วันนี้ (29 พ.ค. 67) เวลา 14:00 น.ที่ห้องประชุมใหญ่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้จัดแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้และศูนย์ผลิตหลักสูตรและตำราภาษาอาหรับ Arabic for All Company
.
การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่จะเป็นการลงนามเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการนำหลักสูตรการอบรมและเทคนิคการสอนภาษาอาหรับเข้ามาใช้ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดย Arabic for All เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาอาหรับให้กับชาวต่างชาติมานานถึง 23 ปี และดำเนินการมาแล้วกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
.
วัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้คือการพัฒนากระบวนการสอนภาษาอาหรับในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอย่างเป็นระบบในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
.
นายขดดะรี บินเซ็น นายกสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ กล่าวว่า ตนได้เห็นปัญหาผลสัมฤทธิ์ในการจัดการเรียนการสอนภาษาอาหรับในบ้านเราที่เรียนกันหลายปีแต่สื่อสารไม่ได้ ไปทำงานไม่ได้ เมื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศก็ยังต้องเสียเวลาเรียนปรับพื้นฐานทางภาษาอีกอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี จึงมีความพยายามที่จะยกร่างหลักสูตรใหม่ซึ่งจะใช้เป็นหลักสูตรทางการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและได้นำหลักสูตรของ Arabic for All มาปรับใช้ ด้วยความมุ่งหวังว่าเด็กไทยเมื่อเรียนภาษาอาหรับผ่านหลักสูตรนี้ตั้งแต่ประถมต้นจนถึงมัธยมปลายจะสามารถใช้ภาษาอาหรับในการสื่อสารได้ ตลอดจนเข้าใจอัลกุรอานและนำไปใช้ในชีวิตได้
.
ศอลิห์ อัฎฎ็อลอาน ผู้จัดการทั่วไปของ Arabic for All ประเทศซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า จุดแข็งขององค์กรคือการจัดทำหลักสูตรอบรมครูผู้สอนพร้อมคู่มือครูโดยอบรมครั้งละ 5 วัน ทำมาแล้วกว่า 300 ครั้งเพื่อสร้างผู้สอนที่มีประสิทธิภาพ และยังมีการจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้เรียนที่ไม่ใช่ผู้ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาแม่ โดยมีเป้าหมายการสอนภาษาอาหรับให้ทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม มีหลักสูตรที่เหมาะสมกับทุกกลุ่มอายุซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
.
การดำเนินการกว่า 23 ปีในกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการอบรมและหลักสูตรของ Arabic for All
.
ทั้งนี้ ในเวลาเดียวกันที่มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจที่กรุงเทพฯ ก็มีการอบรมครูผู้สอนตามหลักสูตรของ Arabic for All ที่จังหวัดสตูล และจะมีการอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อวางรากฐานที่ดีให้กับการศึกษาและอนาคตของเยาวชนไทย