พาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในโลก มีความหมายอย่างไรต่อการเงินที่เป็นรูปธรรม – White Channel

White Channel

พาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในโลก มีความหมายอย่างไรต่อการเงินที่เป็นรูปธรรม

เกิดอะไรในโลก : พาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในโลก มีความหมายอย่างไรต่อการเงินที่เป็นรูปธรรม ?

ดัชนีพาสปอร์ตเฮนลีย์ (Henley Passport Index) จัดอันดับพาสปอร์ตที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี 2023 โดยพิจารณาจากจุดหมายปลายทางที่ผู้ถือพาสปอร์ตสามารถเดินทางไปได้โดยไม่ต้องวีซ่า (Visa Free) หรือขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival)

ตำแหน่งแชมป์พาสปอร์ตทรงอิทธิพลในปีนี้ ยังคงเป็น “ญี่ปุ่น” ที่ครองตำแหน่งนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยจาก 227 ประเทศ/พื้นที่ทั่วโลก ผู้ถือพาสปอร์ตญี่ปุ่นสามารถเดินทางไปยังปลายทางโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้ถึง 193 ประเทศ/พื้นที่

อย่างไรก็ตาม แม้หนังสือเดินทางญี่ปุ่นจะทรงอิทธิพลที่สุดในโลก แต่ไม่ได้หมายความการใช้งานจะแพร่หลาย แม้หลังจากการเดินทางระหว่างประเทศกลับมาแล้วหลังโควิด-19ตามข้อมูลที่ปรากฎกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ชี้ว่า ณ สิ้นปี 2021 มีผู้ถือหนังสือเดินทางญี่ปุ่นที่ยังไม่หมดอายุเพียง 24 ล้านฉบับเท่านั้น ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้ามากกว่า 3 ล้านฉบับ หรือมีประชากรน้อยกว่า 20% ที่ถือหนังสือเดินทางนี้

รองลงมาในอันดับที่ 2 เป็นพาสปอร์ตสิงคโปร์และเกาหลีใต้ เดินทางไปได้แบบฟรีวีซ่า 192 ประเทศ ส่วนอันดับ 3 คือเยอรมนีและสเปน 190 ประเทศ ขณะที่อดีตแชมป์เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอย่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 6 และ 7 ตามลำดับ สามารถเดินทางสู่จุดหมายได้ 187 และ 186 ประเทศตามลำดับ สำหรับประเทศไทยปีนี้ ครองอันดับที่ 68 ร่วมกับเบลารุส (จากทั้งหมด 109 อันดับ) ผู้ถือพาสปอร์ตของสองประเทศนี้ สามารถเดินทางเยือน 78 ประเทศในโลกได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า

ด้านรัสเซียรั้งอันดับ 49 โดยผู้ถือพาสปอร์ตเข้าถึงจุดหมายโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้ 118 แห่ง ส่วนยูเครนอยู่ที่อันดับ 36 ด้วยจุดหมาย 144 แห่ง นอกจากนี้ ยูเครนยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ไต่อันดับมากที่สุดในดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ ด้วยการไต่ขึ้นมา 24 อันดับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่ายูเครนอาจติด 10 อันดับพาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในโลกหากได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

รายงานยังระบุด้วยว่า พาสปอร์ตของประเทศรัฐอ่าวอาหรับทรงอิทธิพลมากขึ้นในปี 2023 โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่ไต่อันดับขึ้นถึง 49 อันดับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากที่เคยอยู่อันดับ 64 ในปี 2013 เดินทางแบบไม่ต้องขอวีซ่าไปยังจุดหมายได้ 72 ประเทศ ล่าสุดยูเออีพุ่งขึ้นไปอยู่อันดับ 15 ในปัจจุบัน สามารถเยือนจุดหมายปลายทาง 178 ประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า

ขณะที่พาสปอร์ตที่ทรงอิทธิพลน้อยที่สุดในโลก เป็นของ “อัฟกานิสถาน” ผู้ถือสามารถเดินทางไปยังประเทศ/พื้นที่ต่าง ๆ โดยไม่ต้องขอวีซ่าได้เพียง 27 แห่งเท่านั้น น้อยกว่าอันดับ 1 อย่างญี่ปุ่นถึง 166 แห่ง หรือ 7 เท่า! นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีพาสปอร์ตเฮนลีย์ขึ้นมาเมื่อ 18 ปีก่อนที่อันดับ 1 และอันดับสุดท้ายของดัชนีมีความต่างกันมากถึงขนาดนี้

ดร.คริสเตียน เอช. เคลิน ประธานเฮนลีย์ แอนด์ พาร์ตเนอร์ส หน่วยงานผู้จัดทำดัชนี กล่าวว่า การเดินทางโดยไม่ต้องขอวีซ่ากับการเข้าถึงเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกันอย่างยิ่ง โดยมีงานวิจัยล่าสุดที่เผยให้เห็นว่า อำนาจหรืออิทธิพลของพาสปอร์ตมีความหมายอย่างไรต่อการเงินที่เป็นรูปธรรม

“สำหรับพลเมืองโลก วิธีการวัดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจและโอกาสทางการเงินอันเป็นผลมาจากพาสปอร์ตก็คือ การดูสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลกของประเทศที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า” เคลินกล่าว

ผลการศึกษาใหม่ล่าสุดจากเฮนลีย์ แอนด์ พาร์ตเนอร์ส เผยให้เห็นว่า มีพาสปอร์ตเพียง 6% ทั่วโลกเท่านั้น ที่ทำให้ผู้ถือเข้าถึงประเทศที่มีจีดีพีคิดเป็น 70% ของเศรษฐกิจโลกได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า และมีพาสปอร์ตเพียง 17% ที่ทำให้ผู้ถือเดินทางสู่จุดหมายได้เกิน 4 ใน 5 ของจุดหมายทั่วโลกได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า

ผู้ถือพาสปอร์ตของญี่ปุ่นสามารถเดินทางไปยัง 85% ของประเทศ/พื้นที่ทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า และประเทศเหล่านี้มีจีดีพีคิดเป็น 98% ของจีดีพีเศรษฐกิจโลก (ใน 98% นี้มีสัดส่วนที่เป็นจีดีพีของญี่ปุ่นด้วย อยู่ที่ราว 5%)

ในทางกลับกัน พาสปอร์ตของอัฟกานิสถานซึ่งอยู่อันดับรั้งท้าย ทำให้พลเมืองเข้าถึงจุดหมายโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้เพียง 12% ของประเทศ/พื้นที่โลก และจุดหมายเหล่านี้มีสัดส่วนในจีดีพีโลกน้อยกว่า 1%

การที่พาสปอร์ตสามารถทำให้ผู้ถือเดินทางไปยังประเทศที่มีสัดส่วนสำคัญในจีดีพีโลกนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะประเทศเหล่านั้นมักมีเศรษฐกิจที่เสถียร จึงถือเป็นการลดความเสี่ยงเฉพาะของประเทศหรือเขตอำนาจศาลสำหรับบรรดานักลงทุนที่ถือพาสปอร์ตที่มีอิทธิพล

ดร.อารีฟ สุเลมาน ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยเศรษฐกิจและสถิติ สถาบันธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (Islamic Development Bank Institute) กล่าวว่า “โดยทั่วไปแล้ว การเข้าถึงผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้มากขึ้นนับเป็นข้อได้เปรียบ เนื่องจากเป็นการช่วยขยายตะกร้าสินค้าที่แต่ละบุคคลสามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าสิ่งนี้จะสามารถทำได้ด้วยการค้าระหว่างประเทศ แต่การเดินทางไปเข้าถึงตลาดด้วยตัวเองนั้นดีกว่ามาก”

ในแง่สัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลก สหรัฐอเมริกาและจีนมีส่วนแบ่งมากที่สุดที่ 25% และ 19% ตามลำดับ แต่ผู้ถือพาสปอร์ตของอเมริกาเข้าถึงได้อีก 43% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า ทำให้มีสัดส่วนโดยรวมคิดเป็น 68% ขณะที่ผู้ถือพาสปอร์ตจีนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเพิ่มอีกเพียง 7% ทำให้มีสัดส่วนโดยรวมคิดเป็นเพียง 26% ของจีดีพีโลก

ด้าน ศาสตราจารย์ เทรเวอร์ วิลเลียมส์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของลอยด์ส แบงก์ คอมเมอร์เชียล แบงกิ้ง ระบุว่า งานวิจัยของเฮนลีย์ฯ พิสูจน์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผลระหว่างความสามารถในการเดินทาง กับการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศใดประเทศหนึ่ง การค้าที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

“ความเชื่อมโยงเหล่านี้ช่วยหนุนซึ่งกันและกัน ผู้ที่มีทักษะและความสามารถจะสามารถไปในที่ที่ทำงาน ลงทุน และท่องเที่ยวได้ง่าย ซึ่งดึงดูดให้ผู้อื่นต้องการทำเช่นเดียวกันและสร้างวงจรที่ดีขึ้นมา” เขากล่าว

การจัดอันดับเผยแพร่โดย Henley & Partners ที่ปรึกษาด้านการย้ายถิ่นฐานในลอนดอน ใช้ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) เพื่อจัดอันดับการเข้าถึง 227 จุดหมายปลายทางของหนังสือเดินทาง 199 เล่ม ซึ่งวิธีการนี้แตกต่างจากดัชนีหนังสือเดินทางอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่เผยแพร่โดยที่ปรึกษาทางการเงิน Arton Capital ซึ่งทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ในหัวแถว

การสำรวจความคิดเห็นของ Morning Consult ที่จัดทำขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า 35% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้ใหญ่ในญี่ปุ่นระบุว่าพวกเขาไม่ได้วางแผนที่จะเดินทางเพื่อการพักผ่อนอีก ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ อีก 13 ประเทศที่ทำการสำรวจ รองลงมาคือเกาหลีใต้ โดย 15% พูดแบบเดียวกัน

จากข้อมูลขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่นระบุว่ามีผู้คนเกือบ 2 ล้านคนเดินทางไปต่างประเทศจากประเทศญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2022 ซึ่งถือว่าห่างไกลจากจำนวน 20 ล้านคนที่เดินทางในปี 2019 ก่อนการระบาดของโควิด-19

ที่มา :

pptvhd : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/188127

prachachat : https://www.prachachat.net/world-news/news-1173212

tnnthailand : https://www.tnnthailand.com/news/world/135682/

thansettakij : https://www.thansettakij.com/world/552811

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ