White Channel

รักษาสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ ทำไมป่วยมะเร็งปอด ระวังภัยเงียบฝุ่น PM 2.5

รักษาสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ ทำไมป่วยมะเร็งปอด ระวังภัยเงียบฝุ่น PM 2.5

SOCIAL : รักษาสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ ทำไมป่วยมะเร็งปอด ระวังภัยเงียบฝุ่น PM 2.5
.
เรื่องราวชีวิตของหมอหนุ่มวัย 28 ปี อนาคตไกล จนมาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย กระจายไปเยื่อหุ้มปอด ซึ่งเจ้าตัวได้เผยแพร่ทางเพจ “สู้ดิวะ” ทั้งที่ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี ไม่อดนอน ไม่สูบบุหรี่ กินอาหารสุขภาพ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ได้ทำให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงภัยเงียบ เพราะคนอายุน้อยยังเป็นมะเร็งปอดได้ จะต้องดูแลร่างกายไม่ให้ตกอยู่ในความเสี่ยง
.
ยิ่งขณะนี้หลายพื้นที่ของไทยประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีการสูดเข้าไปในปอดเหมือนตายผ่อนส่ง นอกจากเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดอุดตัน ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อมะเร็งปอด นั่นหมายความว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ก็สามารถป่วยมะเร็งปอดได้เช่นกัน
.
สอดคล้องกับข้อมูลของ รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะแต่ละปีจะมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้นจากหลายสาเหตุ อาทิ ไม่ได้สูบบุหรี่แต่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่ หรือผู้สัมผัสสารพิษในโรงงานแร่ใยหิน หรือมีกรรมพันธุ์อาจจะเกิดเป็นมะเร็งปอดขึ้นมาได้ รวมถึงถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1-1.4 เท่า
เนื่องจาก PM 2.5 เป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อเข้าไปโดยไม่รู้ตัวในหลอดลมจนถึงปอด จะทำให้เกิดการอักเสบ มีการกลายพันธุ์ของ DNA และ RNA หากร่างกายได้รับสาร PM 2.5 ในปริมาณมากและยาวนานเกินไป จะทำให้กลายเป็นมะเร็งปอดได้ ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดชนิดนี้ได้มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะคนภาคเหนือมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ส่วนคนที่สูบบุหรี่ เมื่อสูด PM 2.5 เข้าไปจะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดทวีคูณขึ้นเป็น 2 เท่า
.
ขณะที่ นพ.ศุกล ภักดีนิติ แพทย์ที่ปรึกษาด้านมะเร็งปอด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้ให้เห็นสถานการณ์มะเร็งปอดในปัจจุบัน จากสถิติปี 2564 พบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ เทียบกับมะเร็งปอดชนิดอื่นเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค ขึ้นอยู่กับสถานที่ อย่างเช่น ภาคเหนือจะเป็นอันดับ 1 ส่วนภาคอื่นจะเป็นอันดับ 2 อันดับ 3 แต่โดยรวมแล้วมะเร็งปอดอยู่อันดับ 2 ของประเทศไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอยู่ในอันดับ 2 เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ
.
ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด จากการวิจัยพบว่า อันดับ 1 คือ ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 10 มวนต่อวัน เป็นระยะเวลานาน ส่วนใหญ่มากกว่า 10 ปี หรือ 20 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนอื่นถึง 5 เท่า อันดับ 2 ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับแร่ใยหินในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือเหมืองแร่ สามารถก่อมะเร็งปอด หรือมะเร็งเยื่อหุ้มปอดได้ และหากสูบบุหรี่อีกยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 20 เท่าของคนทั่วไป
.
อันดับ 3 กลุ่มผู้ทำงานเกี่ยวกับก๊าซเรดอน ในเหมืองแร่ใต้ดินที่ขุดโลหะขึ้นมา อันดับ 4 กลุ่มคาร์บอนไดออกไซด์ ในควันรถยนต์ และในอุตสาหกรรมมีการเผาไหม้ใช้พลังงานสูงที่มีควันดำออกมา อันดับ 5 มลภาวะที่เป็นพิษในอากาศ
.
“ปัจจุบันเราเลี่ยงไม่ได้แน่นอน เพราะอุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น รถยนต์มีเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มควันดำ และการก่อสร้างใหม่จะต้องทุบของเก่า ซึ่งมีแร่ใยหิน ก๊าซเรดอน และอะไรต่างๆ มากมาย ร่วมกับสิ่งที่อยู่ภายในอีกที่เรียกว่าฝุ่นละออง PM 2.5 จะกระจายออกมาทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด”
.
วิธีการคัดกรองมะเร็งปอดที่ดีที่สุด คือ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง และถ้าอายุเกิน 40 ปี หรือ 45 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจ และจากสถิติเจอในกลุ่มอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นถ้าอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปีละครั้ง แต่มีค่าใช้จ่ายสูง อาจต้องตรวจสุขภาพประจำปีโดยถ่ายภาพเอกซเรย์นำมาเปรียบเทียบในปีต่อๆ มา ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงก็สามารถสงสัยได้ว่ามีความผิดปกติที่ปอด จะมีการส่งให้ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อยืนยันอีกครั้งหนึ่ง
.
สำหรับอาการและสัญญาณเตือนมะเร็งปอดโดยทั่วไปที่เจอมากสุดคือไอเรื้อรัง โดยเฉพาะคนที่ไอเป็นเดือนแล้วไม่หาย และไอเป็นเลือด เหนื่อยหอบมากผิดปกติ และเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ส่วนระยะที่ 3 และที่ 4 หรือระยะสุดท้าย ค่อนข้างจะรักษาด้วยการผ่าตัดไม่ได้แล้ว เพราะมะเร็งเข้าไปในหลอดลม และมีน้ำท่วมปอด
.
การรักษามะเร็งปอดแบ่งเป็นระยะ โดยระยะที่ 1 และ 2 รักษาด้วยการผ่าตัดเอามะเร็งออกไป และนำต่อมน้ำเหลืองในขั้วปอดไปตรวจว่ามีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ ส่วนการรักษาวิธีที่ 2 หากเลยระยะที่ 3 และที่ 4 จะรักษาโดยการให้ยาเคมีเป็นหลัก อาจร่วมกับการฉายรังสีรักษา แต่หากระยะที่ 1 และที่ 2 มีการตรวจพบการกระจายไปต่อมน้ำเหลือง หลังผ่าตัดเสร็จก็จะให้เคมีร่วมด้วย เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่
.
ขอบคุณ ไทยรัฐ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ