ระบอบอำนาจนิยมดิจิทัลอิหร่าน และความท้าทายหลังการประท้วงของคนรุ่นใหม่ – White Channel

White Channel

ระบอบอำนาจนิยมดิจิทัลอิหร่าน และความท้าทายหลังการประท้วงของคนรุ่นใหม่

ระบอบอำนาจนิยมดิจิทัลอิหร่าน และความท้าทายหลังการประท้วงของคนรุ่นใหม่

เกิดอะไรในโลก : ระบอบอำนาจนิยมดิจิทัลอิหร่าน และความท้าทายหลังการประท้วงของคนรุ่นใหม่

ระบอบอำนาจนิยมดิจิทัลของอิหร่านซึ่งถูกพัฒนามาตลอด 20 ปีเพื่อสร้าง ‘อินเตอร์เน็ต’ ด้วยการติดตั้งระบบสอดแนมและควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ตอย่างเข้มงวด กำลังเผชิญกับบททดสอบจากการประท้วงใหญ่ของคนรุ่นใหม่ซึ่งก้าวเข้าสู่เดือนที่ 3 หลังการเสียชีวิตของ หญิงชาวเคิร์ดในอิหร่าน

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ‘มาห์ซา อามินี’ หญิงชาวเคิร์ดในอิหร่านอายุ 22 ปี เสียชีวิตขณะอยู่ในการควบคุมตัวของ “ตำรวจศีลธรรม” ของรัฐบาลสาธารณรัฐ ก่อนการเสียชีวิตเธอถูกควบคุมตัวในข้อหาฝ่าฝืนระเบียบการแต่งกายของรัฐบาล การเสียชีวิตของเธอนำไปสู่การประท้วงทั่วประเทศและขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่เดือนที่ 3 มีผู้เข้าร่วมประท้วงทั้งหมดประมาณ 90,000 คน

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิหร่านเคยเกิดขึ้นในปี 2009, 2017-2018, และ 2019 อย่างไรก็ตาม การประท้วงครั้งนี้ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นหญิงเยาวชน และกลุ่มประชากรที่อายุน้อยกว่า 25 ปี แสดงความโกรธออกมาในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการประท้วงครั้งนี้ใหญ่พอจะโค่นล้มรัฐบาลอิหร่านได้เลยทีเดียว ทว่า รัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงเช่นกัน

ข้อมูลล่าสุด (16 ก.ย.) พบว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 456 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 1,160 คน ข้อมูลเมื่อปลายเดือน ต.ค. ระบุว่ามีผู้ถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 12,500 คน ขณะที่ตัวเลขการสูญเสียเพิ่มขึ้น หลายฝ่ายก็จับตาไปที่ความสามารถของรัฐบาลอิหร่านในการสอดแนมและควบคุมข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ รัฐบาลอิหร่านมีความคืบหน้าในการพัฒนา “อินเตอร์เน็ตแห่งชาติ” อย่างมีนัยสำคัญในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

📌 ‘กฎหมายคุ้มครองผู้ใช้’

เมื่อ ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านได้เสนอ “ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้” ซึ่งเป็นการออกกฎหมายลิดรอนสิทธิ เพื่อจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ และละเมิดสิทธิของพลเมืองชาวอิหร่าน หนึ่งในบทบัญญัติของร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า หากแพลตฟอร์มไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการลบหรือปรับแก้เนื้อหา คณะธรรมาธิการผู้รับผิดชอบด้านการกำหนดลักษณะเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม มีสิทธิที่จะแบนแพลตฟอร์มได้โดยไม่ต้องแจ้งเตือนก่อน อีกมาตราหนึ่งบัญญัติว่าแพลตฟอร์มใดที่ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอิหร่าน จะต้องถูกลงโทษด้วยการลดความเร็วสัญญาณอินเตอร์เน็ต (bandwidth throttling) โดยรัฐบาลอิหร่านเคยใช้การลดความเร็วสัญญาณอินเตอร์เน็ตมาแล้วในอดีต แต่นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอิหร่านบรรจุวิธีการลักษณะนี้ไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติที่สำคัญที่สุดของร่างกฎหมายฉบับนี้คือนำอินเตอร์เน็ตเกตเวย์และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ไปอยู่ในการควบคุมของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลอิหร่านโดยตรง ซึ่งทำให้รัฐบาลมีเครื่องมือที่ทรงพลังในการบล็อกเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น สอดแนมผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ดำเนินการตัดสัญญาณหรือลดสัญญาณความเร็วอินเตอร์เน็ต ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกวิจารณ์ฮิวแมนไรส์วอช และNGOอีกมากกว่า 50 แห่ง เนื่องจากอินเตอร์เน็ตเป็นเพียงไม่กี่วิธีที่องค์กรสิทธินอกอิหร่านจะสามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษชนและการลิดรอนสิทธิรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศได้

📌 พันธมิตรผู้สนับสนุน

อิหร่านได้รับการสนับสนุนจากจีนในการพัฒนาระบบสอดแนมและควบคุมข้อมูล นอกจากจีนจะเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมดิจิทัลแล้ว ยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอิหร่านด้วย ในช่วงต้นปี 2012บริษัท ZTE ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเซินเจิ้น ได้ลงนามข้อตกลงและมอบเทคโนโลยีค้นหาพิกัดของผู้ใช้สมาร์ทโฟน ดักฟังบทสนทนาทางโทรศัพท์ และเข้าถึงข้อความการสนทนาและอีเมลของผู้ใช้ให้แก่รัฐบาลอิหร่าน บริษัท ZTE ร่วมมือกับ TCI

บริษัทกึ่งเอกชนที่มีสายสัมพันธ์กับกองพิทักษ์การปฏิวัติ (IRGC) กองกำลังพิเศษระดับหัวกะทิของอิหร่าน ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีความสนิทสนมกับนักการศาสนาระดับสูงในรัฐบาลอิหร่าน

เมื่อ มิ.ย. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า Tiandy บริษัทของจีนที่ผลิตกล้องวงจรปิดและเทคโนโลยีสอดแนมอื่นๆ เชื่อกันว่าขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง ให้กับตำรวจและกองพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ซึ่งกำลังปฏิบัติการจำกัดลิดรอนสิทธิในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในภาพรวมแล้ว การขายเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือที่ใหญ่กว่าระหว่างจีนและอิหร่าน โดยที่ผ่านมาจีนใช้บริษัทนายหน้าขนาดเล็กเป็นผู้นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านและสร้างรายได้แก่กว่า 22 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ นับตั้งแต่โจ ไบเดน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ความร่วมมือที่ว่านี้ช่วยให้อิหร่านหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตร

นอกจากจีนแล้ว อิหร่านยังมีความร่วมมือกับรัสเซียเพิ่มขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากรายงานข่าวที่รัสเซียใช้โดรนของอิหร่านในการรุกรานยูเครนในช่วงที่ผ่านมา ในช่วง 18 เดือนให้หลังมานี้รัสเซียและอิหร่านได้ร่วมมือกันในการเปิดตัวและปฏิบัติการดาวเทียม ที่ออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการสอดแนมด้วย นักวิเคราะห์มองว่ารัสเซีย จีนและอิหร่านใช้โมเดลแบบเดียวกันในการสร้าง ‘อินเตอร์เน็ตแห่งชาติ’ เป็นระบบนิเวศน์เล็กๆ ของตัวเองแยกออกมาจากระบบอินเตอร์เน็ตทั่วโลก การทำเช่นนี้ทำให้เกิดกฎระเบียบด้านอินเตอร์เน็ตที่เป็นมาตรฐานเดียวกันน้อยลง และอาจส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพทางด้านดิจิทัลในภาพรวม

📌 อำนาจนิยมไฮเทค

กองกำลังความมั่นคงของสาธารณรัฐอิหร่าน มีความสามารถในการปฏิบัติการเผยแพร่ข้อมูลข่าวเท็จอย่างมาก โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้ฟังชาวต่างชาติ รายงานของ Citizen Lab ในปี 2019 พบว่ารัฐบาลอิหร่านสร้าง “สายพานการส่งข้อมูลเท็จ” ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2016

รัฐบาลอิหร่านยังมีความสามารถในการจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้จำนวนมาก เช่น ยูทูป อเมซอน นิวยอร์กทามส์ วิกิพีเดีย และเว็บไอเอ็มดีบี ซึ่งเป็นฐานข้อมูลภาพยนตร์ออนไลน์ด้วย โดยเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นมานับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรศที่ ค.ศ. 2000 หลังการประท้วงใหญ่ในปี 2009 รัฐบาลอิหร่านได้ทำการจำกัดการเข้าถึงเฟสบุ๊ค และเมื่อมีการประท้วงต้านรัฐบาลอีกในปี 2018ก็มีการสั่งบล็อกแอปพลิเคชั่นส่งข้อความและเครือข่ายอื่นๆ อีก ส่งผลให้แอปพลิเคชั่นจากตะวันตกที่มีชื่อเสียงและมีผู้ใช้แพร่หลายถูกแบนอิหร่านทั้งหมด

รัฐบาลอิหร่านพยายามควบคุมโลกดิจิทัลด้วยวิธีการที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การกำหนดเป้าหมายของการสอดแนมเฉพาะเจาะจงขึ้น รวมถึง การเพิ่มระดับการสอดส่องและควบคุมข้อมูลในช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อน (เช่น ช่วงการเลือกตั้ง) และผ่อนปรนมาตรการเหล่านี้ลงในภาวะปกติ แต่ชาวอิหร่านที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลก็มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีสูงขึ้นเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการใช้โปรแกรม Psiphon, Lanter, และ Tor เพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบข้อห้ามที่กำหนดโดยรัฐบาลอิหร่าน เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลอิหร่านได้พยายามเปิดตัวแอปพลิเคชั่นสนทนาข้อความของตัวเองชื่อว่า Sorouch ทว่ากลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากแอปดังกล่าวถูกควบคุมและเฝ้าติดตามโดยรัฐบาลอิหร่าน

การปิดอินเตอร์เน็ต ทั้งแบบปิดทั้งหมดและปิดบางส่วน เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลใช้เพื่อปิดปากผู้เห็นต่างและตัดกำลังของการประท้วงและการชุมนุม ในปี 2018 พบว่าการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดหลังการประท้วงในปี 2009นำไปสู่การสั่งปิดอินเตอร์เน็ตโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลอิหร่าน ในปี 2021 ที่มีการประท้วงเกิดขึ้นในจังหวัดฆูเซสถานพบว่ารัฐบาลอิหร่านได้ปิดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในเมืองที่สำคัญของจังหวัด และลดความเร็วในส่วนอื่นๆ ของจังหวัดด้วย

นับตั้งแต่การประท้วงครั้งใหญ่เมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมา ประชากรอิหร่านเกือบทุกคนเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้อินเตอร์เน็ตไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง มีการปิดอินเตอร์เน็ตอย่างยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมภายในประเทศอย่างมาก เพื่อตอบโต้มาตรการของรัฐบาลอิหร่าน แอปพลิเคชั่น Signal กำลังแสดงความสนใจที่จะรักษาการเข้าถึงแอปพลิเคชั่นของตนเองภายในอิหร่าน ขณะที่สตาร์ลิงค์ โครงการอินเตอร์เน็ตดาวเทียมของอีลอน มัสก์ ก็สามารถเข้าถึงได้ภายในประเทศอิหร่านด้วย แม้ว่าจะเผชิญกับข้อจำกัดหลายอย่างก็ตาม

เครื่องมืออีกด้านหนึ่งของรัฐบาลอิหร่านคือการสอดแนมและการเก็บข้อมูล ซึ่งพัฒนาขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปลายปี 2010 เมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านประกาศจะนำเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้ามาใช้ในระบบปฏิบัติการของกระทรวงต่างๆ มูฮัมหมัด ซาเลห์ ฮาเชมี โกลพาเยกานี ผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการเพื่อการส่งเสริมคุณธรรมและการป้องกันบาปของรัฐบาลอิหร่าน ประกาศว่าจะใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าในการระบุตัวตนของผู้หญิงฝ่าฝืนกฎระเบียบ

เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ทำให้ระบบสอดแนมของรัฐที่ซับซ้อนและทรงพลังได้รับการส่งเสริมมากขึ้นอีก หลังจากระบบเหล่านี้ถูกจัดตั้งมาตั้งแต่ทศวรรษที่ ค.ศ. 1980 ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านสามารถหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรจากโลกตะวันตกมาได้โดยตลอด และได้รับเทคโนโลยีสอดแนมจากจีน ประเทศหลายประเทศในยุโรป อิสราเอล รวมถึงระบบต่างๆ ของ Blue Coat บริษัทลูกของ Symantec ที่มีสำนักงานในแคลิฟอร์เนีย

📌 การประท้วงคือบททดสอบ

แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการประท้วงในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางมากพอจะโค่นล้มรัฐบาลชองอิหร่านได้ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อิหร่านมีการประท้วงใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาว่าอิหร่านตกเป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงระบอบจากสหรัฐอเมริกา และกลุ่มชาวอิหร่านพลัดถิ่นในยุโรปและอเมริกาเหนือมาโดยตลอด จึงไม่สามารถล่วงรู้ได้หรือว่าการประท้วงในปัจจุบัน ได้รับความนิยมและขยายตัวเป็นวงกว้างมากน้อยเพียงใด และสื่อตะวันตกรายงานสถานการณ์การประท้วงในอิหร่านแม่นยำมากเพียงใด

แม้การประท้วงในครั้งนี้กำลังก้าวเข้าสู่เดือนที่ 3 และขยายวงกว้างออกไปทั่วประเทศ โดยเริ่มจากแคว้นเคอร์ดิชในภาคตะวันตก ทว่าในภาพรวมยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลยังได้รับการสนับสนุนในระดับมากน้อยเพียงใด และประชากรในอิหร่านสนับสนุนการประท้วงในอัตราส่วนมากน้อยเพียงใด ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและขีดความสามารถทางเทคโนโลยี แม้รัฐบาลอิหร่านจะถูกคว่ำบาตรจากโลกตะวันตก แต่ก็ยังได้รับสนับสนุนจากจีน และรัสเซีย ในอนาคตอิหร่านจะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรอำนาจนิยมในรูปแบบใดยังเป็นคำถามที่ยากจะคาดการณ์

แม้ว่ารัฐบาลอิหร่านจะแสดงให้เห็นแล้วว่ามีศักยภาพในการควบคุมอินเตอร์เน็ต แต่รัฐบาลอิหร่านก็ยังคงเปราะบางต่อการโจมตีของแฮกเกอร์ พันธมิตรอำนาจนิยมของอิหร่านก็เผชิญกับความท้าทายในการพัฒนา ‘อินเตอร์เน็ตแห่งชาติ’ ของตนเองเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หลังการรุกรานยูเครน รัฐบาล สื่อมวลชน แฮกเกอร์ และพลเมืองบนโลกอินเตอร์ในฝั่งยูเครนและโลกตะวันตก ได้พยายามใช้วิธีการที่สร้างสรรค์มากมายหลายอย่างเพื่อบอกเล่าความจริงเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามของวลาดิมีร์ ปูติน ให้ประชาชนในรัสเซียได้รับทราบ ขณะที่จีนเองก็เผชิญกับความท้าทายในลักษณะเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากเว็บไซต์ที่แนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงข้อห้ามต่างๆ ของรัฐบาลจีนบนโลกอินเตอร์เน็ต

ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่าความสามารถของรัฐบาลอิหร่านในการควบคุมอินเตอร์เน็ตจะมากน้อยแค่ไหน มีประสิทธิภาพเพียงใดนั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตากันต่อไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในบททดสอบที่รัฐบาลอิหร่านต้องเผชิญ ก็คือการประท้วงใหญ่ของคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้เรียกร้องเพื่อเสรีภาพอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา :

prachatai : https://prachatai.com/journal/2022/11/101512

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ