White Channel

“เนปาล” ประเทศที่การนั่งเครื่องบินอันตรายที่สุดในโลก

เกิดอะไรในโลก : “เนปาล” ประเทศที่การนั่งเครื่องบินอันตรายที่สุดในโลก

อุบัติเหตุเครื่องบินตกเป็นเรื่อง “ปกติ” ที่เกิดขึ้นเฉลี่ยปีละครั้งในเนปาล จนได้สมญานาม “ประเทศที่เสี่ยงเกิดเหตุเครื่องบินตกมากที่สุดในโลก”

เวลามีคนบอกว่ากลัวการขึ้นเครื่องบินเพราะกังวลว่า “เครื่องบินจะตก” เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นชินกับการโน้มน้าวด้วยการเปรียบเทียบที่ว่า “โอกาสที่จะเกิดเหตุเครื่องบินตก ยังน้อยกว่าโอกาสที่รถจะชนเสียอีก” โดยข้อมูลจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า โอกาสที่คนเราจะเสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตกอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 11 ล้าน ส่วนโอกาสเสียชีวิตจากเหตุรถชนนั้นสูงกว่า อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 5,000

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบินนั้นดูจะสูงเป็นพิเศษในประเทศ “เนปาล” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ประเทศที่เสี่ยงเกิดเหตุเครื่องบินตกมากที่สุดในโลก”

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (15 ม.ค.) ที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำชื่อเสียงในด้านนี้ของเนปาล เมื่อเครื่องบินโดยสาร ATR 72 สองเครื่องยนต์ของสายการบินเยติแอร์ไลน์ส ซึ่งกำลังมุ่งหน้าจากกาฐมาณฑุ เมืองหลวงเนปาล ไปยังโปขรา (Pokhara) หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง เกิดตกระหว่างทาง จนล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 68 ราย ซึ่งมีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย 15 คน แบ่งเป็นชาวอินเดีย 5 คน ชาวรัสเซีย 4 คน ชาวเกาหลีใต้ 2 คน ชาวไอริช 1 คน ชาวออสเตรเลีย 1 คน ชาวฝรั่งเศส 1 คน และชาวอัฟกานิสถาน 1 คน ส่วนที่เหลือเป็นชาวเนปาล โดยเหลือการต้องค้นหาผู้สูญหายอีก 4 ราย ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจเมืองโปขรา ระบุว่า เครื่องบินตกในระยะที่ไม่ห่างจากสนามบินปลายทาง และลอยลำ “อยู่ในระดับปกติ” อีกทั้งทัศนวิสัยในช่วงเวลาเกิดเหตุ “แจ่มใส”

ถือเป็นอุบัติเหตุทางเครื่องบินครั้งใหญ่สุดในรอบ 30 ปีของเนปาล และยังเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์

📌 ประเทศเสี่ยงเกิดเหตุเครื่องบินตกมากที่สุดในโลก

หากนับเฉพาะช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2000 เนปาลเกิดเหตุเครื่องบินตกมาแล้ว (รวมครั้งล่าสุดนี้) ทั้งหมด 18 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 340 ราย เรียกได้ว่า เฉลี่ยแล้ว จะเกิดเหตุเครื่องบินตกอย่างน้อย 1 ครั้งแทบจะทุกปีเลยทีเดียวในเนปาล

ไม่ว่าจะเป็นสภาพรันเวย์ของสนามบิน, สภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาสูง ที่ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอยู่ตลอดเวลา ปัจจัยเหล่านี้นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ “เนปาล” เกิดอุบัติเหตุทางการบินอยู่บ่อยครั้ง

ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงบริเวณที่ราบสูงทิเบตที่กินพื้นที่ประเทศเนปาล-ทิเบต-จีน จนได้ชื่อว่า “หลังคาของโลก” นั้นเต็มไปด้วยภูเขาสูงถึง 8 แห่ง จากจำนวนภูเขาสูง 14 แห่งในโลก ด้วยสภาพภูมิประเทศเช่นนี้ ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินและสนามบินที่ต้องสร้างเพื่อรองรับนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก

📌 ที่ตั้งของสนามบินที่อันตรายที่สุดในโลก

สนามบินในเมืองลุกลา (Lukla) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเนปาล ได้ชื่อว่าเป็น “สนามบินที่อันตรายที่สุดในโลก” เพราะรันเวย์ของสนามบินแห่งนี้ตั้งอยู่บนหน้าผาระหว่างภูเขา หากผู้ทำการบินไม่มีความชำนาญ ก็เสี่ยงที่จะทำให้เครื่องตกได้ และแม้จะใช้นักบินที่ชำนาญก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สภาพอากาศเลวร้าย

ข้อมูลจากเครือข่ายความปลอดภัยด้านการบิน บันทึกไว้ว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุเครื่องบินตกในเขตน่านฟ้าเนปาลและพื้นที่หิมาลัยร่วม 20 ครั้ง นอกจากนั้นแล้ว เว็บไซต์ Timesofindia ยังเคยระบุว่า พื้นที่บริเวณที่ราบสูงทิเบตซึ่งรวมกับเนปาล ก็เป็น 1 ใน 6 พื้นที่ห้ามบินของโลกเช่นกัน (No-fly zones)

มิหนำซ้ำ ในการเข้าถึงบางพื้นที่ของเนปาลซึ่งมักเป็นภูเขาและพื้นที่ห่างไกลทำให้ต้องใช้เครื่องบินเล็ก ก็ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก โดยสำนักงานการบินพลเรือนเนปาลระบุว่า เครื่องบินที่มีที่นั่งไม่เกิน 19 ที่นั่งมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าเครื่องบินใหญ่

📌 มาตรฐานความปลอดภัยที่หย่อนยาน

นอกจากนี้ สายการบินในเนปาลส่วนใหญ่ยังขาดแคลนความสามารถในการซ่อมยำรุงเครื่องบิน และมักใช้เครื่องที่มีอายุการใช้งานมานาน ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเอง ถึงกับประกาศแบนสายการบินเนปาลกว่า 20 แห่ง ไม่ให้เดินทางจากเนปาลมายังยุโรป เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับผู้โดยสาร

สำหรับเหตุการณ์เครื่องบินตกในเนปาล 18 ครั้งในรอบ 22 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย:

  • 27 ก.ค. 2000 – เครื่องบินสายการบินรอยัลเนปาล ตกในเนปาลตะวันตก เสียชีวิตยกลำ 25 ราย
  • 17 ก.ค. 2002 – เครื่องบิน 2เครื่องยนต์ชนภูเขาทางตะวันตกของเนปาล ก่อนเครื่องลงจอดไม่กี่นาที มีผู้เสียชีวิต 4 ราย
  • 22 ส.ค. 2002 – เครื่องบินสายการบินแชงกรีลาแอร์ กระแทกภูเขาท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้ายในเนปาล มีผู้คนเสียชีวิต 18 ราย
  • 25 พ.ค. 2004 – เครื่องบินบรรทุกสินค้าสายการบินเยติแอร์ไลน์ส ตกในบริเวณยอดเขาเอเวอเรสต์ ลูกเรือเสียชีวิต 3 ราย
  • 21 มิ.ย. 2006 – เครื่องบินสายการบินเยติแอร์ไลน์ส ตกก่อนลงจอดทางตะวันตกของประเทศเพียงไม่กีนาที เสียชีวิตยกลำ 9 ราย
  • 4 มี.ค. 2008 – เฮลิคอปเตอร์ตก เสียชีวิต 10 ราย 4 คนในนี้เป็นเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ
  • 8 ต.ค. 2008 – เครื่องบินเล็กตกในเนปาลตะวันออกเฉียงเหนือ เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
  • 24 ส.ค. 2010 – เครื่องบินเล็กสายการบินแอกนิแอร์ ตกท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้าย เสียชีวิต 14 ราย
  • 16 ธ.ค. 2010 – เครื่องบินเล็กทาราแอร์ ตกบริเวณเชิงเขาหิมาลัย เสียชีวิตยกลำ 22 ราย
  • 25 ก.ย. 2011 – เครื่องบินเล็กชมวิวยอดเขาเอเวอเรสตกในสภาพอากาศเลวร้าย ใกล้เมืองหลวงเนปาล เสียชีวิตยกลำ 19 ราย
  • 28 ก.ย. 2012 – เครื่องบินใบพัดประสบอุบัติเหตุชนเข้ากับนก ทำให้เครื่องตก เสียชีวิต 19 ราย
  • 16 ก.พ. 2014 – เครื่องบินเล็กของเนปาลแอร์ไลน์สตกในสภาพอากาศเลวร้าย เสียชีวิตยกลำ 18 ราย
  • 24 ก.พ. 2016 – เครื่องบินเล็กสายการบินทาราแอร์ตกในสภาพอากาศเลวร้าย เสียชีวิตยกลำ 23 ราย
  • 26 ก.พ. 2016 – เครื่องบินเล็กของกาษฐมณฑปแอร์ไลน์สตกในเขตกาลิกอตทางตะวันตกของเนปาล เสียชีวิต 2 ราย
  • 12 มี.ค. 2018 – เครื่องบินสายการบินยูเอส-บังกลาแอร์ไลน์ส ตกท่ามกลางสภาพอากาศที่มีเมฆมาก ขณะพยายามลงจอดที่สนามบินในเมืองหลวง เสียชีวิต 51 ราย รอดชีวิต 20 คน
  • 27 ก.พ. 2019 – เฮลิคอปเตอร์ตกท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้ายในเนปาลตะวันออก เสียชีวิตยกลำ 7 ราย หนึ่งในนั้นเป็นรัฐมนตรีหกระทรวงการท่องเที่ยวของเนปาล
  • 29 พ.ค. 2022 – เครื่องบินสายการบินทาราแอร์ตกหลังออกเดินทางจากโปขรา ผู้โดยสารเสียชีวิต 22 ราย
  • 15 ม.ค. 2023 – เครื่องบินสายการบินเยติแอร์ไลน์สตก เสียชีวิต 68 ราย สูญหาย 4 ราย

ส่วนอุบัติเหตุทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดในประเทศเนปาลนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 1992เครื่องบินของสายการบิน Pakistan International Airlines เครื่องบินไถลเข้าไปในเนินเขาขณะพยายามลงจอดในกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 167 ราย

ที่มา :

pptvhd : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/188468

thaipbs : https://www.thaipbs.or.th/news/content/323591

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ