เกิดอะไรในโลก : ชาวอิสราเอลตั้งถิ่นฐานผิดกฎหมาย เพิ่มขึ้น 62% ในปีที่ผ่านมา Peace Now องค์กรพัฒนาเอก…
COVID-19: หมอเฉลิมชัยเผยมาเลเซียเข้าสู่สถานการณ์วิกฤติทางสาธารณสุข ต้องเลือกช่วยผู้ป่วยโควิดและปล่อยให้ชีวิตบางราย จี้รัฐบาลไทยออกมาตรการแบบไม่ต้องเกรงใจใคร หวั่นหมอไทยต้องเผชิญแบบเดียวกัน
.
รายงานข่าวระบุว่า นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” โดยระบุข้อความว่า
.
มาเลเซีย เข้าสู่สถานการณ์วิกฤติทางสาธารณสุขแล้ว ถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจะช่วยใคร และจะปล่อยให้ใครต้องตายไป อย่าให้หมอไทยต้องซ้ำรอยแบบหมอมาเลเซียเลย คือ เหตุการณ์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดไม่ไหว แล้วต้องเลือกว่าจะช่วยใครให้รอด และจะต้องปล่อยใครให้ตาย เป็นเรื่องที่ร้ายแรงและกระทบจิตใจหมอและพยาบาลมากที่สุด สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย
.
รายงานข่าวจากมาเลเซียแจ้งว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด มีการระบาดที่รุนแรงหนักหน่วงมาก แม้จะทยอยมีมาตรการเข้มข้นปานกลางออกมาตลอดสามสัปดาห์ ก็ไม่ทันการณ์ ไม่ทันเวลา พอที่จะชะลอหรือยับยั้งจำนวนผู้ป่วยโควิดจำนวนมากไว้ได้ ทำให้มีการเพิ่มผู้ติดเชื้อรายวัน ทำสถิติสูงสุดใหม่ทุกวัน เกือบ 10,000 รายต่อวันแล้ว จนระบบสุขภาพของมาเลเซีย ไม่สามารถจะรองรับผู้ป่วยหนักเข้ามาในหอผู้ป่วยหนักหรือไอซียูได้อีกต่อไป ทำให้รัฐบาลมาเลเซีย ต้องตัดสินใจล็อกดาวน์ทั้งประเทศเป็นเวลา 14 วัน
.
หมอมาเลเซีย กำลังเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตทางจิตใจและจรรยาบรรณ จะต้องทำหน้าที่ตัดสินใจเลือกช่วยผู้ป่วยบางราย และปล่อยผู้ป่วยบางรายให้เสียชีวิตไป เนื่องจากไอซียูและเครื่องช่วยหายใจไม่พอ สิ่งที่หมอทุกคนกลัวมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องขาดความรู้ความสามารถในการช่วยคนไข้ หากแต่รู้ว่าพอจะช่วยได้ แต่ต้องปล่อยไป เพราะไม่มีเตียงผู้ป่วยหนัก ไม่มีเครื่องช่วยหายใจไม่มีทีมงานที่จะดูแลอย่างมีคุณภาพ
.
หมอทุกคนได้รับการอบรมสั่งสอนมา จนเข้าไปในจิตใต้สำนึก ที่จะต้องพยายามช่วยผู้ป่วยทุกคนทุกราย จนสุดความสามารถ ไม่ว่าจะเหนื่อยยากมากเพียงใดก็ตามแม้บางครั้งจะทำสำเร็จ บางครั้งจะล้มเหลว ยื้อชีวิตไว้ไม่ได้ทุกรายไป แต่ก็จะไม่เสียใจเลย ถ้าได้มีโอกาสทำอย่างเต็มที่ ทำอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ถ้าหมอต้องมาเจอเหตุการณ์ที่พบผู้ป่วย ที่พอจะมีโอกาสรอด แต่ต้องปล่อยให้ตายไป เป็นเรื่องที่สุดจะทนทานไหว กระทบต่อจิตใจของหมอและพยาบาลมาก
.
ในสถานการณ์โควิดระบาด ถ้ามาตรการต่างๆ ออกมาช้าไป เข้มข้นน้อยไป ไม่ทันการณ์จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ผู้ป่วยหนักถาโถมเข้ามาในระบบโรงพยาบาล โดยเฉพาะหอผู้ป่วยวิกฤตหรือไอซียู และการที่จะต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดหรือการใช้เครื่องช่วยหายใจแต่ละราย จะต้องใช้เตียงและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆนานหลายสัปดาห์ บางคนอาจนานหลายเดือน จึงทำให้โอกาสที่เตียงจะว่างนั้นน้อยลงมาก
.
เวลาพูดกันว่าเตียงเต็ม ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเตียง ไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือ แต่หมายความว่า คุณหมอคุณพยาบาลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และมีประสบการณ์ดูแลในหอผู้ป่วยวิกฤตไอซียูมีไม่พอ ไม่ใช่เรื่องที่จะเอาบุคลากรมาทำแทนกันได้ง่ายง่าย ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ที่จะมีเตียง มีเครื่องช่วยหายใจ แต่บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ มีไม่เพียงพอ ไม่ได้มีโอกาสพักผ่อน สุดท้ายแม้ได้นอนในไอซียู ก็ไม่ถึงคุณภาพการช่วยชีวิตแบบไอซียู
.
วันนี้มาเลเซีย กำลังประสบเหตุการณ์เดียวกับอิตาลีและหลายประเทศในยุโรปเมื่อปีที่แล้ว ที่ทีมหมอและพยาบาลต้องยืนหลั่งน้ำตา ทำสิ่งที่ไม่อยากจะทำ ทำสิ่งที่ไม่ใช่อุดมการ ไม่ใช่จรรยาบรรณคือต้องตัดสินใจว่า จะรับคนนี้เข้าไว้ในไอซียู แล้วจะปล่อยคนนั้นให้ต้องต่อสู้ตามยถากรรมอยู่นอกไอซียู มันเป็นเรื่องที่โหดร้ายมาก ทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองต่อญาติพี่น้องผู้ป่วย และโหดร้ายพอๆกันสำหรับหมอและพยาบาล ที่ต้องตัดสินใจเรื่องแบบนี้
.
ขอความกรุณาผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้โปรดรีบดำเนินการทุกวิถีทาง อย่าให้หมอไทยต้องประสบกับเหตุการณ์แบบนี้เลยทำอะไรได้ โปรดรีบตัดสินใจทำให้เร็วที่สุด ไม่ต้องเกรงใจใครทั้งนั้นครับ