White Channel

16 ปีที่ผ่านมา สายพันธุ์สัตว์บนโลกที่ถูกคุกคาม เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า

เกิดอะไรในโลก : 1 ใน 4 ของสิ่งมีชีวิตบนโลกขณะนี้กำลังอยู่ในสถานะถูกคุกคาม เฉพาะกลุ่มสัตว์ มีสปีชีส์ที่ถูกคุกคามเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ศึกษาและเฝ้าระวังการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลก ได้ทำการอัปเดต “บัญชีแดง (Red List)” ในแต่ละปี ซึ่งเป็นการจัดประเภทว่า สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดอยู่ในสถานะไหน ใกล้สูญพันธุ์ หรือพบเห็นได้ทั่วไปในธรรมชาติ

ที่ IUCN ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ สิ่งมีชีวิตในกลุ่ม “สายพันธุ์ถูกคุกคาม” ซึ่งหมายถึงสปีชีส์ที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ (Critically Endangered) ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable)

การอัปเดตบัญชีแดงครั้งล่าสุดของ IUCN ได้ทำการประเมินสิ่งมีชีวิตกว่า 150,000 สปีชีส์ทั่วโลก และพบว่า เมื่อพิจารณาสิ่งมีชีวิตในทุกอาณาจักร (สัตว์ พืช ฟังไจ และโครมิสตา) มีสิ่งมีชีวิตที่เข้าข่ายถูกคุกคามอยู่ทั้งสิ้นกว่า 42,000 สปีชีส์ ที่มากสุดคือสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรพืช

การที่มีถึง 42,000 สปีชีส์ถูกคุกคามหมายความว่า 28% หรือ 1 ใน 4 ของสิ่งมีชีวิตบนโลกขณะนี้ กำลังอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างน้อย

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2007-2022 สปีชีส์สัตว์ที่ถูกจัดให้อยู่ในสถานะถูกคุกคามนั้นเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า!

โดยเมื่อปี 2007 มีสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์อยู่ในสถานะถูกคุกคามราว 7,800 สปีชีส์เท่านั้น แต่ในปี 2022 เพิ่มขึ้นมาเป็น 16,900 สปีชีส์

เมื่อพูดถึงสัตว์ที่ถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ เรามักนึกถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างลิงอุรังอุตัง ชิมแปนซี วาฬสเปิร์ม ชีตาห์ หรือโลมาหลังค่อม แต่ในความเป็นจริงแล้ว จำนวนสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกคุกคาม ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่ากับสัตว์ประเภทอื่น

ระหว่างปี 2007-2022 สายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกคุกคามเพิ่มขึ้นเพียง 22% ขณะที่สายพันธุ์สัตว์กลุ่มหอย (จำพวกหอยทาก ทาก หอยแมลงภู่ ปลาหมึก และหนอน) ถูกคุกคามเพิ่มขึ้น 145% ตามมาด้วยสายพันธุ์ปลาที่ใกล้สูญพันธุ์เพิ่มขึ้น 196%

แต่กลุ่มที่ถูกคุกคามมากเป็นพิเศษคือ แมลง ถูกคุกคามเพิ่มขึ้น 276% และกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน ถูกคุกคามเพิ่มขึ้นมากถึง 336%

สาเหตุของการที่แมลงและปลาถูกคุกคามนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดจากอะไรบ้าง ทั้งการรุกพื้นที่ป่า การจับปลา มลภาวะต่าง ๆ แต่ในส่วนของหอยและสัตว์เลื้อยคลานนั้นไม่ค่อยมีใครเขียนเกี่ยวกับต้นเหตุภัยคุกคามต่อพวกมันมากนัก

จากข้อมูลของ IUCN สัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ป่าฝน ดังนั้นจึงถูกคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่าเช่นเดียวกับสัตว์พวกแมลง นอกจากนี้ สปีชีส์สัตว์เลื้อยคลานยังไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วย ทำให้พวกมันได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในขณะที่หอยใกล้สูญพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่บนบกและในน้ำจืด พวกมันถูกคุกคามจากการทำลายที่อยู่อาศัยหรือถูกขับไล่ออกจากถิ่นที่อยู่เดิมไปโดยสายพันธุ์ผู้รุกรานที่อาจมีคนนำมาปล่อย หรืออาจถูกผลักดันมาจากการขาดอาหารอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน

สัตว์ที่นักวิทยาศาสตร์มีความวิตกกังวลเป็นพิเศษ คือหอยหลายสายพันธุ์ในกลุ่มหอยเป๋าฮื้อ (Abalone) และปะการังเสา (Pillar Coral; Dendrogyra cylindrus)

หอยเป๋าฮื้อหลายสายพันธุ์เป็นหนึ่งในอาหารทะเล ที่มีการซื้อขายกันแพงที่สุดในโลก นำไปสู่การล่าและรุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัย ประกอบกับผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด และมลพิษ ทำให้ปัจจุบัน จากหอยเป๋าฮื้อทั้งหมดที่มีบนโลก 54 สายพันธุ์ มีถึง 20 สายพันธุ์ที่ขณะนี้กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์

ขณะที่ปะการังเสานั้น เป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วทะเลแคริบเบียน ตั้งแต่คาบสมุทรยูคาทานและฟลอริดาไปจนถึงตรินิแดดและโตเบโก เดิมมีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่ล่าสุด IUCN ได้ยกระดับสถานะไป 2 ขั้น เป็นสปีชีส์ที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ หลังจากจำนวนประชากรลดลงกว่า 80% เมื่อเทียบกับช่วงปี 1990

ภัยคุกคามหลักของปะการังเสาคือโรคระบาดที่มีชื่อว่า Stony Coral Tissue Loss Disease ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาและเป็นโรคที่อัตราการระบาดสูง สามารถแพร่เชื้อไปยังแนวปะการังได้ 90-100 เมตรต่อวัน ประกอบกับการฟอกขาวที่เกิดจากน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นเพราะโลกร้อนและการทิ้งยาปฏิชีวนะ ปุ๋ย และสิ่งปฏิกูลลงทะเลมากเกินไป ทำให้ปะการังอ่อนแอลงและทำให้พวกมันอ่อนแอต่อโรค

ที่มา :

iucn : https://www.iucnredlist.org/

pptvhd : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/188757

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ