที่อ้างมายังไม่เข้าองค์ประกอบของการออก พ.ร.ก.แต่อย่างใด
ย้อนไปเมื่อ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ iLaw รายงานว่า สตช.เคยออกจดหมายถึงกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยเรื่อง ‘ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565’ โดยสาระสำคัญ คือการขอชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ต้านอุ้มหายฯ โดย สตช.ยกปัญหามาด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อ คือ เรื่องการกล้องสำหรับใช้ตามกฎหมาย ยังไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย และมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่ยังมีความคลุมเครือและยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลาง
.
ขอบคุณ : The Reporters
.

ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ