นายกฯขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้สินค้าฮาลาลเป็นที่นิยมทั้งในและตปท. ดันนโยบาย ‘อาหารไทย อาหารโลก’ ต่อยอดสินค้าอาหารฮาลาลของไทย – White Channel

White Channel

นายกฯขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้สินค้าฮาลาลเป็นที่นิยมทั้งในและตปท. ดันนโยบาย ‘อาหารไทย อาหารโลก’ ต่อยอดสินค้าอาหารฮาลาลของไทย

SOCIAL : นายกฯขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้สินค้าฮาลาลเป็นที่นิยมทั้งในและตปท. ดันนโยบาย ‘อาหารไทย อาหารโลก’ ต่อยอดสินค้าอาหารฮาลาลของไทย
.
17 ธ.ค.2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำหนดนโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” ซึ่งส่วนหนึ่งของการดำเนินตามนโยบายนี้คือ เห็นโอกาสและช่องทางขยายตลาดสินค้าฮาลาล (Halal) เนื่องจากประชากรในกลุ่มประเทศมุสลิม มีแนวโน้มเติบโต และมีกำลังซื้อมากขึ้น
.
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติประชากรโลกของ Pew Research Center (Washington, DC) คาดว่ากลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามจะเพิ่มจำนวนเร็วที่สุดในโลก ดังนั้น ผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ได้รับตรารับรอง ฮาลาล ตามหลักศาสนาอิสลาม จึงมีความต้องการมากขึ้นไปด้วย ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อจำหน่ายแก่มุสลิมภายในประเทศ รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศ อาหารฮาลาลของไทย มีจุดแข็งด้านคุณภาพวัตถุดิบ อุตสาหกรรมอาหารของไทยยังมีความเข้มแข็ง มีชื่อเสียงในตลาดโลก ทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพ และรสชาติ โดยไทยได้ส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร ไปยังกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation-OIC) จำนวน 57 ประเทศ ซึ่งทำให้ในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาล รวม 4,188.37 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นสัดส่วน 12.13% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมดของไทย ขยายตัวจากปีที่ผ่านมา 4.12% ส่วนปี 2565 ช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม – กันยายน) มีมูลค่าการส่งออก 4,681.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 64.65%
.
โดยประเภทสินค้าอาหารฮาลาลที่ประเทศไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ OIC ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของปี 2564 ได้แก่ 1. ธัญพืช 2. ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา สัตว์น้ำฯ 3. น้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาล 4. ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง สตาร์ช หรือนม ผลิตภัณฑ์อาหารจำพวกพาย และ 5. ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ด ที่บริโภคได้ โดยในปี 2564 ประเทศไทย ได้ส่งออกสินค้าฮาลาล ไปยังประเทศกลุ่ม OIC โดยมีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 1,193.57 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. อินโดนีเซีย 885.77 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 228.64 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. อียิปต์ 225.18 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5. เยเมน 165.00 ล้านเหรียญสหรัฐ
.
นอกจากตลาดในกลุ่มประเทศ OIC ประเทศไทยยังมีโอกาสขยายตลาดไปยังประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม ได้แก่ อินเดีย จีน สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทยเอง โดยตลาดกลุ่มนี้ ก็เป็นตลาดเป้าหมายส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลที่สำคัญเนื่องจากล้วนมีกลุ่มชาวมุสลิมที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
นอกจากการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว ตลาดอาหารฮาลาลในประเทศก็มีความน่าสนใจ เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยจำนวนมาก และอาหารไทยก็ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ดังนั้น สินค้าอาหารฮาลาลที่ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ ก็เป็นตลาดที่สำคัญ สำหรับชาวไทยมุสลิม และนักท่องเที่ยวมุสลิม เช่นเดียวกัน
.
“นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถทำให้ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลของไทย เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งล้วนมีปัจจัยสำคัญจากคุณภาพสินค้า ความหลากหลายของสินค้า ทำให้เครื่องหมายฮาลาล ของไทยเป็นที่ยอมรับ ขอให้คงไว้ซึ่งชื่อเสียงเหล่านี้ เพื่อจะได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาด ผลักดันการส่งออกอาหารฮาลาลได้ ทั้งในประเทศ แก่นักท่องเที่ยว และต่างประเทศ รวมทั้งจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย” นายอนุชา กล่าว
.
ขอบคุณ ไทยโพสต์
.

ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ