เนื่องในวโรกาสอันมหาศิริมงคลแห่งเดือนรอมฎอน ขอนำเสนอเนื้อหาสาระธรรมเกี่ยวกับคืนอัลก๊อดรฺ อันเป็นช่วงเวลาที่มีความประเสริฐยิ่งสำหรับผู้ศรัทธาที่มุ่งมั่นแสวงหาความเมตตาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ลัยละตุ้ลก๊อดรฺแปลว่าอะไร?
คำว่า “ลัยละฮฺ” ليلة แปลว่า กลางคืน
คำว่า “อัลก๊อดรฺ” القدر แปลว่า พระกำหนด หรือ ความยิ่งใหญ่
แสดงว่า “ลัยละตุ้ลก๊อดรฺ” หมายถึง คืนแห่งพระกำหนด หรือ คืนที่ยิ่งใหญ่ ความประเสริฐและความยิ่งใหญ่ของลัยละตุ้ลก๊อดรฺนั้นก็เนื่องมาจากสามประการ ดังนี้
– เป็นคืนที่อัลกุรอานเริ่มถูกประทานลงมา ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
“แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก๊อดรฺ” (ซูเราะฮฺอัลก๊อดรฺ 1)
– เป็นคืนที่ผลบุญถูกบันทึกอย่างทวีคูณดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
“คืนอัลก๊อดรฺนั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน” (ซูเราะฮฺอัลก๊อดรฺ 3)
– เป็นคืนที่อัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะของมนุษยชาติประจำปี ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
“แท้จริง เราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ แท้จริงเราเป็นผู้ตักเตือน ในคืนนั้นทุกๆกิจการที่สำคัญถูกจำแนกไว้แล้ว” (ซูเราะฮฺอัดดุคอน 3-4) หมายถึง ถูกกำหนด
จากเหตุผลข้างต้น คืนอัลก๊อดรฺจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของบรรดาผู้ศรัทธาและเรียกร้องสู่หนทางอันจำเริญที่มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนา
ลัยละตุ้ลก๊อดรฺมาเมื่อไหร่ ?
พึงทราบเถิดว่าคืนอัลก๊อดรฺนั้นมีอยู่เฉพาะเดือนรอมฎอนในระยะเวลาตลอดปี ซึ่งหลักฐานที่กล่าวข้างต้นมีความชัดเจน จึงเป็นทัศนะที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักฐานอันประจักษ์แจ้งว่า คืนอัลก๊อดรฺนั้นไม่ปรากฏในเดือนอื่นนอกจากเดือนรอมฎอน และเป็นคืนที่จะปรากฏทุกๆปีจนกระทั่งวันกิยามะฮฺ เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสไว้ว่า
“บรรดามลาอิกะฮฺและอัรรูหฺ(ญิบรีล)จะลงมาในคืนนั้น” (ซูเราะฮฺอัลก๊อดรฺ 4)
ซึ่งมีการใช้กริยา “ตะนัซซะลุ” หมายถึง ลงมา ซึ่งเป็นกริยามุฎอริอฺ(คือ กริยากล่าวถึงปัจจุบันและอนาคต) มิได้ใช้กริยา “ตะนัซซะลัต” ซึ่งเป็นกริยามาฎียฺ(คือกริยาอดีต) จึงบ่งถึงเวลาของคืนอัลก๊อดรฺว่ามีอยู่ตลอดอนาคต
และคำแนะนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่สนับสนุนในการแสวงหาคืนลัยละตุ้ลก๊อดรฺนั้น เป็นการยืนยันว่าเป็นคืนที่ยังคงมีอยู่ตลอดไป ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ส่งเสริมให้บรรดาผู้ศรัทธาขะมักเขม้นขยันแสวงหาคืนอัลก๊อดรฺในสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนโดยเฉพาะในคืนคี่ ดังที่มีพจนารถบันทึกโดยอิมามบุคอรียฺและมุสลิม
ลัยละตุ้ลก๊อดรฺอยู่ ณ คืนใด ?
พึงทราบเถิดว่า ศาสนามีความประสงค์ที่จะปกปิดการกำหนดคืนอัลก๊อดรฺ เพื่อกระตุ้นความสนใจของบรรดาผู้ศรัทธาให้แสวงหาคืนอัลก๊อดรฺสุดความสามารถ ซึ่งไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าประสบลัยละตุ้ลก๊อดรฺอย่างแน่นอน แม้กระทั่งยุคท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่าน นบีเพียงบอกว่า “อุตลุบูฮา ฟิลวิตร มินฮา” หมายถึง จงแสวงหามัน(คืนอัลก๊อดรฺ)ในคืนคี่ของสิบคืนสุดท้าย
และมีศ่อฮาบะฮฺหลายท่านได้ถามท่านนบีถึงหมายกำหนดของลัยละตุ้ลก๊อดรฺ แต่ท่านนบีไม่ได้ให้คำตอบนอกจากแนะนำให้ขยันในสิบคืนสุดท้ายเท่านั้น หากปรารถนาประสบคืนอัลก๊อดรฺ ก็ให้ขยันทำอิบาดะฮฺทุกคืนไม่เว้นสักคืนเดียว เพราะผู้ใดขยันทำอิบาดะฮฺในทุกคืนนั้น ก็ถือว่าได้รับสิทธิแห่งลัยละตุ้ลก๊อดรฺในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะไม่รู้ว่าประสบคืนอัลก๊อดรฺหรือไม่ เพราะการแสวงหาคืนอัลก๊อดรฺนั้นต้องปฏิบัติด้วยการทำอิบาดะฮฺอย่างบริบูรณ์
จะรู้ได้อย่างไรว่าประสบคืนอัลก๊อดรฺ ?
ไม่มีศาสนบัญญัติที่ชี้ขาดหรือกำหนดคืนอัลก๊อดรฺ แต่มีหลักฐานที่จะบอกถึงลักษณะที่เกี่ยวข้องกับคืนอัลก๊อดรฺ ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะปรากฏช่วงเช้าภายหลังคืนอัลก๊อดรฺ หากปรากฏก็เป็นเครื่องหมายหนึ่งว่าคืนนั้นคือคืนอัลก๊อดรฺ ซึ่งมีหะดีษบันทึกโดยอิมามมุสลิม
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวถึงลักษณะดวงอาทิตย์ที่จะปรากฏในช่วงเช้าภายหลังคืนอั ลก๊อดรฺว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นโดยไม่มีแสงรัศมี
ส่วนเครื่องหมายที่มีการพูดคุยในวงผู้สนใจต่อคืนอัลก๊อดรฺว่า น้ำทะเลจะมีรสชาติจืด หรือต้นไม้ในป่าจะปรากฏในสภาพกราบโค้ง หรือจะสามารถเห็นอะไรแปลกประหลาดเป็นพิเศษ ดังกล่าวทั้งสิ้นเป็นเรื่องนิยายปรัมปราไม่มีที่มา
จึงกล่าวได้ว่า ลักษณะของดวงอาทิตย์ที่ระบุข้างต้นเป็นเครื่องหมายเดียวที่สามารถใช้เป็นเครื่องสำรวจคืนอัลก๊อดรฺ และเครื่องหมายที่สองเป็นเครื่องหมายในส่วนตัว ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกถึงวิธีปรากฏของลัยละตุ้ลก๊อดรฺในหะดีษหลายบท
ท่านนบีจะกล่าวถึงการฝัน(อัรรุยา)ที่ท่านเห็นและกล่าวกับสาวกของท่าน และสาวกของท่านก็ได้ฝัน(เห็นรุยา)และนำมาปรึกษาท่านนบี จึงเป็นเครื่องหมายอีกประการหนึ่ง แต่มิใช่ทุกคนสามารถกระทำได้ เพราะเรื่องฝัน(รุยา)เป็นเรื่องของอัลลอฮฺ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “รุยานั้นมาจากอัลลอฮฺ”
จะกล่าวดุอาอฺบทไหนในคืนอัลก๊อดรฺ?
ท่านหญิงอาอิชะฮฺได้ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในเรื่องนี้และท่านนบีแนะนำให้กล่าวว่า
اللهم انك عفوتحب العفو فاعف عني
“อัลลอฮุมมะ อินนะกะอะฟูวุน ตุฮิบบุนอัฟวะ ฟะฟุอันนียฺ”
ความว่า โอ้พระเจ้าแห่งข้าพระองค์ แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงอภัย พระองค์ท่านชอบที่จะให้อภัย ดังนั้นขอพระองค์ทรงอภัยให้แก่ข้าพระองค์
ดุอาอฺที่ระบุข้างต้นมิใช่หมายถึงขอดุอาอฺบทอื่นไม่ได้ หากแต่เป็นดุอาอฺที่มีความสำคัญยิ่งในคืนอัลก๊อดรฺ และสำหรับผู้ขอดุอาอฺนั้นสามารถใช้ดุอาอฺบทอื่นก็ได้ แม้กระทั่งการขอดุอาอฺด้วยภาษาไทยหรือภาษาอื่นนอกจากภาษาอาหรับก็ได้เช่นกัน เพราะไม่มีข้อห้ามใดๆในเรื่องนี้ ต่อเมื่อการปฏิบัติอิบาดะฮฺได้กล่าวอัซการ(คำสรรเสริญ)ที่เป็นภาษาอาหรับอย่างครบถ้วน จึงสามารถขอดุอาอฺส่วนตัวด้วยภาษาที่เราถนัดได้
สุดท้ายนี้ ความยิ่งใหญ่ของลัยละตุ้ลก๊อดรฺไม่มีใครสามารถมีจินตนาการต่อมัน ต่อเมื่อห่างไกลจากบรรยากาศของเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ เพราะความประเสริฐลัยละตุ้ลก๊อดรฺนั้นสืบมาจากความประเสริฐของเดือนรอมฎอน แม้กระทั่งการขยันในลัยละตุ้ลก๊อดรฺก็เป็นสภาพที่ต่อเนื่องจากการขยันทุกคืนในเดือนรอมฎอน จึงจะเห็นว่าการขยันแสวงหาคืนอัลก๊อดรฺนั้นเป็นสภาพปกติสำหรับผู้ศรัทธาที่ขะมักเขม้นตั้งแต่ต้นเดือนรอมฎอน
ไม่เป็นสิ่งที่ต้องบรรยายให้มากนักสำหรับพี่น้องผู้ศรัทธาที่ตระหนักในความสำคัญของเดือนรอมฎอนแล้ว แต่เป็นสิ่งที่จะฝากตอนท้ายนี้ว่า รางวัลอันใหญ่หลวงแห่งการขยันทำอิบาดะฮฺตลอดปีย่อมจะได้รับในเดือนรอมฎอน และรางวัลอันใหญ่หลวงของเดือนรอมฎอนย่อมจะถูกรับในคืนอัลก๊อดรฺ จึงขออย่าให้พี่น้องพลาดไปซึ่งรางวัลแห่งชีวิตที่ถูกประดับด้วยการปฏิบัติความดี และขอดุอาอฺต่ออัลลอฮให้พี่น้องทุกท่านประสบคืนอัลก๊อดรฺและรับในสิ่งที่ท่านวิงวอนไว้โดยทั่วกัน
อย่าลืมลัยละตุ้ลก๊อดรฺนะครับ
โดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
ที่มาบทความ – อิสลามอินไทยแลนด์
http://www.islaminthailand.org/dp6/story/49