ทูตเผย ‘มกุฎราชกุมารซาอุฯ’ เยือนไทยเริ่มต้นความร่วมมือใหม่ที่ดีมากย้ำโอกาสมหาศาล – White Channel

White Channel

<strong data-src=ทูตเผย ‘มกุฎราชกุมารซาอุฯ’ เยือนไทยเริ่มต้นความร่วมมือใหม่ที่ดีมากย้ำโอกาสมหาศาล" />

ทูตเผย ‘มกุฎราชกุมารซาอุฯ’ เยือนไทยเริ่มต้นความร่วมมือใหม่ที่ดีมากย้ำโอกาสมหาศาล

SOCIAL : ทูตเผย ‘มกุฎราชกุมารซาอุฯ’ เยือนไทย เริ่มต้นความร่วมมือใหม่ที่ดีมาก ย้ำโอกาสมหาศาล

.

นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูตไทยประจำซาอุดีอาระเบีย ให้สัมภาษณ์มติชนหลังการเสด็จฯเยือนไทยอย่างเป็นทางการของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุฯ ซึ่งถือเป็นการเยือนของผู้นำซาอุฯ ครั้งแรกในรอบ 32 ปี และยังเป็นแขกพิเศษของไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคเพื่อเข้าร่วมหารือกับผู้นำเอเปคว่า การเสด็จฯเยือนครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะพระองค์เสด็จฯเยือนหลายประเทศในภูมิภาค แต่ทรงประทับอยู่ในไทยนานที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะได้ร่วมประชุมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วย ฝ่ายซาอุฯกระตือรือร้นอย่างมาก มีการขอวีซ่าให้กับคณะที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการเสด็จฯเยือนมากกว่า 1,100 คน ซึ่งรวมถึงคณะล่วงหน้าที่เดินทางเข้ามาเพื่อเตรียมการเสด็จฯเยือนของพระองค์ด้วย

.

นายดามพ์กล่าวว่า ความสำคัญที่ฝ่ายซาอุฯให้กับการเสด็จฯเยือนในครั้งนี้ยังเห็นได้จากที่มีรัฐมนตรีและบุคคลระดับสูงที่ร่วมเดินทางมาด้วยจำนวนมาก โดยนอกจากเจ้าชายมุฮัมมัดแล้ว ยังมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีและตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรีถึง 10 คน ตั้งแต่รัฐมนตรีพลังงาน รัฐมนตรีมหาดไทยรัฐมนตรีกระทรวงการรักษาดินแดน รัฐมนตรีแห่งรัฐสมาชิกคณะรัฐมนตรีรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีวัฒนธรรม รัฐมนตรีพาณิชย์และรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารมวลชน รัฐมนตรีการลงทุน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประเด็นต่างๆ ที่ฝ่ายซาอุฯให้ความสำคัญ ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็มีรัฐมนตรีของซาอุฯที่สำคัญอีกหลายคน อาทิ รัฐมนตรีแรงงาน รัฐมนตรีเกษตร และรัฐมนตรีการลงทุน ก็ได้เดินทางเยือนไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว

.

ผู้สื่อข่าวถามถึงภาพรวมของการเดินทางว่าเป็นอย่างไร นายดามพ์กล่าวว่าเป็นที่น่าพอใจพอใจอย่างยิ่ง พระองค์ท่านแสดงความชื่นชมที่ได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษในการเข้าร่วมพูดคุยกับผู้นำเอเปค ฝ่ายซาอุฯมีความประทับใจอย่างมาก เพราะเป็นการส่งเสริมบทบาทของซาอุฯในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งก็เป็นความต้องการของฝ่ายซาอุฯที่อยากแสดงบทบาทในภูมิภาคนี้มากขึ้น

.

นายดามพ์กล่าวว่า โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) ของไทยที่ผู้นำเอเปคให้การรับรองไป ก็สอดคล้องกับข้อริเริ่มซาอุฯสีเขียว (Saudi Green Initiative) และตะวันออกกลางสีเขียว(Middle East Green Initiative) ที่เน้นการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่ไม่ปล่อยมลภาวะ ซึ่งฝ่ายซาอุฯอยากให้ไทยเข้าไปช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้โดยเฉพาะเรื่องแรงงานมีฝีมือด้านการบริการ ท่องเที่ยว เวลเนส และด้านก่อสร้างซึ่งจะมีโครงการเกิดขึ้นมากมายริมทะเลแดง ซึ่งเราต้องมาพิจารณาที่จะหาแรงงานที่ตอบสนองเขาได้ เพราะการท่องเที่ยว ซาอุฯจะมีห้องเพิ่ม 1 ล้านห้องตามมีเป้าหมายให้มีท่องเที่ยวเข้าประเทศให้ได้ 100 ล้านคนภายในปีค.ศ.2030

.

เอกอัครราชทูตไทยประจำซาอุฯกล่าวว่า ฝ่ายซาอุฯยังอยากที่จะร่วมมือกับไทยโดยเฉพาะในเรื่องพลังงานสีเขียว ซึ่งซาอุฯมีองค์ความรู้ในด้านนี้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยบริษัทอาควาพาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของซาอุฯ ได้มีการลงนามความตกลงด้านพลังงานสะอาด 3 ฉบับกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฝ่ายซาอุฯเสนออยากให้ไทยเป็นฮับเรื่องพลังงานสะอาดในภูมิภาค นอกจากนี้ยังพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ที่ไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารและสินค้าเกษตร ขณะที่ซาอุฯเป็นประเทศที่ผลิตปุ๋ย ซึ่งจะเป็นความร่วมมมือที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้งยังพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน การเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุน ลดอุปสรรคในการไปมาหาสู่สำหรับนักธุรกิจต่อไปในอนาคต และยังพูดถึงความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการกีฬาอีกด้วย

.

“โอกาสของความร่วมมือระหว่างสองประเทศมีอยู่มากมาย ถ้าเราเล่นเป็นเพราะฝ่ายซาอุฯเปิดโอกาสให้ไทยเกือบทุกด้าน แต่ไทยก็ต้องกระตือรือร้นเพราะคู่แข่งก็มีมาก” นายดามพ์กล่าว

.

นายดามพ์กล่าวว่า ระหว่างการเสด็จฯเยือน ผู้นำทั้งสองได้เป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจทวิภาคีถึง 5 ฉบับ ประกอบด้วย บันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี-ไทย บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลซาอุฯ ข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงาน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และบันทึกความเข้าใจระหว่างองค์กรกำกับดูแลและต่อต้านการทุจริตของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของทั้งสองฝ่ายหลังการเยือนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรีเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับสู่ปกติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานที่เกิดผลขึ้นเร็วมาก ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือที่ดีมาก แต่ยังมีประเด็นที่ต้องผลักดันต่อไป สิ่งสำคัญคือกลไกต่างๆ ได้ถูกตั้งขึ้นแล้ว จากนี้ก็ต้องมีการขับเคลื่อนความสัมพันธ์กันต่อไป

.

มติชน

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ