เกิดอะไรในโลก : JAL เปิดบริการให้เช่าเสื้อผ้าเที่ยว ช่วยลดกระเป๋าหนักขึ้นเครื่องบิน
สายการบิน “เจแปนแอร์ไลน์” หรือ JAL เปิดตัวโครงการใหม่ในชื่อ “Any Wear, Anywhere” ที่เปิดให้ผู้ที่เดินทางกับสายการบินสามารถเช่ายืมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากทางสายการบินได้ เพื่อลดขั้นตอนการเช็กอินกระเป๋าเดินทางและตัดปัญหาผู้โดยสารแบกสัมภาระมากมาย
สำหรับเสื้อผ้าที่ทางสายการบินนำมาให้บริการนั้นเป็นเสื้อผ้ามือสองและสินค้าคงคลังส่วนเกิน (Excess Inventory) จากแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งมีให้เลือกครบทุกเพศ ทุกวัย ทุกไซส์ ทุกฤดูกาล โดยผู้โดยสารของสายการบินจะสามารถสั่งจองเสื้อผ้าล่วงหน้าได้เป็นเวลาหนึ่งเดือน และสามารถยืมได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งเสื้อผ้าที่นักท่องเที่ยวเลือกไว้จะถูกจัดส่งไปยังที่พักก่อนที่พวกเขาจะเดินทางมาถึง และเมื่อเช็กเอาท์เสื้อผ้าเหล่านี้จะถูกส่งคืนสายการบินเพื่อนำไปทำความสะอาด และนำกลับไปให้เช่าหมุนเวียนอีก วิธีนี้จะช่วยให้ผู้โดยสารลดการนำกระเป๋าเข้าเครื่องบินได้มาก และช่วยให้น้ำหนักเครื่องบินลดลง
โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ JAL และ Sumitomo บริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตัวแทนของ JAL กล่าวว่า
“หลังจากการแพร่ระบาดของ-19 เริ่มเบาบางลง ผู้คนต่างกลับมาเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้น และแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยว พวกเขาต้องการตัวเลือกที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านเสื้อผ้าที่ไม่มีร้านให้เช่ายืมจนพวกเขาต้องพกมาเอง ทำให้น้ำหนักกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น”
ตามเว็บไซต์ของแคมเปญระบุว่า หากน้ำหนักสัมภาระของผู้โดยสารลดน้อยลง 10 กิโลกรัม จะส่งให้เครื่องบินปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงถึง 7.5 กิโลกรัม เทียบได้กับการใช้ไดร์เป่าผมวันละ 10 นาที นานต่อเนื่องถึง 78 วัน
อย่างไรก็ตาม ราคาของการเช่ายืมชุดจะแตกต่างกันไปตามจำนวนและสไตล์ของเสื้อผ้าที่เลือกเอาไว้ ตัวอย่างเช่น เซ็ตชุดลำลองในฤดูร้อนของผู้ชาย ประกอบด้วย เสื้อยืด 3 ตัว และ กางเกงขาสั้น 2 มีราคาอยู่ที่ 22 ปอนด์ หรือประมาณ 986 บาท ขณะที่ชุดฤดูใบไม้ผลิของผู้หญิงที่มี เสื้อ 3 ตัว และกางเกงขายาว 2 ตัว จะมีราคา 27.50 ปอนด์ หรือราว 1,232 บาท ทั้งนี้โครงการ Any Wear, Anywhere จะเปิดให้บริการไปอย่างน้อยอีก 13 เดือน ซึ่งหากประสบความสำเร็จอาจจะเปิดให้บริการต่อเนื่องไปอีก
เสียงสะท้อนของมิโฮะ โมริยะ เจ้าของ บ.Sumitomo Corporation เจ้าของแนวคิด “Any Wear, Anywhere” เธอให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่าความลำบากของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาญี่ปุ่นคือ การจัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเดินทางที่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศขณะเดินทางด้วย แน่นอนว่าหากเดินทางช่วงฤดูหนาว หรือ ขึ้นเหนือไปทางฮอกไกโด ด้วยความหนาของเสื้อกันหนาว จะทำให้จำนวนชิ้นเสื้อผ้าที่อยู่ในกระเป๋าเดินทางลดลงไปพร้อมๆ กับอุณหภูมิที่ลดตาม
โมริยะ บอกว่าคอนเซปต์แนวคิดนี้คือ เธอต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก ลดการผลิตใหม่ ใช้การผลิตซ้ำ ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ของสายการบินที่เน้นการบริการที่ยั่งยืน ลดปริมาณขยะ และตื่นตัวเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อม
Nina Gbor ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นที่ยั่งยืน กล่าวว่าโครงการนี้เป็นแนวความคิดที่ดี บ่อยครั้งที่ผู้คนซื้อเสื้อผ้าใหม่เพียงเพื่อช่วงวันหยุดและการเดินทางท่องเที่ยว ดังนั้นแคมเปญนี้จะช่วยลดขยะเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็น และ ทรัพยากรบริสุทธิ์ที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ เสมือนการยืดอายุให้กับเสื้อผ้าไปในตัว
📌 ลดน้ำหนัก ลดการปล่อยมลพิษ?
การลดน้ำหนักเป็นวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถช่วยประหยัดเชื้อเพลิงและลดการปล่อยมลพิษได้ ในอุตสาหกรรมการบิน ตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน จนถึงสายการบินต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน โดยการออกแบบที่นั่งผู้โดยสารด้วยวัสดุทนทานแต่น้ำหนักเบา เปลี่ยนคู่มือความปลอดภัยเป็นกระดาษชนิดบาง
มีรายงาน สายการบิน Qantas ของออสเตรเลีย ออกแบบอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารชุดใหม่สำหรับการบริการในชั้นหนึ่ง (First Class) และชั้นธุรกิจ (Business Class) ให้มีน้ำหนักเบาลงร้อยละ 11 จะสามารถช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ 1.1 ล้านปอนด์ (535 เมตริกตัน) ใน 1 ปี
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Any Wear, Anywhere ระบุว่าการลดสัมภาระลงประมาณ 22 ปอนด์ (10 กก.) จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 16.5 ปอนด์ (7.5 กก.) ในเที่ยวบินระหว่างโตเกียวและนิวยอร์ก ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้เวลา 10 นาทีในการเป่าผมให้แห้ง/วัน เป็นเวลา 78 วันติดต่อกัน
📌 นักวิเคราะห์ชี้ สายการบินมีช่องว่างทำกำไรเพิ่ม
แคมเปญการให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าญี่ปุ่นเช่าเสื้อผ้าเพื่อใช้ทำกิจกรรมต่างๆ นั้น ถูกวางแผนทดลองให้บริการไว้ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.2023 – 31 ส.ค.2024
Gary Crichlow นักวิเคราะห์การบินจาก AviationValues ชี้ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถพูดได้ทั้งหมดว่า การลดน้ำหนักกระเป๋าเดินทางที่เต็มไปด้วยเสื้อผ้าของผู้โดยสารนั้น จะมีความสัมพันธ์กับการลดปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากเครื่องบิน เพราะโครงการนี้ยังไม่สำเร็จทั้งหมด
และยังชี้ด้วยว่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เครื่องบินยังเป็นทรัพย์สินที่ต้นทุนสูง และ ต้องสร้างความคุ้มค่าทางการบินให้ได้มากที่สุด JAL อาจเสียรายได้จากการโหลดกระเป๋า แต่นั่นจะทำให้พวกเขาคิดแผนอื่นที่จะหารายได้ทนแทน โดยใช้ช่องว่างในห้องเก็บสัมภาระใต้เครื่องบิน ขนส่งสินค้าประเภทอื่นแทนก็ได้
ที่มา :
thaipbs : https://www.thaipbs.or.th/news/content/331756
bangkokbiznews : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1077443