White Channel

เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ คืออะไร ทำไมถึงสำคัญไม่แพ้เลือกตั้งใหญ่

เกิดอะไรในโลก : รู้จัก “การเลือกตั้งกลางเทอม” ของสหรัฐอเมริกาคืออะไร ทำไมถึงสำคัญไม่แพ้เลือกตั้งใหญ่ทุก 4 ปี อนาคตการเมือง หากรีพับลิกันคว้าชัย พร้อมสำรวจที่นั่ง ส.ส.-ส.ว. ในทำเนียบขาว ตลอดการเลือกตั้ง ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

เป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา นำโดย นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ทำหน้าที่บริหารประเทศ ท่ามกลางความแปรปรวนและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และเป็นที่ทราบกันดีว่า การทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ จะมีอายุในการทำหน้าที่เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น หรือครึ่งวาระของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่มีวาระการดำรงตำแหน่งถึง 4 ปี

แม้การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ จะไม่ได้รับความสนใจเท่ากับการเลือกต้ั้งประธานาธิบดี ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งใน 2 ปีข้างหน้า แต่การเลือกตั้งกลางเทอมมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในยุคนั้น ๆ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายอื่น ๆ สำหรับอีกครึ่งวาระที่เหลือของรัฐบาลนั้น ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสหรัฐในแต่ละครั้ง มีผลมาถึงสถานการณ์ทั่วโลกอีกด้วย

📌 “เลือกตั้งกลางเทอม” (United States midterm election) คืออะไร?

การเลือกตั้งกลางเทอมคือ การเลือกตั้งชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) วุฒิสมาชิก (Senate) และผู้ว่าการรัฐ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุก ๆ 2 ปี ต่างจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 4 ปี

การเลือกตั้งแต่ละครั้ง แต่ละรัฐจะมี ส.ว. 2 คน เท่ากันทุกรัฐ ดำรงตำแหน่ง 6 ปี ส่วน ส.ส.ในแต่ละรัฐจะมีจำนวนมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนประชากรในรัฐนั้น ๆ และดำรงตำแหน่ง 2 ปี

การเลือกตั้งกลางเทอมดังกล่าว ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน โดยทั้ง 2 พรรคจะชิงชัยเก้าอี้ ส.ส.ทั้งหมดจำนวน 435 ที่นั่ง โดยพรรคใดที่สามารถครองที่นั่งได้มากกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 218 ที่นั่ง เท่ากับว่าจะสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้

ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งกลางเทอม จะมีการเลือกตั้ง ส.ว.จำนวน 35 ราย จากทั้งหมด 100 ราย ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนที่นั่งในวุฒิสภา ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ว.จำนวนดังกล่าว มาจากการครบวาระดำรงตำแหน่งตามรอบ ทุก ๆ 2 ปี

นอกจากนี้ ยังมีการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐใน 36 มลรัฐ ผู้ว่าการดินแดนสหรัฐ 3 คน และการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในแต่ละรัฐอีกจำนวนมาก

📌 ความสำคัญของการเลือกตั้งกลางเทอม

ในช่วงสองปีที่ผ่านมาในวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน พรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภา ซึ่งช่วยให้ปธน.ไบเดนสามารถผ่านกฎหมายที่เขาต้องการได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม เสียงข้างมากที่ว่านั้นยังเป็นไปอย่างฉิวเฉียดทำให้ศึกเลือกตั้งในวันนี้อาจพลิกชะตาการเมืองสหรัฐได้ในทันที ผลสำรวจก่อนการเลือกตั้งพบว่า มีความเป็นไปได้ที่พรรครีพับลิกันอาจพลิกมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่เดโมแครตยังสามารถครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาไว้ได้   

อย่างไรก็ตาม มีบางจุดน่าสนใจที่ควรกล่าวถึงเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ

ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเพิ่มขึ้นมาก

นี่จะเป็นบททดสอบประชาธิปไตยทั่วประเทศครั้งแรก นับตั้งแต่ที่เกิดเหตุ “กลุ่มคนรักทรัมป์” บุกรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2564 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ทรัมป์ยังคงถูกไต่สวนอยู่ในขณะนี้

โพลหลายสำนักเชื่อว่า รีพับลิกันจะพลิกมาครองเสียงข้างมากได้ แต่หากเดโมแครตชนะทั้งสองสภาแบบพลิกความคาดหมาย นั่นก็หมายถึงการเปิดทางสะดวกให้ปธน.ไบเดน สามารถออกกฎหมายได้อีกหลายฉบับ อาทิ สิทธิการทำแท้ง การปฏิรูปตำรวจ ฯลฯ ในช่วง 2 ปีที่เหลือของวาระดำรงตำแหน่ง

 หากรีพับลิกันได้ครองเสียงข้างมากแม้เพียงแค่สภาเดียว นั่นก็มากพอที่จะทำให้แผนการของไบเดนสะดุด ซึ่งจะมีผลต่อประเด็นปัญหาระดับโลกด้วย อาทิ

สหรัฐจะยังให้ความช่วยเหลือยูเครนทำสงครามกับรัสเซียอย่างไม่มีกำหนดอีกหรือไม่

แผนการสู้โลกร้อนของไบเดนอาจต้องเผชิญอุปสรรคในสภา

ไบเดนเอง อาจถูกสภาคองเกรสสอบสวนในทุกเรื่อง ตั้งแต่การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานไปจนถึงข้อตกลงธุรกิจต่างประเทศของนายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายของเขา

 นักวิเคราะห์เชื่อว่า การขัดแย้งในรัฐสภาสหรัฐไม่ใช่นิมิตหมายที่ดีแน่ ๆ เพราะมันอาจนำไปสู่ภาวะชะงักงัน (Gridlock) ในการดำเนินนโยบายสำคัญ ๆ ที่จะมีผลต่อสหรัฐเองและต่อสถานการณ์โลกด้วย และยังจะเป็นเช่นนั้นไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐและสมาชิกสภาคองเกรสในครั้งหน้า  

📌 ผลสำรวจความคิดเห็น

Exit Polls ที่จัดทำโดยสำนักข่าว CNN ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐอเมริกา 2022 ส่วนใหญ่ไม่ค่อยพอใจกับสถานการณ์ประเทศในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีมุมมองที่เป็นลบต่อตัวประธานาธิบดีโจ ไบเดนด้วย

ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 7 ใน 10 ระบุว่า พวกเขาไม่ค่อยพอใจกับสถานการณ์ความเป็นไปในประเทศ โดยมี 1 ใน 3 ระบุว่า พวกเขาไม่ใช่แค่ไม่พอใจ แต่ถึงกับรู้สึกโกรธที่สหรัฐฯ เป็นแบบนี้

ขณะที่คะแนนความนิยมของไบเดนในกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปีนี้อยู่ที่ 45% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อ 4 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 50% ระบุว่า นโยบายของไบเดนส่วนใหญ่นั้นสร้างความเสียหายให้กับประเทศ ขณะที่ 36% มองว่า นโยบายของไบเดนมีส่วนช่วยให้ประเทศก้าวหน้าขึ้น ส่วนที่เหลือมองว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ

 ที่น่าสนใจคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายคนระบุว่า การเลือกตั้งกลางเทอมในครั้งนี้ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าพวกเขายึดโยงกับตัวประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โดยเกือบ 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ไบเดนไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งกลางเทอม ขณะที่ 18% ระบุว่า การลงคะแนนเสียงของพวกเขาเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนไบเดน ขณะที่ 1 ใน 3 ระบุว่า การลงคะแนนเสียงครั้งนี้พวกเขาจงใจต่อต้านผู้นำสหรัฐฯ

📌 สำรวจที่นั่ง ส.ส.-ส.ว. รอบ 10 ปีที่ผ่านมา

การเลือกตั้ง ส.ส.ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งเป็นช่วงกลางเทอมของประธานาธิบดี บารัก โอบามา สมัยที่ 1 ที่นั่ง ส.ส.ส่วนใหญ่ อยู่ที่พรรครีพับลิกันมาโดยตลอด

กระทั่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงกลางเทอมของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พรรคเดโมแครตพลิกกลับมามีที่นั่ง ส.ส.ในสภาเป็นเสียงข้างมาก แทนพรรครีพับลิกัน ซึ่งขณะนั้นเป็นพรรครัฐบาล มาจนถึงการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2020ที่นายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ยังคงได้ที่นั่ง ส.ส.เสียงข้างมากอยู่ แต่เสียงข้างมากที่ได้ค่อนข้างปริ่มน้ำพอสมควร เนื่องจากมีที่นั่งมากกว่ารีพับลิกัน เพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น

ขณะที่การที่นั่ง ส.ว. รอบ 10 ปีที่ผ่านมา ใน 2 ครั้งแรก ที่นั่งส่วนใหญ่อยู่ที่ พรรคเดโมแครต ก่อนที่ครั้งหลัง ๆ มา พรรครีพับลิกันจะครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาสูงมาอย่างต่อเนื่อง

การเลือกตั้งแต่ละครั้งของสหรัฐ ทั้งใหญ่และเล็กจะมีรัฐที่เป็นฐานเสียงของแต่ละพรรคอยู่แล้ว หรือเซฟสเตท (Safe State) และจะมีบางเขตที่มีความไม่แน่นอนของฐานเสียง หรือที่เรียกว่า สวิง สเตท (Swing State) ซึ่งมักจะมีการเปลี่ยนแปลงของคะแนนเสียงในทุกครั้งที่มีการสำรวจก่อนการเลือกตั้ง และสวิง สเตท เป็นจุดที่สามารถชี้เป็นชี้ตายผลการเลือกตั้งในแต่ละครั้งได้

📌 อนาคตการเมืองสหรัฐฯ หลัง “รีพับลิกัน” คว้าชัย

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไป นอกจากที่นั่งเสียงข้างมากที่อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว คือเสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งกลางเทอมแต่ละครั้ง ไล่ไปจนถึงการเลือกตั้งใหญ่รอบใหม่ ว่าจะทำให้การเมืองในสหรัฐไปจนถึงนโยบายของสหรัฐเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน

ตัวอย่างกฎหมายสำคัญที่พรรคเดโมเเครตต้องการผลักดันและอาจทำไม่ได้ เช่น การทำแท้งเสรีเป็นนโยบายหลักของเดโมเเครต

จุดยืนของเดโมเเครตคือ การทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนรีพับลิกันมีจุดยืนว่า การทำแท้งควรให้แต่ละรัฐเป็นผู้ออกกฎระเบียบเอง

ขณะที่การควบคุมอาวุธปืนก็เป็นอีกประเด็นใหญ่ที่อยู่ในการเลือกตั้งทุกครั้งในแทบทุกระดับ โดยพรรคเดโมเเครตพยายามผลักดันกฎหมายควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดมากขึ้นรวมถึงการห้ามใช้อาวุธปืนแบบจู่โจม

ในขณะที่พรรครีพับลิกันประกาศชัดเจนว่า จะให้สิทธิการครอบครองอาวุธปืนอย่างเสรีให้กับชาวอเมริกันตามที่มีการระบุไว้ใน Second Amenment หรือ บทบัญญัติเพิ่มเติมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2

นอกเหนือจากการสกัดไม่ให้มีการผ่านกฎหมายแล้ว การมีเสียงข้างมากในสภายังหมายถึงพรรครีพับลิกันสามารถยกเลิกนโยบายที่สำคัญบางอย่างที่ประธานาธิบดีไบเดนประกาศใช้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น งบประมาณด้านการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การล้างหนี้กยศ.ชาวอเมริกัน และการปรับเพิ่มอัตราภาษีนิติบุคคล

การกลับมาคุมเสียงข้างมากในสภาของรีพับลิกันยังอาจหมายถึงการล้มคดีหรือข้อกล่าวหาที่มีต่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อเปิดทางให้ทรัมป์ได้ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะคดีจลาจลและการบุกอาคารรัฐสภา

เหตุการณ์บุกอาคารรัฐสภาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ในระหว่างที่วุฒิสมาชิกกำลังประชุมเพื่อประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตได้ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของประเทศ

ในตอนแรกการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ จนกระทั่งเมื่อทรัมป์เริ่มปลุกระดมผู้คน โดยบอกพวกเขาว่า ให้สู้สุดชีวิต ผู้ชุมนุมจึงเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังอาคารรัฐสภา ก่อนจะฝ่าราวกั้นเข้าไปด้านใน ในจำนวนคนที่บุกเข้าไป มีสมาชิกของกลุ่มขวาจัดหลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดอย่างกลุ่ม “คิวอะนอน” (Qanon) คนเหล่านี้บุกเข้าไปห้องต่างๆ ทำลายข้าวของ และพยายามตามหาตัวบรรดา ส.ว. ที่ทำหน้าที่รับรองชัยชนะของโจ ไบเดนในวันนั้น เช่น แนนซี เพโลซี

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีคนเสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บอีกนับร้อย หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตอนนั้นกำลังจะหมดวาระเผชิญกับการถูกถอดถอนทันที ในข้อหาปลุกปั่นยุยงให้เกิดความรุนแรง

อย่างไรก็ตามในขั้นการพิจารณาของส.ว. มติการถอดถอนไม่ถึง 2 ใน 3 เพราะได้เพียง 57 ต่อ 43 เสียง ไม่ถึง 67 เสียง จึงไม่สามารถถอดถอนได้ แต่ความพยายามเอาผิดกับทรัมป์ในข้อหายุยงปลุกปั่นยังไม่หยุด เพราะสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรคเดโมเเครตคุมเสียงข้างมากได้มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาสอบสวนต่อ

การไต่สวนเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง โดยกรรมาธิการยังเรียกเอกสารเพิ่มเติมจากทรัมป์ เช่น หลักฐานการพูดคุยทางโทรศัพท์ การส่งข้อความในวันที่เกิดเหตุ แต่ทีมงานของทรัมป์ก็ขอเลื่อนและผลัดผ่อนออกไปตลอดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเรียกตัวมาให้การ

ดังนั้น หากรีพับลิกันได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงมีโอกาสสูงมากที่คณะกรรมาธิการสืบสวนชุดนี้มีโอกาสถูกยุบ

หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นการเคลียร์ทางให้โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาผงาดอีกครั้ง และอาจเรียกได้ว่าคนที่ยินดีกับการที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภามากที่สุดคือ โดนัลด์ ทรัมป์

โดยล่าสุด ทรัมป์ขึ้นเวทีประกาศว่า นี่เป็นค่ำคืนที่น่าตื่นเต้นมาก ขณะนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าทรัมป์จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยหน้าที่จะจัดขึ้นในปี 2024 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้าโดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเขาระบุว่าจะประกาศข่าวใหญ่ในวันที่ 15 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

นอกจากการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์แล้ว การที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภายังอาจหมายถึงการแก้แค้นหรือเอาคืนทางการเมือง โดยอาจมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาสอบสวนการทำงานหลายเรื่องของประธานาธิบดีไบเดน รวมถึงการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานซึ่งถูกมองว่าเป็นไปอย่างขลุกขลักและก่อให้เกิดอันตราย

อย่างไรก็ตาม หนทางที่ทรัมป์จะได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ไม่ใช่ว่าจะราบเรียบ เพราะในพรรคเองก็มีหลายคนที่อยากเป็นตัวแทนลงชิงชัย

หนึ่งในนั้นคือ รอน ดีแซนติส ซึ่งเพิ่งจะคว้าชัยชนะได้อย่างงดงามในการชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐฟลอริดา

โดยเขาสามารถเอาชนะคู่แข่งอย่าง ชาร์ลี คริสต์ จากเดโมเครตได้อย่างขาดลอยด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 59.4  ต่อร้อยละ 40.0

รอน ดีแซนติส เป็นนักการเมืองฝ่ายขวา มีแนวคิดคัดค้านการทำแท้ง รวมถึงคัดค้านโครงการสวัสดิการต่างๆ ที่สร้างภาระด้านงบประมาณให้แก่หน่วยงานภาครัฐ

ที่ผ่านมา เขาไม่เคยปิดบังว่าอยากเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน  ไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในอนาคต แน่นอนว่าท่าทีของเขาถูก โดนัลด์ ทรัมป์ออกมาตีกันทันที

ทรัมป์เคยกล่าวโจมตีหรือเหน็บแนมดีแซนติสหลายครั้ง

เมื่อคืนที่ผ่านมา หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาชัดเจนว่าดีแซนติสชนะเลือกตั้ง ทรัมป์ออกมาประกาศว่า ดีแซนติสควรหยุดแค่นั้น ไม่ควรมีความทะเยอทะยานในการลงแข่งขันกับตัวเขา

อีกคนที่เคยแสดงความสนใจในการเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคือ เกร็ก แอบบ๊อต ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐเทกซัส

อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว  ดีแซนติส ดูเหมือนจะมีภาษีที่ดีกว่า และน่าจะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับทรัมป์มากกว่าหากเขาตัดสินใจลงแข่งขันชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันจริง

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผู้เข้าแข่งขันในนามของพรรคจะต้องผ่านการรับรองจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคตัวเองก่อน

📌 ไบเดนขอ “ความร่วมมือ” จากรีพับลิกัน

ล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงเกี่ยวกับการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ซึ่งมีการลงคะแนนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา “เป็นวันที่ดีของประชาธิปไตย” และ “ชาวอเมริกันตัดสินใจแล้ว” รัฐบาลวอชิงตันชุดปัจจุบันมีความพร้อมและยินดีทำงานร่วมกับพรรครีพับลิกัน และคาดหวังว่า อีกฝ่ายมีความพร้อมและยินดีปฏิบัติงานร่วมกับทำเนียบขาวเช่นกัน

แม้การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการยังไม่ครบทุกรัฐ แต่ในส่วนของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครีพับลิกันมีจำนวนที่นั่งนำพรรคเดโมแครต 206 ต่อ 187 ที่นั่ง โดยต้องการอย่างน้อย 218 ที่นั่ง เพื่อการครองเสียงข้างมาก

ขณะที่ผลอย่างไม่เป็นทางการของเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พรรครีพับลิกันมีจำนวนที่นั่ง 49 ที่นั่ง และพรรคเดโมแครต 48 ที่นั่ง หากผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการเป็นเช่นนี้ ต่อให้ไม่ใช่ “เรดเวฟ” หรือกระแส “คลื่นสีแดง” ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของพรรครีพับลิกัน ตามที่มีการวิเคราะห์ออกมาก่อนหน้านี้ รวมถึงการประกาศของบรรดาแกนนำพรรครีพับลิกัน รวมถึงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คาดหวังไว้ เนื่องจาก “บลูเวฟ” หรือ “คลื่นสีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของพรรคเดโมแครต ยังคงต้านทานเอาไว้ได้

ซึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวซักถามเกี่ยวกับ การเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำสหรัฐให้ได้สองสมัยติดต่อกัน ไบเดนตอบว่า “จะยืนยันช่วงต้นปีหน้า”

ด้านทรัมป์กล่าวถึงแนวโน้มผลการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ว่า “น่าผิดหวัง” แต่ “ถือเป็นชัยชนะ” สำหรับพรรครีพับลิกัน อนึ่ง อดีตผู้นำสหรัฐเตรียม “ประกาศครั้งสำคัญ” ในวันที่ 15 พ.ย. นี้ ซึ่งมีการคาดหมายว่า อาจเป็นการยืนยันการเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 2024

ที่มา :

prachachat : https://www.prachachat.net/world-news/news-1112178

thestandard : https://thestandard.co/joe-biden-exit-polls/

dailynews : https://www.dailynews.co.th/news/1667128/

thansettakij : https://www.thansettakij.com/world/546373

pptvhd : https://bit.ly/3hugJwO

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ