หลายท่านเป็นนักเรียน/นักศึกษา คนทำงานประจำ หรือฟรีแลนซ์ ที่มีตารางว่าง และกิจกรรมในชีวิตประจำวันไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เราต้องการทำความดีเพิ่มเติมจากเราะมะฎอน ให้เต็มที่ เต็มกำลัง และหนึ่งในนั้นคือการถือศีลอด 6 วันในเดือนเชาวาล
บทความนี้จะแนะนำ ทำความรู้จักความรู้เบื้องต้น และ ฮาวทูวิธีบวชเดือนเชาวาลให้ครบ 6 วัน อ่านด้านล่างกันเลยครับ..
1. ถือศีลอด 6 วันเพิ่มจากในเราะมะฎอน ได้ผลรวมเท่ากับ 1 ปี
عَنْ أَبِي أَيُّوبَ الأَنْصَارِيِّ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ أَنَّهُ حَدَّثَهُ أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : «مَنْ صَامَ رَمَضَانَ ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ». (مسلم رقم 1984)
ความว่า จากท่านอบู อัยยูบ อัล-อันศอรีย์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่า ได้ฟังท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน หลังจากนั้นได้ถือศีลอดอีกหกวันในเดือนเชาวาล เขาจะได้รับผลบุญประหนึ่งถือศีลอดหนึ่งปี”
(รายงานโดย มุสลิม)
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการทำความดีจะถูกคูณด้วยสิบ การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนหนึ่งเดือนจะเท่ากับสิบเดือน การถือศีลอดอีกหกวันในเดือนเชาวาลจะเท่ากับหกสิบวันหรือสองเดือนที่เหลือ ดังนั้นก็จะเป็นการถือศีลอดครบหนึ่งปีอย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้การถือศีลอดในเดือนเชาวาลยังเป็นการช่วยซ่อมแซมความบกพร่องที่เกิดขึ้นระหว่างการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนอีกด้วย
2. ก่อนจะถือบวช 6 ต้องเคลียร์ของเก่าก่อน
สำหรับผู้ที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนยังไม่ครบและมีภาระต้องถือศีลอดชด ให้เขาถือศีลอดชดของเดือนเราะมะฎอนในเสร็จสิ้นเสียก่อน แม้นว่าเขาต้องใช้เวลาในเดือนเชาวาลทั้งเดือนก็ตาม ทั้งนี้เพราะการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนเป็นวาญิบ และหากเขาตายไป เขาก็จะถูกสอบถามในเรื่องที่เป็นวาญิบนี้ ว่าได้ชดแล้วหรือยัง … อีกประการหนึ่งก็คือ ผลบุญของการถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาลก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาได้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนครบสมบูรณ์แล้วหรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นสุภาพสตรีที่ขาดศีลอดเพราะมีประจำเดือน ผู้เดินทาง/ป่วยในเดือนเราะมะฎอนที่ต้องถือใช้ หรือเหตุผลอื่นๆ ก็อย่าลืมเคลียร์วันขาดศีลอดในเราะมะฎอนให้ครบถ้วนก่อนนะครับ
3. ถือศีลอดหกวันอย่างไรให้ครบถ้วน
การถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาลสามารถปฏิบัติได้อย่างเปิดกว้าง เช่น
– ทีเดียวจบเริ่มหลังอีด
ถือศีลอดทันทีหลังวันอีด โดยถือศีลอดติดต่อกันหกวันโดยไม่แยก
– ถือทีหลังแต่ติดต่อกัน
ถือศีลอดหกวันติดต่อกัน แต่ไม่ถือศีลอดทันทีหลังวันอีด
– ถือในวันที่สะดวก
ถือศีลอดหกวันโดยแยกวัน อาจจะเริ่มทันทีหลังวันอีดหรือไม่ก็ได้ และไม่กำหนดวันว่าจะต้องห่างกันครั้งละกี่วัน ฯลฯ
เราสามารถดูตารางงาน ตารางเรียน ตารางกิจกรรมของเรา แล้วเลือกตารางถือศีลอดที่เหมาะสมจากหนึ่งในสามแบบข้างต้นได้ครับ
ขออัลลอฮฺทรงช่วยเหลือให้พี่น้องผูัอ่านทุกท่าน ประสบความสำเร็จในการงานอันประเสริฐชิ้นนี้ครับ
แหล่งข้อมูล – อิสลามเฮ้าส์
https://islamhouse.com/th/articles/321220/
https://islamhouse.com/th/articles/57447/