เกิดอะไรในโลก : อิรักมุ่งลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดการพึ่งพาอิหร่าน อับดุล วาฮับ กอเซ็ม ที่ปรึ…
จันทร์เสี้ยวแดงตุรกีแจกเนื้อกุรบานให้โรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยเมืองค็อกซ์บาซาร์
องค์กรจันทร์เสี้ยวแดงของตุรกีเริ่มแจกจ่ายเนื้อกุรบานที่เชือดในเทศกาลอีดิลอัฎหาแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัย “บุรมาปารา” เมืองค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ เมื่อวันอาทิตย์ (26 ส.ค. 61) ซึ่งในวันแรกนี้มีชาวโรฮิงญากว่า 5,000 ครอบครัวได้รับเนื้อและอาหารสำเร็จรูปจำนวนหนึ่ง
จันทร์เสี้ยวแดงของตุรกีวางแผนว่าจะเข้าถึงผู้ลี้ภัยราว 70,000 ชีวิตภายในสิ้นสัปดาห์นี้
จาฮิด ซามี กุน ผู้จัดการดำเนินงานของจันทร์เสี้ยวแดงตุรกีในบังคลาเทศกล่าวว่า “การที่พวกเขาต้องพลัดถิ่นฐานบ้านเกิดมาไกลจากเมียนมาถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขาไม่อาจร่วมฉลองเทศกาลอีดิลอัฎหา นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงจัดหาเนื้อกุรบานสำหรับผู้ลี้ภัยทุกคนในค่ายแห่งนี้ และยังเป็นครั้งแรกในบังคลาเทศอีกด้วย”
เขากล่าวว่าทีมงานของเขาต้องทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืนในแจกจ่ายเนื้อกุรบานแก่ทุกคน หวังจะเรียกรอยยิ้มให้กลับมาปรากฏบนใบหน้าของผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 กองทัพเมียนมาเปิดปฏิบัติการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา สังหารพลเรือน 23,962 ราย และบังคับให้อีกราว 750,000 คนต้องหนีเอาชีวิตรอดข้ามไปยังฝั่งบังคลาเทศ ตามรายงานฉบับล่าสุดของสำนักงานพัฒนานานาชาติออนตาริโอ (OIDA) ซึ่งเป็นการปรับประมาณการชาวโรฮิงญาที่ถูกสังหารขึ้นมากกว่ารายงานที่แพทย์ไร้พรมแดนเคยทำไว้ที่ 9,400 ราย
รายงานยังระบุอีกว่าชาวโรฮิงญามากกว่า 34,000 คนเคยถูกโยนเข้าไปในกองเพลิง ขณะที่กว่า 114,000 คนถูกทำร้ายร่างกาย สตรีและเด็กสาว 17,718 รายถูกข่มขืนโดยทหารในกองทัพเมียนมารวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย บ้านของชาวโรฮิงญา 115,000 หลังถูกเผา และอีก 113,000 ถูกทำลาย
ด้านองค์กรนิรโทษกรรมสากล (AI) ระบุว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 750,000 คน ส่วนมากเป็นเด็กและสตรี ได้ข้ามพรมแดนเข้ามายังบังคลาเทศหลังการปราบปรามอย่างหนักของรัฐบาลเมียนมาเมื่อปลายปีที่แล้ว
“โรฮิงญา” เป็นกลุ่มคนที่สหประชาชาติให้นิยามว่าเป็น “ผู้ที่ถูกข่มเหงมากที่สุดในโลก” ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความหวาดกลัวนับตั้งแต่พ.ศ.2555 ที่เริ่มมีการโจมตีชุมชนโรฮิงญาและมีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย
สหประชาชาติเคยออกรายงานการข่มขืนเป็นวงกว้างต่อสตรีโรฮิงญา การสังหารหมู่ซึ่งรวมถึงทารกและเด็ก การทุบตีอย่างทารุณ การบังคับสูญหายโดยกองทัพเมียนมา ซึ่งคณะผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติชี้ว่าทุกๆ การละเมิดข้างต้นเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ที่มา : Anadolu
https://www.aa.com.tr/en/asia-pacific/bangladesh-turkish-agency-distributes-meat-to-rohingya/1239647