ตอนที่ 2 : ญินและไสยศาสตร์มีอยู่จริง
เมื่อพูดถึงเรื่องญิน ชัยฏอน และไสยศาสตร์ บางคนอาจจะปฏิเสธ ไม่ยอมรับ ญินและนักไสยศาสตร์นั้นมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นต่อกัน เป็นตัวละครเอกในการทำไสยศาสตร์แทบทุกชนิด นักไสยศาสตร์ต้องพึ่งพาญินในการทำไสยศาสตร์ฉันใด ญินก็ต้องพึ่งพานักไสยศาสตร์ในการข้ามเขตแดนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ฉันนั้น
ศาสนาอิสลามสอนว่าญิน ไสยศาสตร์ และพลังหรืออิทธิพลต่างๆของไสยศาสตร์นั้นมีอยู่จริง มีหลักฐานคำสอนมากมายจากคัมภีร์อัลกุรอานที่พูดถึงเรื่องนี้ เช่น
ในอัลกุรอานมีกล่าวไว้ว่า
…وَإِذْ صَرَفْنَا إِلَيْكَ نَفَرًا مِّنَ الْجِنِّ يَسْتَمِعُونَ الْقُرْآنَ…
และจงรำลึกเมื่อเราได้ให้ญินจำนวนหนึ่งมุ่งไปยังเจ้า (มุฮัมหมัด) เพื่อฟังอัลกุรอาน…
(อัลอะหฺก็อฟ 46 : 29)
ท่านอับดุลลอฮ บินมัสอูด (ขออัลลอฮทรงพอพระทัย) สหายของท่านนบีมุฮัมหมัด[1] (ขอการสถาพรและความศานติจงประสบแด่ท่าน) เล่าว่า “คืนหนึ่งเราอยู่กับท่านนบี แต่แล้วท่านก็หายตัวไป พวกเราตามหาท่านทั้งที่บริเวณหุบเขาและเนินเขา แต่ก็ไม่พบท่าน จนเราคิดว่าท่านถูกฆ่าตายไปแล้ว เรานอนหลับไปโดยมีความวิตกกังวลใจเป็นอย่างมาก เมื่อถึงตอนเช้า ท่านนบีก็ปรากฏตัวมาจากทิศของถ้ำฮิรออ์ พวกเราถามท่านว่า ‘ท่านครับ เมื่อคืนพวกเราพรากจากท่าน เราตามหาท่าน แต่ก็ไม่พบท่าน กระทั่งเรานอนหลับไปด้วยความกังวลใจอย่างมาก’ ท่านนบีตอบว่า ‘ตัวแทนจากหมู่ญินตนหนึ่งได้มาหาฉัน และฉันก็ไปกับเขาเพื่ออ่านโองการอัลกุรอานให้แก่พวกเขา’”
หรือในตอนหนึ่งของอัลกุรอาน อัลลอฮทรงตรัสไว้ว่า
وَاتَّبَعُوا مَا تَتْلُو الشَّيَاطِينُ عَلَىٰ مُلْكِ سُلَيْمَانَ ۖ وَمَا كَفَرَ سُلَيْمَانُ وَلَـٰكِنَّ الشَّيَاطِينَ كَفَرُوا يُعَلِّمُونَ النَّاسَ السِّحْرَ وَمَا أُنزِلَ عَلَى الْمَلَكَيْنِ بِبَابِلَ هَارُوتَ وَمَارُوتَ ۚ وَمَا يُعَلِّمَانِ مِنْ أَحَدٍ حَتَّىٰ يَقُولَا إِنَّمَا نَحْنُ فِتْنَةٌ فَلَا تَكْفُرْ ۖ فَيَتَعَلَّمُونَ مِنْهُمَا مَا يُفَرِّقُونَ بِهِ بَيْنَ الْمَرْءِ وَزَوْجِهِ ۚ وَمَا هُم بِضَارِّينَ بِهِ مِنْ أَحَدٍ إِلَّا بِإِذْنِ اللَّـهِ ۚوَيَتَعَلَّمُونَ مَا يَضُرُّهُمْ وَلَا يَنفَعُهُمْ ۚ وَلَقَدْ عَلِمُوا لَمَنِ اشْتَرَاهُ مَا لَهُ فِي الْآخِرَةِ مِنْ خَلَاقٍ ۚ وَلَبِئْسَ مَا شَرَوْا بِهِ أَنفُسَهُمْ ۚ لَوْ كَانُوا يَعْلَمُونَ
และพวกเขาได้ปฏิบัติตามสิ่งที่บรรดาชัยฏอนในสมัยกษัตย์สุลัยมานอ่านให้ฟัง และสุลัยมานมิได้ปฏิเสธศรัทธาแต่อย่างใด แต่ทว่าชัยฏอนเหล่านั้นต่างหากที่ปฏิเสธศรัทธา โดยสอนประชาชนซึ่งวิชาไสยศาสตร์และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่มะลาอิกะฮฺทั้งสองคือ ฮารูตและมารูต ณ เมืองบาบิโลน และเขาทั้งสองจะไม่สอนให้แก่ผู้ใดนอกจากจะกล่าวว่า แท้จริงเราเป็นผู้ทดสอบเท่านั้น ฉะนั้นท่านจงอย่าปฏิเสธการศรัทธาเลย แล้วเขาเหล่านั้นก็ศึกษาจากทั้งสอง ซึ่งสิ่งที่พวกเขาจะใช้มันสร้างความแตกแยกระหว่างคนๆหนึ่งกับภรรยาของเขา และพวกเขาไม่อาจทำให้สิ่งนั้น(คือ วิชาไสยศาสตร์)เป็นอันตรายแก่ผู้ใดได้ นอกจากด้วยการอนุมัติของอัลลอฮฺเท่านั้น และพวกเขาก็เรียนสิ่งที่เป็นโทษ และมิได้เป็นคุณแก่ตัวพวกเขาเอง และแท้จริงนั้นพวกเขารู้ว่า แน่นอนผู้ที่ซื้อมันไว้นั้น ในวันปรโลกย่อมไม่มีส่วนได้ใดๆ และแน่นอนว่า เป็นสิ่งที่ชั่วช้าจริง ๆ ที่พวกเขาขายตัวของพวกเขาเองด้วยสิ่งนั้น หากพวกเขารู้
(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 102)
อายะฮฺที่ 6 ซูเราะฮฺ[2]อัลอันอาม, อายะฮฺที่ 91 ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ, อายะฮฺที่ 117-122 ซูเราะฮฺอัลอะอฺร็อฟ และซูเราะฮฺอัลฟะลักทั้งซูเราะฮฺ ก็มีพูดถึงเรื่องนี้ รวมถึงในซูเราะฮฺอื่นๆ และในวจนะของท่านนบีมุฮัมหมัดด้วย (ขอการสถาพรและความศานติจงประสบแด่ท่าน)
การอ้างว่าไสยศาสตร์เป็นเรื่องเหลวไหล หรือเป็นเพียงจินตนาการที่คนสร้างขึ้นมาเองนั้น ไม่อาจหักล้างความจริงที่ว่า ไสยศาสตร์มีอยู่จริงๆ และอิทธิพลของมันก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์จริงๆ เป็นวิชาที่สามารถถ่ายทอดและศึกษาต่อกันได้ อิทธิพลของมันอาจส่งผลทำให้คนสองคนเกิดเสน่หาหลงรักกัน หรืออาจทำให้โกรธเคืองจนเกลียดชังกันก็ได้ สามีภรรยาต้องหย่าร้างตัดขาดจากกัน บางคนอาจเจ็บไข้ได้ป่วย และในบางรายอาจถึงขั้นสิ้นชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและระดับความรุนแรงของไสยศาสตร์ที่นักไสยศาสตร์ทำขึ้นมา
หากบางสิ่งบางอย่างทำให้ชีวิตหนึ่งตายลงได้ เช่น ยาพิษหรืออาวุธ และบางอย่างทำให้ป่วยไข้ได้ เช่น โรคทั้งหลาย และบางอย่างก็สามารถรักษาอาการป่วยได้ เช่น ตัวยาและการรักษารูปแบบต่างๆ ไสยศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลแต่อย่างใด เพียงแต่มันอยู่ในรูปแบบที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจและไม่มีความรู้เกี่ยวกับมันเท่านั้นเอง
การทำไสยศาสตร์ทำให้มนุษย์และญินต้องฝ่าฝืนกฎธรรมชาติที่พระเจ้าทรงกำหนดเอาไว้ อีกทั้งยังเป็นอันตรายและสร้างความเสียหายใหญ่หลวง อิสลามจึงห้ามศึกษาเรียนรู้และทำไสยศาสตร์ และถือว่ามันเป็นหนึ่งในภยันตราย 7 ประการที่ท่านเราะซูลกำชับให้หลีกห่าง[3] เป็นบาปใหญ่ที่อาจนำไปสู่การปฏิเสธศรัทธาและตกศาสนาได้
[1] นบี / เราะซูล หมายถึง ศาสนทูตของพระเจ้า เป็นชื่อเรียกตำแหน่งของผู้ที่ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของพระองค์ในการนำสาส์นมาบอกแก่มนุษย์ ชาวมุสลิมชอบใช้คำว่า “ท่านนบีมุฮัมหมัด” หรือ “ท่านเราะซูลุลลอฮ” แทนการเรียกศาสนฑูตคนสุดท้าย
[2] ซูเราะฮฺ หมายถึง บทต่างๆที่มีอยู่ในอัลกุรอาน โดยแบ่งออกเป็น 114 บท เรียกว่า “ซูเราะฮฺ”
[3] ภยันตราย 7 ประการ ได้แก่ การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ, การทำไสยศาสตร์, การฆ่าชีวิตที่ต้องห้าม, ดอกเบี้ย, การกินทรัพย์สินเด็กกำพร้า, การหนีสงคราม และการใส่ร้ายหญิงมุสลิมที่บริสุทธิ์ว่าผิดประเวณี (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม)