เกิดอะไรในโลก : “Gaslighting” คำแห่งปี 2022 สะท้อนยุคสมัยแห่งความลวงและการปั่นประแส
เมอร์เรียม–เว็บสเตอร์ (Merriam-Webster) บริษัทสัญชาติอเมริกันที่จัดพิมพ์หนังสืออ้างอิง มีชื่อเสียงเป็นพิเศษในด้านพจนานุกรม และเป็นฐานข้อมูลด้านภาษาที่มีอายุยาวนานกว่า 180 ปี ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในยุคแห่งข้อมูลเท็จ (misinformation) ที่ประกอบด้วยข่าวลวง (fake news) ทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theories) เกรียนทวิตเตอร์ (Twitter trolls) และเทคโนโลยีสร้างสื่อสังเคราะห์เพื่อปลอมแปลงลักษณะบุคคล (deepfakes) คำว่า “Gaslighting” ที่พอจะแปลได้ว่า ปั่นหัว นี้ กลายเป็น“คำแห่งปี” (Word of the Year) ประจำปี 2022 โดยยึดจากคำที่ผู้คนค้นหาความหมายมากที่สุด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 1,740% แม้เป็นคำที่ยังไม่มีการบัญญัติอย่างเป็นทางการในไทย
Merriam-Webster ระบุว่า คำนี้มีความหมายว่า “การบงการทางจิตใจของบุคคลเป็นระยะเวลานาน ทำให้เหยื่อตั้งคำถามถึงความถูกต้องของความคิด การรับรู้ความเป็นจริง หรือความทรงจำ ของตนเอง และโดยทั่วไปจะนำไปสู่ความสับสน สูญเสียความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตนเอง เกิดความไม่แน่นอนของอารมณ์หรือความไม่มั่นคงทางจิตใจ”
พูดอย่างง่าย Gaslighting คือ “การกระทำหรือการปฏิบัติที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์ของตนเอง” หรือในภาษาบ้าน ๆ คือการ” ปั่นประสาท” ให้เกิดความเข้าใจผิดเพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง โดยเริ่มมีการใช้คำนี้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000
ที่มาของคำนี้มาจากบทละคร Gaslighting ในปี 1938 ซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่พยายามทำให้ภรรยาของเขาเชื่อว่าตัวเธอกำลังจะเสียสติ โดยฉากจำของ Gaslight คือ เขาแอบหรี่ไฟทำให้ภรรยาตกใจ แต่เขายืนยันกับภรรยาว่า ไฟไม่ได้หรี่ลง ทำให้เธอคิดว่าตัวเองเสียสติแล้วจริง ๆ แถมยังสร้างสถานการณ์อื่น ๆ อีกที่ให้ผลใกล้เคียงกัน เพื่อที่จะกรอกหูเธอทุกวันว่า เธอคิดไปเอง ทุกอย่างมันปกติดี จนภรรยาสับสน สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง และคิดว่าตัวเองเป็นบ้าไปแล้วจริง ๆ จนเธอต้องพึ่งพาสามีไปตลอด กระทั่งสามีควบคุมเธอได้โดยสมบูรณ์
หากจะให้ยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันของเรา มักมีการยกตัวอย่างในเรื่องของความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในยามทะเลาะหรือมีปัญหากัน ประโยคว่า “คิดไปเองหรือเปล่า?” “อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ไห้มั้ย?” “เพราะว่าเธอเป็นแบบนี้ฉันเลยมีคนอื่น” เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของการ Gaslighting ทั้งสิ้น
Merriam-Webster กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ Gaslighting ยังเป็นคำที่ถูกใช้เพื่ออธิบายการหลอกลวงและการชักใยต่าง ๆ ในสังคม เช่น ข่าวปลอม ทฤษฎีสมคมคิดต่าง ๆ ด้วย
ปีเตอร์ โซโคโลวสกี (Peter Sokolowski) บรรณาธิการใหญ่ของ Merriam-Webster กล่าวว่า “มันเป็นคำที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วในภาษาอังกฤษและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับผมและพวกเราหลายคน … มันเป็นคำที่ถูกค้นหาทุกวันหลายครั้งตลอดทั้งปี”
เขาเสริมว่า ในปี 2022 มีเทคโนโลยี Deepfake และเว็บมืด มีรัฐซ้อนรัฐ (Deep State) และข่าวปลอม และมีการหลอกลวงมากมาย “ในยุคที่มีแต่ข้อมูลที่ผิด ยุคของข่าวปลอม ทฤษฎีสมคบคิด การปั่นกระแสในทวิตเตอร์ Gaslighting กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงมากในยุคของเรา”
นอกจาก ‘gaslighting’ ก็ยังมีอีกหลายคำเช่นกัน ที่ เมอร์เรียม–เว็บสเตอร์ เห็นว่ามีคนให้ความสนใจมากในปีนี้ และได้นำมาพิจารณา ประกอบด้วย
- oligarchy (คำที่ใช้เรียกชนชั้นเศรษฐีโดยเฉพาะในรัสเซีย คนให้ความสนใจหลังรัสเซียบุกยูเครน)
- omicron (โอไมครอน)
- codify (ออกกฎหมาย – คนให้ความสนใจหลังศาลสูงสุดสหรัฐฯ พลิกคำตัดสิน คดี Roe v. Wade)
- LGBTQIA
- sentient (มีสติปัญญา – คนให้ความสนใจหลังมีข่าววิศวกร Google ออกมาอ้างว่าพัฒนา AI ที่มีสติปัญญาเหมือนมนุษย์ได้)
- loamy (คำตอบของ Wordle เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ทำให้คนอยากรู้ว่าแปลว่าอะไรกันแน่ จนเข้ามาหาความหมายเพิ่มขึ้นถึง 4.5 ล้านเปอร์เซ็นต์)
- raid (การบุกค้น – คนให้ความสนใจหลัง FBI บุกค้นบ้าน โดนัลด์ ทรัมป์)
- Queen Consort (พระอิสริยยศของสมเด็จพระราชินีคามิลลา)
ที่มา
:
the matter : https://thematter.co/brief/191800/191800
voa : https://www.voathai.com/a/gaslighting-is-merriam-webster-s-word-of-the-year-for-2022/6855343.html