White Channel

EDUCATION : ม.เกริกจับมือซาอุฯ อบรมบุคลากรสอนภาษาและวัฒนธรรมอาหรับ ครั้งที่ 1 เสริมสร้างความร่วมมือวิชาการ คนแห่ร่วมกว่า 300 คน

.

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 มหาวิทยาลัยเกริก โดย ศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ร่วมกับ King Salman Global Academy for Arabic Language ได้จัดโครงการอบรมภาษาอาหรับ ในหัวข้อ “กลยุทธ์การเรียนการสอนภาษาอาหรับสำหรับผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา โดยมี ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุ ผอ.สถาบันวะสะฏียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี เป็นประธานเปิดงาน มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากกว่า 300 คน เข้าร่วมงานครั้งนี้

.

ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือ MOU กับหน่วยงาน/องค์กรที่สำคัญต่างๆในการพัฒนา ขับเคลื่อนภาษาอาหรับ และได้รับเกียรติจากแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนาที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นพยานกิตติมศักดิ์ในพิธีลงนามความร่วมมือ และองค์ปาฐกกล่าวปาฐกถาพิเศษ

.

รศ.สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกริก ได้กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติในโครงการอบรมครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยเกริกนั้นมีความโดดเด่นในด้านภาษามายาวนาน ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาอาหรับในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกริกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้ทางสถาบัน King Salman Global Academy for Arabic Language ได้ให้ความอนุเคราะห์จัดโครงการอบรมในครั้งนี้ร่วมกับศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตเราจักได้มีโครงการดีๆร่วมกันอีกเพื่อพัฒนาศักยภาพภาษาอาหรับในประเทศไทย

.

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ผู้อำนวยการสถาบันวะสะฏียะห์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา ผู้แทนทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี เป็นผู้แทนจุฬาราชมนตรีเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ และบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ความสำคัญของภาษาอาหรับในยุคใหม่” ภาษาอาหรับนั้นเป็นหนึ่งในภาษาเก่าแก่ เป็นภาษาของคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นภาษาที่ 6 ของสหประชาชาติ และเป็นภาษาที่สำคัญในการติดต่อสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นในกิจการส่วนตัว ธุรกิจ การค้า หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ตาม ดังกล่าวนี้เองความสำคัญในการศึกษาภาษาอาหรับจึงมีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการของผู้คนเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ไม่เพียงเฉพาะมุสลิมเท่านั้น โครงการอบรมในครั้งนี้ที่จัดขึ้นในกรุงเทพ เมืองหลวงของประเทศไทย จึงเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างมาก ในโอกาสนี้ขอขอบคุณทางซาอุดีอาระเบียที่ผลักดัน ส่งเสริมการพัฒนาภาษาอาหรับไปทั่วโลก ขอบคุณทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกริก และคณาจารย์ศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพที่จัดโครงการที่ดีในวันนี้ขึ้น

.

แพทย์หญิงเพรชดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม องค์ปาฐกในโครงการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สามสัมพันธ์ทางการศึกษา ไทย-ซาอุดีอาระเบีย” ซึ่งท่านรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมโครงการที่สำคัญในวันนี้ ในฐานะผู้แทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รู้สึกปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทาง King Salman Global Academy for Arabic Language ร่วมกับศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ได้จัดโครงการอบรมในครั้งนี้ขึ้น ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาษาอาหรับของเยาวชนมาโดยตลอด มีโรงเรียนที่มีการสอนภาษาอาหรับอยู่มากมาย และท่านยังได้เล่าถึงภายหลังการฟื้นความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย ที่ท่านได้มีโอกาสเดินทางเข้าเยี่ยมเจ้าหญิง Nourah bint Abdulrahman ที่ริยาด ได้หารือถึงแนวทางในการพัฒนาสถาบันการศึกษาในประเทศไทย พัฒนาองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ และความสามารถทางภาษาเช่นกัน ซึ่งท่านยินดีมากที่ได้เห็นศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพให้บริการตอบรับความต้องการของสังคมไทย นักศึกษามหาวิทยาลัยเกริกแสดงศักยภาพในวาระโอกาสต่างๆมากมาย อาทิ งานประชุม APEC2022 งานแสดงสินค้า Thaifex และอื่นๆอีกมากมาย หวังว่าจากสายสัมพันธ์อันดีระหว่างซาอุดีอาระเบีย – ไทย จะเป็นประตูสู่การพัฒนาศักยภาพภาษาอาหรับในอนาคต ให้บรรดาคณาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจภาษาอาหรับในประเทศไทย

.

คุณชาครีย์นรทิพ เสวิกุล ผู้อำนวยการกองตะวันออกกลาง กรมเอเซียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของภาษาในเวทีการทูต” ซึ่งท่านได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ท่านได้พบ ในชีวิตนักการทูตของท่าน ชีวิตต่างถิ่น ต่างภาษา ปัญหาอุปสรรคต่างๆมากมายที่ต้องพบเจอ ในทางการทูตนั้นภาษาเป็นตัวแปรที่สำคัญมาก เพียงคำทักทายด้วยภาษาๆนั้น เช่นการให้สลามทักทาย ก็ประดุจดังกุญแจเปิดประตู เปิดหัวใจ ให้ได้สนิทสนม รู้จักกัน อีกทั้งยังเป็นกุญแจสู่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เป็นดั่งสะพานที่เชื่อมหลอมรวมผู้คนเอาไว้ ฉนั้นแล้วทางการทูต ภาษาเป็นสิ่งที่มีอาณุภาพ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง “เรียนภาษาใหม่ๆ แล้วโลกของคุณจะกลายเป็นโลกใหม่”

.

ในช่วงเช้าของโครงการอบรม ยังได้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยเกริก กับหน่วยงาน/องค์กรต่างๆที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาภาษาอาหรับในประเทศไทย ได้แก่

1.สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งประเทศไทย

2.ชมรมวิทยากรอิสลามศึกษา กรุงเทพมหานคร

3.ชมรมวิทยากรภาษาอาหรับ

4.สมาคมฮาฟิศกุรอานแห่งประเทศไทย

5.ชมรมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

.

ดร.ฟะฮัด อัลอุ้ลยาน ที่ปรึกษาสถาบัน King Salman Global Academy for Arabic Language เดินทางมาจากซาอุดีอาระเบีย เพื่อมาให้ความรู้ในโครงการอบรมครั้งนี้ ซึ่งท่านได้สอนถึงกลยุทธ์ที่สำคัญในการเรียน การสอน ภาษาอาหรับ ที่เหล่าบรรดาคณาจารย์ และนักศึกษาที่เข้าอบรมจักได้นำไปใช้ประโยชน์ และท่านประทับใจอย่างยิ่ง ที่มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก และยังได้ประกาศถึงข่าวอันดีสำหรับโครงการอบรมในครั้งต่อไป ที่จะได้จัดขึ้นในระยะเวลาที่นานขึ้น และมีหัวข้อที่หลากหลาย ในช่วงท้ายท่านยังได้ขอบคุณยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกริกและคณาจารย์ทุกท่าน ที่มีสวนช่วยในการจัดโครงการอบรมในครั้งนี้ขึ้นมา

.

นับว่าเป็นโอกาสดีที่ศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก จะได้สร้างเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ ในการพัฒนาทางด้านวิชาการ ด้านภาษาอาหรับต่อไป

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ