White Channel

ป้ายควรบริโภคก่อน ทำคนทิ้งอาหารเกินความจำเป็น

เกิดอะไรในโลก : ป้าย “ควรบริโภคก่อน” ทำคนทิ้งอาหารเกินความจำเป็น

หนึ่งในปัญหาของขยะอาหาร คือ ฉลากวันที่บนผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ผลิตได้ใช้ป้ายลักษณะนี้มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ

ป้ายที่ระบุ “ใช้งานก่อน” หรือ “use by” และป้าย “ควรบริโภคก่อน” หรือ “best before” คือ หลักปฏิบัติที่ผู้ผลิตนิยมเลือกใช้เพื่อประเมินวันที่อาหารนั้น ๆ มีความสดที่สุดสำหรับการบริโภค

ขณะที่ ป้ายแบบแรกคือ ป้าย สำหรับอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม ขณะที่ ป้ายแบบที่สองนั้นให้ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยจากการบริโภคเลย แต่ก็อาจทำให้หลายคนโยนอาหารทิ้ง แม้ว่าสิ่งนั้นอาจจะยังบริโภคได้ก็ตาม

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของสหราชอาณาจักร อย่างเช่น Waitrose, Sainsbury’s และ Marks & Spencer ได้ทำการถอดฉลาก “ควรบริโภคก่อน” ออกจากผลิตภัณฑ์ประเภทผักและผลไม้ที่บรรจุหีบห่อแล้ว ขณะที่มีการคาดกันว่า สหภาพยุโรปจะประกาศปรับปรุงกฎหมายการติดฉลากภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งกำลังพิจารณาการยกเลิกฉลาก “ควรบริโภคก่อน” ด้วย

ส่วนที่ประเทศสหรัฐฯ ยังไม่มีการผลักดันให้ยกเลิกฉลาก “ควรบริโภคก่อน” แต่มีแรงหนุนจากบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ บริษัทด้านอาหาร รวมถึงสภาคองเกรส ในการสร้างมาตรฐานภาษาบนฉลากวันที่เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อสินค้าตระหนักถึงปัญหาขยะอาหารอยู่

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติประเมินว่า 17% ของการผลิตอาหารทั่วโลกต้องสูญเปล่าในแต่ละปี โดยส่วนใหญ่มาจากระดับครัวเรือน

ทางด้าน ReFED องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งเน้นเรื่องขยะอาหาร ชี้ว่า ในอเมริกามีอาหารมากถึง 35% ที่ไม่ถูกบริโภค ซึ่งนับเป็นการสูญเสียพลังงานอย่างมหาศาล ที่รวมถึง น้ำ ที่ดิน และแรงงานในขั้นตอนการผลิตอาหาร อีกทั้งยังก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง เมื่อนำขยะอาหารไปฝังกลบ

ReFED ยังประมาณการว่า 7% ของขยะอาหารในสหรัฐฯ หรือราว 4 ล้านตันต่อปี เกิดจากความสับสนของผู้บริโภค ที่มีต่อฉลาก “ควรบริโภคก่อน”

📌 ความเป็นมาของฉลาก

ในปี 1970 ฉลากวันที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นการตอบคำถามให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องความสดใหม่ของสินค้า และรัฐบาลกลางไม่มีการบังคับใช้กฎเกณฑ์ใด ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดได้ว่า สินค้าของตนจะมีอายุจนถึงเมื่อใด เว้นแต่สินค้าอาหารสำหรับทารกที่ต้องแสดงวันหมดอายุ

เมื่อปี 2019 สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ที่กำกับดูแล 80% ของตลาดอาหารในประเทศ ได้แนะนำให้ผู้ผลิตใช้ฉลาก “คุณภาพเยี่ยมหากบริโภคก่อน” หรือ “best if used by” เพื่อแสดงถึงความสดใหม่ และฉลาก “ใช้งานก่อน” หรือ “use by” สำหรับอาหารสดที่เน่าเสียได้ ซึ่งตามการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีความเข้าใจในฉลากทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม ภาษาบนฉลากมีความหลากหลายอย่างมาก ตั้งแต่ “ขายก่อนวันที่” (sell by) “บริโภคได้ดีก่อนวันที่” (enjoy by) หรือ “สดที่สุดก่อนวันที่” (freshest before) และการสำรวจในเดือนมิถุนายนของทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยแห่งแมริแลนด์ พบว่า มีการใช้ป้ายแสดงวันที่อย่างน้อย 50 รูปแบบในร้านขายปลีกสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับกลุ่มผู้บริโภคไม่น้อย

📌 ความเชื่อที่เข้าใจกัน

ริชาร์ด ลิปซิท เจ้าของร้านค้าปลีก Grocery Outlet ในเมืองเพลสเซนตัน รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่า ถ้าฉลากระบุ ‘ขายก่อนวันที่’ ‘ควรบริโภคก่อนวันที่’ หรือ ‘หมดอายุวันที่’ เราไม่สามารถทานได้หลังจากนั้น ซึ่งในความเป็นจริงไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด อย่างเช่น นมที่ฉลากระบุใช้งานก่อนวันที่ (use by) ยังสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยหลังจากนั้นสูงสุด 1 สัปดาห์”

เดนา กันเดอร์ส กรรมการบริหารขององค์กร ReFED ชี้ว่า สินค้ากระป๋องและอาหารบรรจุหีบห่อต่าง ๆ สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยเป็นเวลาหลายปีหลังจากวันที่ระบุบนฉลาก “ควรบริโภคก่อน” โดยทาง FDA แนะนำให้ผู้บริโภคสังเกตสี และเนื้อสัมผัสของอาหาร เพื่อตัดสินว่า ยังเหมาะสำหรับการบริโภคหรือไม่

กันเดอร์ส อธิบายว่า “ร่างกายของมนุษย์ สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนเน่าเสียและกินไม่ได้” พร้อมชี้ว่า “คนเราไม่วางใจในการรับรู้ของร่างกาย แต่กลับไปเชื่อวันที่ที่อยู่ฉลากแทนแล้ว”

ธุรกิจบางแห่งในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงบริษัท Walmart ได้ทำการเปลี่ยนฉลากกำกับสำหรับสินค้าของตนเอง มาเป็น “ควรบริโภคก่อน” และ “ใช้งานก่อน” ตามมาตรฐาน ซึ่งสมาคม Consumer Brands Association ที่มีบริษัทอาหารขนาดใหญ่เข้าร่วม อย่างเช่น General Mills และ Dole สนับสนุนให้บริษัทสมาชิกใช้ฉลากเหล่านั้น

เคที เดนิส รองประธานฝ่ายการสื่อสารของสมาคม Consumer Brands Association ให้ความเห็นว่า “รูปแบบที่เป็นมาตรฐาน ช่วยให้ง่ายขึ้นสำหรับการผลิต รวมถึงทำให้ราคาต่าง ๆ ถูกลง”

📌 การสนับสนุนจากภาครัฐ

การที่ไม่มีนโยบายของรัฐบาลกลางในเรื่องนี้ ทำให้รัฐต่างๆ บังคับใช้กฎหมายของตนเองแทน ซึ่งทำให้บริษัทอาหารและร้านค้าต่าง ๆ มีปัญหาพอควร

เอมิลี บรอด ลีบ ผู้อำนวยการ Food Law and Policy Clinic หรือ FLPC จาก Harvard Law School ยกตัวอย่างรัฐที่ใช้กฏหมายของตนเอง อย่างเช่น รัฐฟลอริดาและรัฐเนวาดา ซึ่งกำหนดให้ระบุวันที่ “ขายภายใน” สำหรับอาหารทะเลที่มีเปลือกและผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนรัฐแอริโซนากำหนดให้ระบุวันที่ “ควรบริโภคก่อน” หรือ “ใช้งานก่อน” กับสินค้าไข่ไก่ เป็นต้น

ความสับสนดังกล่าวทำให้ ในปัจจุบันนี้ บางบริษัท เช่น ยูนิลีเวอร์ สนับสนุนร่างกฎหมายที่กำลังมีการพิจารณาในสภาคองเกรส และจะกำหนดมาตรฐานของฉลากบอกวันที่ในสหรัฐฯ เพื่อเป็นการรับรองว่า อาหารสามารถบริจาคให้กับองค์กรกู้ภัยต่าง ๆ ได้ แม้จะผ่านวันที่ระบุไว้ บนฉลากไปแล้วก็ตาม

ผู้อำนวยการของ FLPC ชี้ว่า ปัจจุบันนี้มีอย่างน้อย 20 รัฐ ที่ห้ามการขายหรือบริจาคอาหาร หลังจากวันที่ที่ระบุไว้บนฉลาก เนื่องจากความกลัวด้านความรับผิดที่อาจจะเกิดขึ้น

 

 

 

 

ที่มา :
voa : https://www.voathai.com/a/best-before-labels-scrutinized-as-food-waste-concerns-grow/6790430.html
ibusiness : https://ibusiness.co/detail/9650000097096

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ