การโกงที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้
“โกง” คือการใช้อุบายหรือเล่ห์เหลี่ยมหลอกเพื่อเอาเปรียบ หรือเอาผลประโยชน์มาเป็นของตนเอง เป็นการใช้วิธีการที่ผิดศีลธรรมหรือไม่สุจริตเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งก็กินความหมายกว้างไปถึงการให้สินบน การเล่นพรรคเล่นพวก ความไม่ซื่อสัตย์ การเลือกที่รักมักที่ชัง เป็นต้น
ดูเหมือนว่า ข่าวคราวเรื่องการโกงจะเป็นที่แพร่หลายกันมากในสังคมของเรา ทั้งโกงข้อสอบ โกงแชร์ โกงโฆษณา โกงที่ดิน โกงอำนาจ โกงการเมือง หรือแม้แต่โกงค่าอาหารเด็กนักเรียน และโกงเงินคนจน โกงกันรายวัน ซึ่งเป็นความกังวลที่หลายภาคส่วนพยายามแก้ไขและป้องกัน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน ในทุกสังคม ของทุกรัฐบาล และทุกยุคทุกสมัยคือ “การโกงเวลา” ผมต้องออกตัวก่อนว่า บทความนี้เขียนขึ้นนอกจากเพื่อสะกิดพี่น้องผู้อ่านแล้ว สำคัญสุดเลยก็เพื่อเตือนสำทับตัวผู้เขียนเองด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้เราทุกคนได้ระมัดระวังและพยายามให้การโกงเวลานี้เกิดกับตัวเราให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“การโกงเวลา” เกิดขึ้นเมื่อเราไม่รับผิดชอบหรือบกพร่องในความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเวลา ทั้งที่เราได้ให้สัญญาเอาไว้หรือที่ได้ตกลงร่วมกัน ทั้งในเรื่องการทำงานหรือเรื่องอื่นๆที่มีเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น พนักงานที่ไม่รักษาเวลา อาจจะเข้างานสายเป็นประจำโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือเจ้าหน้าที่ที่กินเงินเดือน โดยไม่ได้ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย
พนักงานที่ได้ทำสัญญาจ้างเข้าทำงานในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ โดยเขามีหน้าที่ทำงานที่ได้รับมอบหมายในเวลาที่กำหนด แลกกับค่าจ้างตามที่ได้ตกลงกัน ฉะนั้น เขาควรทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด และใช้เวลางานเพื่อการทำงานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ใช้ให้เราทำหน้าที่ของเราให้ครบถ้วน ส่วนท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ใช้ให้เราปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ได้ตกลงร่วมกัน
อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
إِنَّ اللَّـهَ يَأْمُرُكُمْ أَن تُؤَدُّوا الْأَمَانَاتِ إِلَىٰ أَهْلِهَا
แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้พวกเจ้าให้มอบคืน “อมานะฮฺ” แก่เจ้าของของมัน (อันนิซาอ์ 4 : 58)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยกล่าวไว้ว่า
المُسْلِمُوْنَ عَلَى شُرُوْطِهِمْ
ชาวมุสลิมนั้นมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไข (หรือข้อตกลง) ของพวกเขาให้ครบถ้วน (บันทึกโดยมุสลิม)
การไม่ทำงานตามเวลาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือใช้เวลาทำงานเพื่อผลประโยชน์อื่นที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน ถือเป็นการโกงเวลาเช่นกัน ซึ่งทั้งไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องแน่นอน และมีหะดีษของท่านนบีที่ห้ามการทำเช่นนี้ด้วย
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
إِنَّ اللَّهَ حَرَّمَ عَلَيْكُمْ عُقُوْقَ الأُمَّهَاتِ، وَوَأْدَ الْبَنَاتِ، وَمَنَعَ وَهَاتِ
แท้จริงอัลลอฮฺทงห้ามการเนรคุณต่อพ่อแม่ ฆ่าลูกสาว[1] และ “มะนะอะ วะฮาต” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม)
คำว่า “มะนะอะ วะฮาต” นักวิชาการได้อธิบายเอาไว้ว่าหมายถึง การไม่ยอมทำหน้าที่ของตนเอง หรือการเรียกร้องสิ่งที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ได้รับ เช่น เรียกร้องให้บริษัทออกเงินเดือนเต็มจำนวน และ/หรือตรงเวลา ทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำงานของตนเองด้วยดี เข้างานสาย เข้าเป็นบางช่วง ออกจากออฟฟิศโดยไม่ได้รับอนุญาต ใช้เวลางานเล่นเกมหรือทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงาน
นอกจากนั้น นักวิชาการยังบอกอีกว่า เงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่รับมาโดยไม่เหมาะสม คือได้ค่าตอบแทนดีกว่าปริมาณและ/หรือคุณภาพของงานที่ทำจริง ถือว่าเป็นรายได้ที่ได้มาโดยไม่สุจริต
ถ้าตอนนี้ได้เวลาทำงานของเราแล้ว แต่เรายังอยู่ข้างนอก หรือกำลังทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งาน นั่นก็หมายความว่า เรากำลังโกงเวลาอยู่* ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เราทุกคนก็คงเคยโกงเวลากันมาบ้างมากน้อยแล้วแต่คนไป แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อรู้ตัวแล้วก็ไม่ควรปล่อยผ่านไป หยุดเดี๋ยวนี้ และพยายามเลิกหรือลดแต้มโกงนี้ให้เหลือน้อยที่สุด และทำงานของเราให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ หวังว่าอัลลอฮฺจะทรงเมตตาเรา อภัยในความผิดพลาดของเรา และช่วยเหลือชิวิตการทำงานของเรา และให้เวลาของเรามีความบะรอกะฮฺ (สิริมงคล) ยิ่งขึ้น
*ในกรณีที่มีข้อตกลงระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง หรือหัวหน้างานว่า สามารถทำงานอื่นได้ในเวลางานถ้าไม่กระทบงานหลัก การทำงานอื่นในเวลางาน หลังงานหลักของเราเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด
[1] ศาสนาอิสลามห้ามฆ่าชีวิตใครหรืออะไรโดยไม่ชอบธรรม แต่ในหะดีษบทนี้พูดถึงลูกสาวหรือเด็กผู้หญิงเท่านั้น เนื่องจากในสมัยญาฮีลียะฮฺ ผู้คนมักจะฆ่าเด็กผู้หญิง เพราะถือเป็นความอับอายของวงศ์ตระกูล