นิวซีแลนด์ผ่านกฎหมายแบนบุหรี่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ – White Channel

White Channel

นิวซีแลนด์ผ่านกฎหมายแบนบุหรี่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่

เกิดอะไรในโลก : นิวซีแลนด์ผ่านกม.ห้ามขายบุหรี่ให้คนรุ่นใหม่ตลอดชีพ ตั้งเป้าประเทศปลอดบุหรี่

สภาผู้แทนราษฎรของนิวซีแลนด์มีมติเมื่อวันอังคาร ด้วยเสียงข้างมาก 76 ต่อ 43 เสียง เห็นชอบกฎหมาย “การจัดระเบียบ” และควบคุมตลาดยาสูบในประเทศฉบับใหม่ (Smokefree Environments and Regulated Products) มีสาระสำคัญ คือการไม่อนุญาตให้ผู้มีอายุ 14 ปีและน้อยกว่านั้น ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดวันที่ 1 .. 2009 และหลังจากนั้น ซื้อบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท หากฝ่าฝืนต้องชำระค่าปรับเป็นเงินสูงสุด 150,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ( ราว 3.33 ล้านบาท )

จุดนี้ต่างจากข้อบังคับตามปกติ ที่มักจะกำหนดข้อห้ามเรื่องอายุของผู้ซื้อยาสูบ ซึ่งหลังจากอายุเกินจากข้อกำหนดแล้วก็จะสามารถซื้อได้ แต่กฎใหม่ข้อนี้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ถ้าคุณเกิดหลัง 31 ธันวาคม 2009 นั่นหมายถึง คุณจะไม่สามารถซื้อยาสูบในนิวซีแลนด์ได้ตลอดชีวิต หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ เกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ซื้อจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เช่น ในอีก 50 ปีข้างหน้า คุณต้องมีอายุอย่างน้อย 63 ปี ถึงจะซื้อยาสูบได้ นั่นเท่ากับว่า นิวซีแลนด์แทบจะเป็นประเทศที่ปลอดยาสูบไปโดยปริยาย

ขณะเดียวกัน กฎหมายใหม่ ซึ่งจะบังคับใช้เป็นลำดับขั้น ยังระบุเกี่ยวกับการลดจำนวนผู้ค้ารายย่อยเกี่ยวกับบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบในนิวซีแลนด์ ให้เหลือประมาณ 600 ราย ภายในปี 2023 จากปัจจุบันซึ่งมีจำนวนประมาณ 6,000 ราย และการควบคุมปริมาณนิโคตินในผลิตภัณฑ์บุหรี่และยาสูบด้วย เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ “สังคมปลอดควันบุหรี่” ภายในปี 2025 และการปลูกฝังค่านิยม “เด็กรุ่นใหม่ปลอดควันบุหรี่” ภายในปี 2027

อายีชา เวอร์เรลล์ (Ayesha Verrall) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “คนหลายพันคนจะมีอายุยืนยาวขึ้นและสุขภาพแข็งแรงขึ้น ขณะที่ระบบสุขภาพจะประหยัดเงินได้ถึง 5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 174,000 ล้านบาท) จากการที่ไม่ต้องรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เช่น มะเร็งหลายชนิด ภาวะหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบ และการตัดอวัยวะ

 “เราต้องการสร้างหลักประกันว่าคนหนุ่มสาวจะไม่เริ่มสูบบุหรี่ ดังนั้นเราจะออกกฎหมายให้การขายหรือจัดหาผลิตภัณฑ์ยาสูบให้กับกลุ่มเยาวชนถือเป็นความผิด ผู้ที่มีอายุ 14 ปี (เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้) จะไม่สามารถซื้อยาสูบได้อย่างถูกกฎหมาย”

เวอร์เรลล์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การสูบบุหรี่ในนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราผู้สูบบุหรี่ต่ำที่สุดในโลก กำลังลดลง โดยนิวซีแลนด์มีสัดส่วนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 9.4% เป็น 8% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ยังระบุอีกว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้จะช่วยลดช่องว่างของอายุขัยเฉลี่ยระหว่างชนชาติเมารีและผู้ที่ไม่ใช่ชาวเมารี ซึ่งมีสูงถึง 25% ในผู้หญิง

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ อัตราการสูบบุหรี่ของนิวซีแลนด์ในขณะนี้มีต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึก โดยนิวซีแลนด์มีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 56,000 คนที่ตัดสินเลิกสูบบุหรี่ในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ไม่ได้สั่งห้ามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าชาวนิวซีแลนด์หลายคนได้เปลี่ยนพฤติกรรมจากการสูบบุหรี่ปกติมาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดดังกล่าว โดยข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายนระบุว่า จำนวนผู้ที่สูบบุหรี่ปกติเป็นประจำทุกวันลดลงแตะที่ 8% จากระดับ 9.4% เมื่อปี 2021 ขณะที่ตัวเลขของผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำอยู่ที่ 8.3% เพิ่มขึ้นจากระดับของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 6.2%

ทางด้าน ส.ส.ที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้มองว่า มาตรการควบคุมดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาและอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เพราะคนจะหันไปหาของในตลาดมืดแทน ขณะที่ร้านค้าเล็กๆ ในชุมชนจะอยู่ไม่ได้ เพราะถูกห้ามขายบุหรี่

แม้จะมีข้อกังวล แต่หน่วยงานด้านสาธารณสุขจำนวนไม่น้อยออกมาแสดงความยินดีในความก้าวหน้าครั้งนี้ หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์พยายามอย่างจริงจังในการลดจำนวนนักสูบด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การออกแบบซองบุหรี่แบบเรียบ การออกคำเตือนข้างซองและขึ้นภาษียาสูบ

การผ่านกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงขั้นยกให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่คุมเข้มเรื่องยาสูบมากติดอันดับโลก เพราะผ่านกฎหมายที่ยังไม่มีชาติไหนกล้าทำ แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดมาก่อนหน้านี้ก็คือ ภูฏาน โดยเมื่อปี 2010 ทางการออกกฎหมายห้ามผลิต ห้ามขาย และห้ามแจกจ่ายยาสูบทั่วประเทศ

แต่ข้อห้ามเหล่านี้ก็ไม่สามารถขัดขวางนักสูบได้ โดยชาวภูฏานหันไปซื้อยาสูบที่ลักลอบขนมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย ก่อนที่ในปี 2020 รัฐบาลจะประกาศยกเลิกข้อห้ามดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และอนุญาตให้ขายยาสูบในร้านค้าของทางการได้ หลังจากพบว่ามีพ่อค้าที่ลักลอบขนยาสูบจากฝั่งอินเดียติดโควิด-19 ทำให้กังวลว่าการแพร่ระบาดจะลุกลามเข้ามาในประเทศ

ส่วนภูมิภาคอาเซียน ภูมิภาคนี้ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยอินโดนีเซียและลาว นอกจากจะมีตัวเลขนักสูบมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว ยังถือเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมยาสูบ เข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองอย่างมาก อ้างอิงจากดัชนีการแทรกแซงอุตสาหกรรมยาสูบโลกเมื่อปี 2021

แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ ชาติสมาชิกอาเซียนต่างตระหนักดีถึงผลกระทบของปัญหานี้ต่อระบบสาธารณสุข โดยพบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในอาเซียนประมาณ 5 แสนคน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายชาติพยายามเร่งหาทางออกผ่านการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดพื้นที่ห้ามสูบ และการออกแบบซองบุหรี่แบบเรียบ

ยาสูบถือเป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพของคนจำนวนไม่น้อยและทำให้หลายชาติต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่การแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยการผลักดันจากภาครัฐและความร่วมมือของภาคประชาสังคมไปพร้อมๆ กัน

ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า บุหรี่ถือเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งที่โลกเคยเผชิญมา โดยพบว่าการสูบบุหรี่ (รวมถึงบุหรี่มือสอง) คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 8 ล้านคนต่อปี

ที่มา :

dailynews : https://www.dailynews.co.th/news/1786972/

thestandard : https://thestandard.co/new-zealand-new-tobacco-law/

mcot : https://tna.mcot.net/world-1074891

thairath : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2577161

thaipbs : https://www.thaipbs.or.th/news/content/322542

voicetv : https://voicetv.co.th/read/KSfNzQAwb

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ