เนเธอร์แลนด์ทำยังไงให้เด็กมีความสุขที่สุดในโลก – White Channel

White Channel

เนเธอร์แลนด์ทำยังไงให้เด็กมีความสุขที่สุดในโลก

เกิดอะไรในโลก : เนเธอร์แลนด์ทำยังไงให้เด็กมีความสุขที่สุดในโลก

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) มีรายงานเมื่อปี 2021 ระบุไว้ว่า เด็กๆ จากประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นเด็กที่มีความสุขที่สุดในโลก แถมยังมีการพูดว่า ผู้ปกครองจากเนเธอร์แลนด์ก็มีความสุขในโลกเช่นกัน อะไรทำให้เป็นแบบนั้น ?

สภาพแวดล้อมโดยรวม ค่านิยม การปลูกฝัง สังคม น่าจะเป็นการสรุปรวมเหตุผลได้ดีที่สุด สำหรับการเลี้ยงลูกให้มีความสุขและผู้ปกครองก็มีความสุขเช่นกัน หากให้ลงละเอียดเพิ่มน่าจะแบ่งได้ประมาณนี้

โดยยูนิเซฟทำการศึกษาสุขภาพจิตของเด็ก ในประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวน 38 ประเทศ พิจารณาใน 3 หมวดหมู่หลัก ได้แก่ ความเป็นอยู่ที่ดีสุขภาพจิตและทักษะทางวิชาการและสังคม ซึ่งใช้ข้อมูลที่รวบรวมก่อนการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19

 พบว่าคุณภาพชีวิตของเด็กในประเทศเนเธอร์แลนด์ ถูกจัดไว้ในอันดับที่ 1 ตามด้วยเดนมาร์กและนอร์เวย์ ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกได้แก่ ญี่ปุ่นครองอันดับที่ 20 และ เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 2 ส่วนสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 36 และชิลีติดอันดับที่แย่ที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 38 ประเทศ

แล้วอะไรทำให้เป็นแบบนั้น ?

📌 1.ปล่อยให้ลูกนอนหลับอย่างเพียงพอ

The European Journal of Developmental Psychology ได้มีการทดสอบเด็กทารก ถึงความแตกต่างทางอารมณ์ระหว่างเด็กทารกในประเทศสหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ พบการศึกษาน่าสนใจมากทีเดียวพวกเขาพบว่า เด็กจากเนเธอร์แลนด์ หัวเราะ มีรอยยิ้ม ชอบมากอดมากกว่า มีการพักผ่อนตรงเวลา มีพฤติกรรมที่ค่อนข้างเรียบร้อยและทำกิจกรรมที่ไม่รุนแรงมากกว่า 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ข้อนี้มาจากการเลี้ยงดูของชาวเนเธอร์แลนด์ที่มักจะให้เด็กนอนหลับแบบมีคุณภาพและทำกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ ตรงนี้มาจากนิสัยของชาวเนเธอร์แลนด์ที่มีค่าเฉลี่ยการนอนสูงถึง 8 โมงในแต่ละวัน แน่นอนว่าเมื่อทารกนอนเต็มอิ่มการงอแงก็น้อยลง พ่อแม่ก็ได้พักผ่อนมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุข 

📌 2.ไม่ได้แข่งให้ลูกต้องดีกว่าใคร 

ผู้ปกครองหลายคนมักมีความคิดว่า ลูกฉันต้องดีกว่าใคร ครอบครัวฉันต้องแข่งกับคนนี้ให้ชนะ แต่ไม่ใช่ที่เนเธอร์แลนด์ ประเทศนี้นับว่ามีประชากรหนาแน่นที่สุดในยุโรปแห่งหนึ่งเลย ทำให้พวกเขาหนีไม่พ้นจากสายตาคนอื่นแน่นอน แต่พวกเขาไม่รู้สึกว่าต้องแข่งขันกับใคร งานวันเกิดไม่ต้องใหญ่โต เสื้อผ้าไม่ใช่ตัวกำหนดสถานะทางสังคม แต่กลับให้ความสำคัญกับมิตรภาพของลูกกับเพื่อนๆ แทน 

สิ่งนี้เราเอามาปรับใช้ได้เป็นการเลี้ยงดูเริ่มจากครอบครัวของเรา ทำแบบพอดี ไม่ต้องไม่อวดใคร เอาที่เราและครอบครัวมีความสุขก็พอ

📌 3.ไม่กดดันเรื่องการเรียน

ในเนเธอร์แลนด์มองว่าการศึกษาเป็นเส้นทางที่จะช่วยให้เด็กได้พัฒนาตนเอง เป็นสถานที่จะให้หาตัวตนมากกว่าการแข่งขัน การต่อระดับอุดมศึกษาก็มีให้เลือกทั้งวิชาการและสายวิชาชีพ โดยการเรียนต่อส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้เกรด คะแนนอะไรเป็นพิเศษเพียงแค่สอบผ่านระดับมัธยมปลายก็เป็นพอ ประเทศนี้เน้นให้ให้โรงเรียงสร้างแรงจูงใจมากกว่า ทำให้พ่อแม่เน้นความสุขมากกว่า IQ หรือความเก่งของลูก สิ่งสำคัญคือการทำให้เด็กๆ มีความสุข เพราะเมื่อเด็กมีความสุข การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพก็จะตามมา ดังนั้นเด็กๆ จึงมีทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียน อยากไปโรงเรียนเพื่อสังคม มีความสุขกับการเรียนมากขึ้นนั่นเอง

ส่วนนี้อยากให้พ่อแม่ทุกคนเห็นความสำคัญในความชอบของลูก และเชื่อว่ามันสามารถทำให้เขาเลี้ยงดูตัวเองและมีความสุขได้ ชี้เส้นทางแต่อย่าบังคับให้เขาได้เลือกในสิ่งที่ชอบ 

📌 4.ให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูก

ปี 1996รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ออกกฎหมาย ที่คุ้มครองพนักงานพาร์ตไทม์เทียบเท่ากับพนักงานประจำ นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประชากรในประเทศสามารถสร้างสมดุลในชีวิตได้มากขึ้น (work-life balance) เอื้อให้ประชากรในประเทศมีสมดุลในชีวิตการทำงานมากขึ้น ทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเวลาทำงานต่อสัปดาห์น้อยที่สุดในโลก ตัวคุณพ่อนิยมจัดตารางงานให้เหลือเพียง 4 วัน เพื่อให้อยู่กับลูกมากขึ้น ส่วนคุณแม่เองส่วนใหญ่ก็มีเวลามากพอที่จะไปพบปะแม่ๆ คนอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนกัน 

ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยของชาวเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจจริงๆ อยู่ที่ 29 ชั่วโมง

📌 5. ความใส่ใจในการทานอาหาร

พวกเขายังให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่ครอบครัวจะสามารถอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า เพราะการกินอาหารเช้าจะช่วยให้เด็กมีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้อีกด้วย

นอกจากนี้เด็กๆ ในเนเธอร์แลนด์ได้รับอนุญาตให้ทานของหวานได้ตามใจชอบ แต่เนเธอร์แลนด์กลับมีอัตราเด็กน้ำหนักเกินเกณฑ์น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะเด็กๆ ต้องปั่นจักรยานเป็นพาหนะหลักนั่นเอง โดยประเทศเนเธอร์แลนด์มีทางสำหรับจักรยานครอบคลุมทุกพื้นที่ เห็นได้จากการเปิดตัวโรงจอดรถจักรยานขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จุรถจักรยานได้ถึง 12,500 คัน

ถึงแม้ว่าสภาพอากาศของประเทศเนเธอร์แลนด์จะมีฝนตกชุกและลมแรง แต่พ่อแม่ชาวดัตช์ก็ยังคงปลูกฝังให้เด็กๆรักการปั่นจักรยานไปทุกหนทุกแห่งโดยไม่กลัวอุปสรรค เพราะหากฝนตกก็แค่สวมใส่เสื้อและรองเท้ากันฝนเท่านั้น

📌 6.การสนับสนุนจากภาครัฐ

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับนโยบายเกี่ยวกับเด็ก นอกจากนโยบายเรื่องการลาคลอดที่ให้สิทธิ์ลาตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึงหลังคลอดรวม 16 สัปดาห์ หรือเงินสมทบดูแลลูกแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม โดยสนับสนุนให้เมืองต่างๆ เป็น Child-Friendly Cities Network ซึ่งรัฐบาลระดับท้องถิ่นก็มีนโยบายให้แบ่งที่ดิน 3% ในเขตอยู่อาศัยให้เป็น Playspace สำหรับเด็กๆ เช่น มีสนามเด็กเล่น กระบะทราย เพื่อให้เด็กเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ และมีพื้นที่สำหรับสร้างสังคมของตัวเอง

📌 ผลการสำรวจอื่นที่น่าสนใจในรายงาน

ในรายงานยังระบุถึงสถิติการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ระหว่างปี 2013 ถึง 2015 พบว่ามีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 คน ต่อประชากรเด็ก 100,000 โดยประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดคือวัยรุ่นในประเทศลิทัวเนีย ที่มีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 18.2 คน ตามด้วยนิวซีแลนด์ที่ 14.9 คน และกรีซมีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำสุดที่ 1.4 คน

เมื่อสำรวจถึงสุขภาพร่างกายโดยเฉพาะโรคอ้วน พบว่าในสหรัฐอเมริกามีอัตราที่เด็กมีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนมากที่สุดถึง 42% ในขณะที่ญี่ปุ่นมีอัตราโรคอ้วนต่ำที่สุดโดยมีเพียงร้อยละ 14 ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 19 ปี

ในด้านความมั่นใจในการหาเพื่อนได้ง่ายใน 3 อันดับแรกพบว่าเด็กในประเทศโรมาเนีย นอร์เวย์ และโครเอเชีย ที่บอกว่าพวกเขาสามารถทำความรู้จักกับเพื่อนได้ง่าย ในขณะที่เด็กๆ ที่บอกว่าเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ได้แก่เด็กๆ ในประเทศ ชิลี ญี่ปุ่น และไอซ์แลนด์ ตามลำดับ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของญี่ปุ่นระบุว่าเนื่องจากสังคมโรงเรียนของประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มักจะมีการ “รังแก” กันของเด็กๆ ขณะที่การแข่งขันที่มากเกินไปเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นปัจจัยลบต่อสุขภาพจิตของเด็ก จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เด็ก ๆ (ในญี่ปุ่น) จะมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำและขาดความสุข และไม่มีทักษะในการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ

รายงานของยูนิเซฟฉบับนี้ยังระบุว่า วิกฤตไวรัสโคโรนาที่กำลังดำเนินอยู่จะเพิ่มความท้าทายที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญ สิ่งที่เริ่มต้นจากวิกฤตสุขภาพจะลามไปสัมผัสเศรษฐกิจและสังคมทุกด้าน แม้ว่าเด็ก ๆ จะไม่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพโดยตรงที่แย่ลงของไวรัส แต่เด็กในยุคนี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบในระยะยาวอย่างรุนแรงที่สุด

ที่มา :

workpointtoday : https://workpointtoday.com/netherlands-child-happiest/

inn : https://www.innwhy.com/work-life-balance/

abouthmom : https://aboutmom.co/features/dutch-parenting/23788/

kinyupen : https://kinyupen.co/2020/09/08/unicef_%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81/

catdumb : https://www.catdumb.com/old/?p=518263

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ