WORLD : องค์กรช่วยเหลือคูเวต ได้ส่งสิ่งของช่วยเหลือไปยังครอบครัวทางตอนเหนือของซีเรีย จากเมืองซานลิวฟ…
ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาร้อยละ 87 ไม่ต้องการย้ายไปยังเกาะห่างไกลในอ่าวเบงกอล
สื่อท้องถิ่นบังคลาเทศรายงานว่าร้อยละ 87 ของชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวไม่ต้องการจะถูกย้ายไปยังเกาะห่างไกลในอ่าวเบงกอลที่ทางรัฐบาลตั้งใจให้เป็นดินแดนแห่งใหม่ของชาวโรฮิงญา
รายงานฉบับนี้จัดโดยตำรวจสาขาพิเศษในเมืองค็อกซ์บาซาร์ ผ่านการสำรวจความเห็นของเหล่าผู้ลี้ภัย
ค็อกซ์บาซาร์ เป็นที่อยู่ของผู้ลี้ภัยนับล้านชีวิต รวมถึงชาวโรฮิงญา 7.5 แสนคนที่ข้ามฝั่งจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาเข้ามายังบังคลาเทศภายหลังการปราบปรามครั้งใหญ่ของกองทัพเมียนมาเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
ก่อนหน้านี้รัฐบาลบังคลาเทศประกาศแผนที่จะย้ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาไปยังเกาะพะสันชาร์จนกว่าจะถึงวาระการส่งตัวพวกเขากลับไปยังที่อยู่ในฝั่งเมียนมา
รายงานชี้ว่าชาวโรฮิงญากล่าวถึงเกาะที่ห่างไกลนี้พร้อมระบุเหตุผลประมาณ 10 ข้อที่ทำให้พวกเขาไม่อยากย้ายไปอยู่ที่นั่น โดยในจำนวนนั้นระบุว่า พวกเขากลัวว่าจะถูกกีดกันจากการบรรเทาทุกข์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการแพทย์ ตลอดจนต้องอยู่ห่างจากญาติพี่น้อง ฯลฯ
มุฮัมมัด หะบีบุลกะบีร เชาดูรี หัวหน้ากิจการด้านผู้ลี้ภัยประจำกระทรวงจัดการและบรรเทาภัยพิบัติบังคลาเทศบอกกับอนาโดลูว่า “รัฐบาลจะยังทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้แทนชาวโรฮิงญา, สมาชิก NGOs ท้องถิ่นและนานาชาติ ตลอดจนหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยจะพาทุกคนไปยังเกาะพะสันชาร์เพื่อตรวจสอบสภาพที่แท้จริงที่นั่นก่อนกระบวนการเคลื่อนย้ายชาวโรฮิงญาจะเริ่มต้น”
เขากล่าวเสริมว่า “การเคลื่อนย้ายจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่ารัฐบาลของเราจะยืนยันว่าสามารถจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกได้ดีกว่าในค่ายอูคียาและค่ายตักนาฟ ในเมืองค็อกซ์บาซาร์”
เชาดูรีตั้งข้อสังเกตว่าบังคลาเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม เนินเขา ผืนป่าถูกตัดทำลาย ประชาชนท้องถิ่นกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรล้นอันเกิดจากการไหลบ่าเข้ามาของผู้ลี้ภัยโรฮิงญา
ด้านคณะกรรมการบรรเทาทุกข์และส่งกลับผู้ลี้ภัยของบังคลาเทศ (RRRC) ก็สะท้อนมุมมองคล้ายกันว่า “รัฐบาลจะดำเนินการเคลื่อนย้ายชาวโรฮิงญาโดยคำนึงถึงทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องรวมถึงวิกฤติด้านมนุษยธรรมของชาวโรฮิงญา”
ที่มา : Anadolu