White Channel

วันมูหะมัดนอร์ มะทา สุภาพบุรุษการเมืองจากแดนใต้ ประธานรัฐสภาไทยเชื้อสายมุสลิมคนแรก

POLITICS : วันมูหะมัดนอร์ มะทา สุภาพบุรุษการเมืองจากแดนใต้ ประธานรัฐสภาไทยเชื้อสายมุสลิมคนแรก
.
บทความโดย thepeople เรื่อง: ชน บทจร
.
‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ หรือที่หลายคนคุ้นในชื่อ ‘วันนอร์’ ถูกเรียกเป็นสุภาพบุรุษนักการเมือง เคยเป็นประธานผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ยุคร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และถ้าเป็นคอการเมืองจะคุ้นกับชื่อกลุ่มวาดะห์
.
ความในใจของวันนอร์ กลายเป็น Quote of The Day ของวันนั้น มีการแชร์ต่อข้อความนี้ผ่านทุกแพลตฟอร์มโซเชียล ทำให้คนอยากรู้จักวันนอร์มากขึ้น
.
ยุคหนึ่ง ผู้คนจะจดจำชื่อ วันนอร์ ในฐานะแกนนำกลุ่มวาดะห์ และคนบางกลุ่มอาจมองเขาด้วยสายตาหวาดระแวงคลางแคลงสงสัย
ลึก ๆ แล้ว วันนอร์เป็นนักการเมืองตามระบบรัฐสภา ไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสายมุสลิม เหมือนเด่น โต๊ะมีนา และอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์
.
อย่างไรก็ตาม วันนอร์ ถือว่าเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีเชื้อสายมุสลิม
ผู้แทนหนุ่มมุสลิม
.
วันมูหะมัดนอร์ มะทา เดินทางไกลจากยะลา มาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ และเรียนจบปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนกระทรวงมหาดไทย
.
ในวัย 20 ปี วันนอร์ยึดอาชีพครูที่โรงเรียนอัตตรกียะห์ อิสลามมียะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่ อ.เมือง จ.นราธิวาส ก่อนจะขยับไปสอนหนังสือในวิทยาลัยครูสงขลา และไปเรียนปริญญาโท ครุศาสตรมหาบันทิต(บริหารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วกลับมาเป็นรองอธิการบดีวิทยาลัยครูสงขลา
.
ปี 2522 เกษม ศิริสัมพันธ์ แกนนำพรรคกิจสังคม กำลังมองหาดาวรุ่งทางการเมืองในต่างจังหวัด ก็ได้ชักชวนวันนอร์ ให้ลงสมัคร ส.ส.ยะลา และได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยแรก
.
ช่วงที่เป็น ส.ส.สมัยแรกในวัย 35 ปี วันนอร์ ได้ร่วมกับสมาชิกพรรคกิจสังคม พยายามให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2521 เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ถึง 4 ครั้ง ให้ผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง แต่ ส.ว.คัดค้าน จึงทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ
.
ความขัดแย้งระหว่างสภาล่างกับสภาสูง เป็นเหตุให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ตัดสินใจยุบสภาฯ เมื่อ 19 มีนาคม 2526 และกระทรวงมหาดไทยจัดให้มีการเลือกตั้ง 18 เมษายน 2526
.
วันนอร์ รู้สึกไม่พอใจอำนาจพิเศษเหนือรัฐธรรมนูญ จึงประท้วงด้วยการไม่ลงสมัคร ส.ส.ปี 2526 จนการเลือกตั้งปี 2529 วันนอร์ได้ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ยะลาอีกครั้ง และได้เป็น ส.ส.สมัยที่ 2 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
.
ยุควาดะห์รุ่งเรือง
หลังเลือกตั้งปี 2529 เด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานี พรรค ปชป. เล็งเห็นว่า มี ส.ส.ชายแดนใต้อยู่ในพรรคหลายคน จึงก่อตั้งกลุ่มเอกภาพหรือวาดะห์ เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
.
กลุ่มวาดะห์ยุคแรก ประกอบด้วย เด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานี, วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.ยะลา และอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.นราธิวาส
.
เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจาก ผบ.ทบ. มาตั้งพรรคความหวังใหม่ ได้เจรจากับกลุ่มวาดะห์ ให้เข้ามาร่วมงานการเมืองด้วยกัน และประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 โดยสวมเสื้อพรรคความหวังใหม่ ลงสนาม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปรากฏว่า กลุ่มวาดะห์ ได้ ส.ส. 7 ที่นั่ง และพรรค ปชป.ชวดเก้าอี้ ส.ส. ในชายแดนใต้ เป็นครั้งแรก
ช่วงรัฐบาลชวน รัฐบาลบรรหาร รัฐบาลชวลิต และรัฐบาลทักษิณ เป็นยุคทองของวาดะห์ ในสีเสื้อพรรคความหวังใหม่ แกนนำกลุ่มวาดะห์ได้เป็นรัฐมนตรีหลายคน
.
วันนอร์ เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย รัฐบาลชวน , รัฐมนตรีคมนาคม รัฐบาลบรรหาร และประธาน สภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา ช่วงที่พรรความหวังใหม่ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชวลิต
.
กลางปี 2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยุบพรรคความหวังใหม่ ควบรวมกับพรรคไทยรักไทย วันนอร์ได้เป็นรัฐมนตรีคมนาคม(รอบสอง) และรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐบาลทักษิณ
.
ปี 2547 ได้มีเหตุการณ์สำคัญ 3 กรณีในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ช่วงรัฐบาลทักษิณคือ กรณีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง, กรณีมัสยิดกรือเซะ และกรณีตากใบ
.
ไฟใต้ที่ลุกโชนอีกครั้ง ได้นำมาซึ่งวิกฤตศรัทธาต่อกลุ่มวาดะห์ สังกัดพรรคไทยรักไทย และคนชายแดนใต้ได้ลงโทษนักการเมืองกลุ่มนี้ ทำให้พ่ายแพ้เลือกตั้งติดต่อกันถึง 3 สมัยรวด
.

อวสานวาดะห์

ในยุคพรรคไทยรักไทย วันนอร์ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนเด่น โต๊ะมีนา และในการเลือก ส.ส.ปี 2548 ได้เกิดกระแสทักษิณฟีเวอร์ พรรคไทยรักไทยกวาดเก้าอี้ ส.ส.มาได้ 377 ที่นั่ง แต่สนามเลือกตั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มวาดะห์พ่ายแพ้ยับเยิน
.
ปี 2551 กลุ่มวาดะห์ ยังลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคพลังประชาชน คนชายแดนใต้ก็ยังไม่เลือกพรรคของทักษิณ พวกเขาสอบตกหมด
.
ปี 2554 แกนนำกลุ่มวาดะห์ นำโดย เด่น โต๊ะมีนา, อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนัจมุดดีน อูมา ไปร่วมกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตั้งพรรคมาตุภูมิ ส่วนวันนอร์ และน้องชายยังอยู่พรรคเพื่อไทย
.
ผลการเลือกตั้งปีนั้น ทีมของวันนอร์ ในสีเสื้อเพื่อไทย พ่ายแพ้หมด ส่วนกลุ่มวาดะห์ในสีเสื้อมาตุภูมิ ได้รับชัยชนะแค่คนเดียว
.
ปี 2561 วันนอร์ ได้ชวนอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนัจมุดดีน อูมา มาร่วมก่อตั้งพรรคประชาชาติ แม้การเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาชาติ จะได้ ส.ส. 6 คน แต่อดีต ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ก็ไม่ได้เป็น ส.ส.แม้แต่คนเดียว
ล้างภาพกลุ่มวาดะห์
.
ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 วันนอร์ ในวัย 70 กว่าปี เรียกเพื่อนพ้องนักการเมืองสายมุสลิม มาพูดคุยกันที่บ้านศรียะลา อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อรวมตัวพี่น้องกลุ่มวาดะห์อีกครั้ง ในนามพรรคประชาชาติ
.
จุดเปลี่ยนสำคัญของพรรคประชาชาติ ในช่วงปลายปี 2561 เมื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ได้เข้ามาเป็นเลขาธิการพรรค โดย พ.ต.อ.ทวี ได้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนพรรคประชาชาติให้หลุดพ้นคำว่าพรรคมุสลิม และกลุ่มวาดะห์
.
การปิดฉากกลุ่มวาดะห์ ก็ไม่มีผลสะเทือนอะไรต่อพรรคประชาชาติ เพราะการเมืองชายแดนใต้กำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคการเมืองใหม่ ประชาธิปไตยใหม่ ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ
.
ขอบคุณ thepeople

ขุนคมคำ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ