กรุณาตรวจสอบพฤติกรรมตามลักษณะต่อไปนี้ :
“การนินทามีหลายแบบ บางคนนินทาเพราะเออออคนที่นั่งอยู่ด้วย รู้ว่าคนที่ถูกนินทา ไม่เป็นเช่นนั้น หรืออาจมีบางส่วนเช่นนั้น แต่เขาก็มองว่าถ้าไปแย้ง เดี๋ยวทำลายบรรยากาศ ขัดขาคนในวง หรือทำให้คนตีตัวออกห่าง มองว่า การเงียบ เออออไว้ก่อน เป็นมารยาทอย่างหนึ่ง หรือหน้าที่ของเพื่อนร่วมวงที่ดี บางที คนในวงอาจโกรธอีกคนหนึ่ง ก็โกรธเออออไปด้วย จนถลำตัวไปกับวงนินทานั้น
บางส่วนก็นินทา ด้วยรูปแบบที่แตกต่างไป
บางครั้ง ก็ในรูปเชิงศาสนา เชิงอยากแก้ไข หวังดี เช่น กล่าวว่า “ปกติฉันไม่พูดถึงใครไม่ดี และไม่ชอบนินทา ไม่ชอบโกหก แต่ฉันแค่จะให้เธอได้รู้ถึงสภาพหรือเรื่องราวของคนนั้น” และกล่าวว่า “วัลลอฮฺ คนนั้น น่าสงสาร หรือ คนนั้นเป็นคนดี แต่เขามีจุดที่นี้ จุดนั้น..” หรืออาจด้วยการกล่าวว่า “เลิกพูดถึงเขาเถอะ ขออัลลอฮฺอภัยให้เราและเขาพอ” พูดเช่นนั้น แต่ลึก ๆ เพื่อลดทอนคนที่ตนนินทา ล่วงเกินสิทธิของเขา แต่กลับแสดงออกมาในเชิงศาสนา เชิงความหวังดี พวกเขาหลอกลวงอัลลอฮฺด้วยสิ่งนั้น เหมือนที่หลอกลวงผู้คน เรามักเห็นคนพวกนี้มากมายหลายแบบ และที่คล้าย ๆ นี้ด้วย
บางคน ยกคนอื่นอย่างโอ้อวด เพื่อยกตัวเอง เช่นกล่าวว่า “ถ้าเมื่อวานฉันดุอาให้เขาในการละหมาดของฉัน เขาคงไม่เป็นเช่นนี้ เช่นนั้น” เพื่อยกตัวเอง และดูถูกคนอื่น หรือพูดว่า “คนนั้น ไม่ฉลาด ไม่เข้าใจถ่องแท้” นัยคือ ชมตัวเองว่าตัวเองรู้ หรือดีกว่าคนนั้น
บางคน มีความอิจฉาเป็นตัวผลักดันให้นินทา เขาจึงรวม 2 นิสัยที่น่าเกลียดไว้ด้วยกัน -ขี้นินทาและขี้อิจฉา- เมื่อมีคนชมคนหนึ่ง ก็จะพยายามยกข้อเสียของคนนั้นมา ในรูปแบบศาสนาและคนดี หวังดี หรืออาจจะในรูปของอิจฉา น่าเกลียด เสียดสี เพื่อเหยียดอีกคนให้ได้
บางคน ก็นินทา ในรูปแบบล้อเล่น ขำขัน เช่นพูดว่า เพื่อทำให้คนอื่นหัวเราะ ด้วยการเหยียด การท่าล้อเลียน การกดคนอื่น การเย้ยเยาะ บางคน ก็นินทาในรูปแบบทำเป็นตกใจ ประหลาดใจ “แปลกเนอะ คนนั้น ทำไมไม่ทำเช่นนี้ เช่นนั้น แปลกเนอะ คนนั้น ทำไมเป็นแบบนั้นไปได้” กล่าวถึงชื่อคนหนึ่งในรูปตกใจ ประหลาดใจ
บางคน ก็นินทาในรูปความหดหู่ใจ เช่น พูดว่า “คนนั้น น่าสงสารเนอะ ฉันหดหู่ใจเหลือเกินกับสิ่งที่เกิดขึ้น” คนที่ฟัง อาจรู้สึกว่า เขาหดหู่ เสียใจ หรือเป็นห่วงเป็นใยจริง แต่ใจของเขา ปกปิดความดีใจ สะใจไว้ ถ้ามีโอกาสคงเหยียบซ้ำอีก หรืออาจจะไปเล่าต่อให้ศัตรูคนนั้น เพื่อพวกเขาจะได้หนำใจ สิ่งนี้และทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นโรคทางใจที่ใหญ่หลวง เป็นการหลอกลวงอัลลอฮฺและมนุษย์
บางคน ก็ฉายการนินทา ในรูปแบบความโกรธความผิด การต่อต้านความชั่ว เขาก็แสดงในรูปแบบนี้ ด้วยคำพูดที่สวย ๆ ในขณะที่ลึก ๆ ไม่ได้คิดเช่นนั้น อัลลอฮุลมุสตะอาน”
[มัจมูอฺ ฟะตาวา โดยอิบนุตัยมีนะฮฺ เล่ม 27 หน้า 142-143]