สหประชาชาติยินดีไทยประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย – White Channel

White Channel

สหประชาชาติยินดีไทยประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย

POLITICS : สหประชาชาติยินดีไทยประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย
.
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ชื่นชมที่ไทยประกาศใช้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย โดยรัฐบาลยืนยันว่า พร้อมป้องกันการซ้อมทรมาน และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
.
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า OHCHR (Office of the High Commissioner for Human Rights) เห็นการบังคับใช้กฎหมายใหม่ของไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และจะมีผลบังคับใช้จริงในอีก 120 วันหลังจากนั้น เป็นก้าวสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน และ OHCHR พร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยในด้านต่าง ๆ
.
“ถือเป็นก้าวสำคัญในการปฏิบัติตามคำมั่นของไทย เพื่อขจัดการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายให้หมดสิ้น และเป็นการให้ความยุติธรรมกับผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หลังจากที่มีกรอบกฎหมายบังคับใช้ในประเทศแล้ว ประเทศไทยสามารถดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี” นายอนุชา กล่าว
.
“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ OHCHR เห็นถึงความพยายามของรัฐบาล รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ แก้ไขปัญหาการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ” นายอนุชา ระบุ
.
สำหรับ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย นั้น ภาคประชาสังคมเป็นฝ่ายเสนอให้รัฐบาลจัดทำและบังคับใช้มาอย่างยาวนาน โดยในปี 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยนำกฎหมายนี้มาพิจารณาแล้ว แต่ไม่สามารถผ่านความเห็นชอบบังคับใช้จริงได้ กระทั่งในปี 2564 สภาผู้แทนราษฎร และปี 2565 วุฒิสภา ให้ความเห็นชอบทำให้กฎหมายสามารถบังคับใช้จริง โดยจะมีผล 120 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 25 ตุลาคม 2565
.
พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายฯ มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผย จะกระทำไม่ได้ 5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย คุ้มครองพยาน และเยียวยาญาติ และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด
.
น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะสามารถป้องกัน ปราบปราม เยียวยาให้กับเหยื่อ และครอบครัวของเหยื่อได้จริงและมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือต้องอบรมเจ้าหน้าที่รัฐให้เข้าใจกฎหมายนี้ เพื่อให้เขาเข้าใจหลักการในการใช้กฎหมาย และไม่ให้พวกเขาแตกตื่นว่าจะเป็นกฎหมายที่กระทบพวกเขาด้วย”
.
ขณะที่ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส. ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ชี้ว่ากฎหมายฉบับนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง ส.ส. ส.ว. ภาคประชาสังคม รัฐบาล และที่สำคัญคือประชาชน
.
“สิ่งที่นักกฎหมายต้องดำเนินการต่อหลังจากกฎหมายบังคับใช้จริง คือต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า พวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากกฎหมายนี้ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตัวอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เชื่อว่ากฎหมายมันจะช่วยถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ระหว่างฝ่ายทหาร ตำรวจ และอัยการ” นายอาดิลัน กล่าว
.
สหประชาชาติ (UN) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 82 คน ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 31 ราย ส่วนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในปี 2557 มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากถูกไล่ล่า
.
ที่มา https://www.benarnews.org/thai/news/th-un-law-enforced-disappearance-11032022153615.html

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ