White Channel

สัมพันธภาพซาอุฯ กับอิหร่าน คือการทิ้งอเมริกาอยู่ข้างหลัง ?

เกิดอะไรในโลก : จับตา ! วอชิงตันกำลังสูญเสียอิทธิพลในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย หลังจากที่ปักกิ่งเข้าไปมีบทบาทสำคัญทางการทูตระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน

หลังจากเป็นศัตรูกันมานานหลายปี จู่ๆ สัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งสองประเทศก็วางแผนที่จะหวนกลับมาสานสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งเคยแตกหักไปในปี 2016 อีกครั้ง เริ่มจากการพบกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน เป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งงานนี้มีจีนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และมีการลงนามข้อตกลงกันในปักกิ่ง

เป็นที่น่าประหลาดใจที่จู่ๆ จีนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมืองและการทูตในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังหลุดพ้นจากวงโคจร สื่ออเมริกันหลายสำนักรายงานในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อำนาจสั่งการแบบเก่าของสหรัฐฯกำลังถูกผลักไสให้ไปอยู่นอกสนามและลดสถานะตนเองจนเป็นส่วนเกิน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของคู่แข่งอย่างจีน ที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านจะเปราะบางมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อตกลงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนซาอุดีอาระเบียก็ยังคงเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ แม้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะเดินทางไปเยือนเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ดูเย็นชาอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ขณะที่สัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน จากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในยุคการปกครองแบบราชาธิปไตยของทั้ง 2 ประเทศ จนถึงการตัดความสัมพันธ์ระหว่างกันหลังการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ก่อนที่ทั้งคู่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และมีการขับเคี่ยวแข่งขันกันมากขึ้นหลังสงครามอิรักปี 2003 ตลอดจนปรากฏการณ์การลุกฮือของประชาชนเพื่อขับไล่เผด็จการในโลกอาหรับ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อาหรับสปริง’ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจในภูมิภาค ก่อนที่ซาอุดีอาระเบียจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านในปี 2016 หลังจากผู้ประท้วงชาวอิหร่านบุกสถานทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเตหะราน เพื่อตอบโต้ที่ทางการซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตนักโทษ 47 คน ซึ่งรวมถึงนักการศาสนาชีอะห์

เหตุเหล่านี้ล้วนเปิดทางให้ทั้ง 2 ประเทศต้องเร่งแข่งขันขยายอิทธิพล จนสถานการณ์บานปลายกลายเป็นการทำสงครามตัวแทน (Proxy War) ระหว่างกันในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาค ทั้งในสงครามกลางเมืองซีเรีย อิรัก และเยเมน ตลอดรวมถึงความขัดแย้งในเลบานอน

กระนั้นก็ยังมีนักวิจารณ์บางคนกล่าวว่าเป็นความผิดของสหรัฐฯ เอง ที่สูญเสียอิทธิพลในภูมิภาคอ่าว จากการถอยตัวออกห่างมากขึ้น กลายเป็นสุญญากาศที่ตอนนี้จีนสามารถกระโดดเข้าไปมีบทบาทได้ ในความเป็นจริงแล้ว สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของไบเดนได้ยุติบทบาททางทหารในอัฟกานิสถาน รวมถึงบทบาทแทรกแซงเรื่องความขัดแย้งในเยเมน ซีเรีย และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่เร่งด่วนที่สุดของสหรัฐฯ ในยามนี้คือ กับรัสเซียและจีน

สถานการณ์การโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียในปี 2019 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจแห่งตะวันออกกลางนี้ เหตุโจมตีดังกล่าวทำให้เกิดเพลิงไหม้รุนแรง ทำให้ต้องหยุดการผลิตน้ำมันลงชั่วคราว และมีการวิเคราะห์กันว่าแรงจูงใจเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน แต่ที่น่าสนใจคือการโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาทหารอเมริกัน ซึ่งมีหน้าที่ให้หลักประกันด้านความมั่นคงกับซาอุดีอาระเบียตามสูตรความสัมพันธ์ ‘น้ำมันแลกความมั่นคง’ (Oil for Security)

ยิ่งไปกว่านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในขณะนั้นก็ไม่แสดงท่าทีอันใดที่จะปกป้องคุ้มครองซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียเริ่มปรับนโยบายด้านการต่างประเทศใหม่ หันไปใช้นโยบายประนีประนอมกับประเทศคู่ขัดแย้งในภูมิภาคมากขึ้น ขณะเดียวกันซาอุดีอาระเบียก็เร่งเสริมสร้างพันธมิตรที่มีความหลากหลาย (Diversify Alliance) แทนที่จะพึ่งพิงสหรัฐฯ อย่างเดียวเหมือนในอดีต ซาอุดีอาระเบียก็หันไปผูกสัมพันธ์แนบแน่นกับรัสเซียและจีนด้วย ว่ากันตามจริงซาอุดีอาระเบียมีท่าทีถอยห่างออกจากอิทธิพลสหรัฐฯ มานานหลายปีแล้ว แต่เหตุโจมตีคลังน้ำมันถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องเร่งกระบวนการ

ท่าทีของซาอุดีอาระเบียเริ่มเปลี่ยนไปดังที่เจ้าชายไฟซอล รัฐมนตรีต่างประเทศระบุว่า ซาอุดีอาระเบียยังคงสนใจในการเจรจากับอิหร่าน แต่ก็เรียกร้องให้ทางอิหร่านเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และปรารถนาอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ อีกทั้งยังเน้นว่า “อิหร่านคือเพื่อนบ้านของเรา จะต้องมีความปรารถนาอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่ และเราหวังว่าจะมีความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะหาวิธีการใหม่ ในการฟื้นความสัมพันธ์ต่อกัน นับจากนั้นมาอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบียก็มีการเจรจากันทางลับผ่านตัวกลางอย่างอิรักและโอมานหลายครั้ง เป็นการพูดคุยเจรจาที่ท้ายที่สุดมาบรรลุความสำเร็จที่ประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม สื่ออเมริกันอ้างคำพูดของผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ระบุว่า สิ่งที่ชี้ขาดเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดไม่ใช่การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย หากแต่เป็นบทบาทใหม่ของจีนและอิทธิพลที่ลดน้อยถอยลงของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อได้เปรียบที่เป็นไปได้สำหรับสหรัฐฯ นั่นคือ ข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ปี 2015 กับอิหร่าน ซึ่งสหรัฐฯ พยายามฟื้นฟูแต่ไม่สำเร็จนั้น อาจจะกลับมาเป็นจุดสนใจใหม่ได้หากสหรัฐฯ ใช้ช่องทางผ่านซาอุดีอาระเบีย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จทางการทูตครั้งนี้ย่อมเสริมสร้างภาพลักษณ์ของจีนในสายตาประชาคมโลก อันที่จริงการเข้ามาของจีนในตะวันออกกลางก็เหมือนกับรัสเซีย คือนอกจากจะมีเป้าหมายในการยกระดับสถานะของตนเองเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลกแล้ว จีนยังต้องการฉายภาพตนเองให้โลกได้เห็นว่าเป็นมหาอำนาจโลกที่มีความรับผิดชอบอีกด้วย 

แต่จีนเองก็ต้องระมัดระวังไม่นำตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นการเมือง และความขัดแย้งที่มีอยู่สูงและสลับซับซ้อนในภูมิภาคตะวันออกกลาง และไม่แสดงสัญญาณใดๆ ที่บ่งบอกว่าจีนต้องการเป็นตัวแสดง ที่จะคอยรักษาความมั่นคงให้กับตะวันออกกลางแทนที่สหรัฐฯ แม้อิหร่านกับซาอุดีอาระเบียจะให้คำมั่นกลางกรุงปักกิ่งว่าจะปรับความสัมพันธ์และยกระดับการฟื้นฟูทางการการทูตระหว่างกันภายใน 2 เดือน แต่มันก็ยังมีความเสี่ยงไม่น้อยสำหรับความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่าง 2 ประเทศนี้ ซึ่งจีนคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งใน ซีเรีย เยเมน และอีรัก ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดในระยะสั้นที่ชัดเจนว่าจากนี้ไปความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศนี้จะพัฒนาไปในทิศทางใด จีนจะเข้าไปคลี่คลายความขัดแย้งร่วมกับตัวแสดงฝ่ายต่างๆ ในภูมิภาค โดยไม่นำตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งได้หรือไม่ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคจากบทบาทของสหรัฐฯ ที่อาจมองการฟื้นฟูความสัมพันธ์อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของทั้ง 2 ประเทศกับจีนว่าเป็นความท้าทายระเบียบเดิมของภูมิภาค 

ถึงอย่างนั้น การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านครั้งนี้ นับเป็นสัญญาณบวกที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในตะวันออกกลาง ท่ามกลางภาวะความถดถอยของสหรัฐฯ และการผงาดขึ้นมาของจีนในภูมิภาค

ที่มา :

Thaipost : https://www.thaipost.net/abroad-news/342745/

Thestandard : https://thestandard.co/iran-saudi-arabia-relationship/

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ