White Channel

ปาเลสไตน์ : ประวัติศาสตร์และวันข้างหน้า EP2

ปาเลสไตน์ : ประวัติศาสตร์และวันข้างหน้า

ตอนที่ 2  ตั้งแต่สมัยนบี ถึงวันที่คิลาฟะฮฺล่มสลาย

 

*********************************************

 

ในยุคที่อิสลามปรากฏขึ้นที่มักกะฮฺนั้น โลกใบนี้อยู่ภายใต้การปกครองของ 2 มหาอำนาจใหญ่ ได้แก่ จักรวรรดิโรมันตะวันออก (ไบแซนไทน์) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่คอนสแตนติโนเปิล (ตุรกีและยุโรปปัจจุบัน) และจักรวรรดิเปอร์เซียที่ปกครองโดยราชวงศ์แซสซานิด ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่แผ่นดินอิรัก

โรมันถูกเปอร์เซียพิชิตในช่วงแรก แต่ต่อมา ประมาณปี ค.ศ. 618 โรมันก็สามารถพิชิตคืนได้สำเร็จ ดังที่อัลกุรอานได้ระบุไว้ในสูเราะฮฺอัรรูม ทำให้แผ่นดินปาเลสไตน์ตกมาอยู่ภายใต้การปกครองของโรมัน

 

ปาเลสไตน์ยุคนุบุวะฮฺ [1]

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และเชื่อมโยงกับแผ่นดินปาเลสไตน์โดยตรงก็คือ เหตุการณ์อิสรออ์และมิอฺร็อจญ์ โดยท่านนบีเดินทางจากเมืองมักกะฮฺไปยังบัยตุลมักดิสและมัสญิดอัลอักศอ ก่อนจะเดินทางขึ้นไปยังฟากฟ้า เข้าเฝ้าและรับบทบัญญัติการละหมาดจากอัลลอฮฺโดยตรง แล้วเดินทางกลับมายังมักกะฮฺภายในค่ำคืนเดียว

ในช่วงแรกเริ่มนั้นชาวมุสลิมละหมาดโดยหันไปยังแผ่นดินปาเลสไตน์ในฐานะทิศกิบละฮฺ กระทั่งหลังเหตุการณ์อิสรออ์และมิอฺร็อจญ์ประมาณ 16-17 เดือน อัลลอฮฺก็ได้ประทานวะฮฺยูลงมาให้ผู้ศรัทธาเปลี่ยนทิศกิบละฮฺจากบัยตุลมักดิสมาเป็นบัยตุลลอฮฺแห่งเมืองมักกะฮฺแทน

ต่อมา เมื่อท่านนบีและบรรดาเศาะหาบะฮฺได้อพยพไปยังมะดีนะฮฺ รัฐอิสลามแห่งมะดีนะฮฺก็ได้เริ่มต้นขึ้น ผู้คนทะยอยเข้ารับอิสลาม เปลี่ยนศาสนามาเป็นมุสลิม เกิดการต่อต้านและขัดขวาง รวมถึงสงครามเพื่อทำลายรัฐแห่งนี้ ทั้งจากชาวมุชริกีนมักกะฮฺ เผ่าอาหรับต่างๆ ตลอดจนกลุ่มชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเมืองมะดีนะฮฺเองด้วย

ในช่วงท้ายของชีวิต ท่านนบีได้ส่งจดหมายเชิญชวนสู่อิสลามไปยังหัวหน้าเผ่าและพวกผู้นำผู้ปกครองเมืองต่างๆ ซึ่งแน่นอนรวมถึง “ก็อยศ็อร (ซีซ่าร์) แห่งจักรวรรดิโรมัน” และ “กิสรอ (คุสโร) แห่งจักรวรรดิเปอร์เซีย” ด้วย กิสรอฉีกจดหมายของท่านนบีทิ้ง อัลลอฮฺก็ทรงฉีกอำนาจและจักรวรรดิของเขาจนหมดสิ้นด้วยน้ำมือของแม่ทัพ “คอลิด บินอัลวะลีด” และ “สะอดฺ บินอบีวักก็อศ”  เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ส่วนจักรวรรดิโรมันนั้น เพราะก็อยศ็อรได้ให้เกียรติต่อจดหมายของท่านนบี อัลลอฮฺจึงได้ยืดเวลาให้กับจักรวรรดิของเขา จนกระทั่งมุฮัมหมัด อัลฟาติหฺ สามารถพิชิตได้สำเร็จในปี ค.ศ.1453

 

ปาเลสไตน์ยุคคิลาฟะฮฺอิสลาม

หลังจากท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เสียชีวิต บรรดาเศาะหาบะฮฺก็ได้ดำเนินภารกิจการเผยแผ่อิสลามออกไปอย่างต่อเนื่อง ท่านอบูบักรฺ อัศศิดดี้ก ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺคนแรกปกครองนาน 2 ปี, ท่านอุมัร บินอัลค็อฏฏ็อบ ขึ้นปกครองต่อเป็นเวลา 10 ปี, ท่านอุษมาน บินอิฟฟาน เคาะลีฟะฮฺคนที่ 3 ปกครองนาน 12 ปี และท่านอลี บินอบีฏอลิบ ขึ้นปกครองต่ออีก 5 ปี รวมระยะเวลาการปกครองอาณาจักรอิสลามในยุคคุละฟาอ์อัรรอชิดีนทั้งสิ้นประมาณ 30 ปี

ในยุคที่ท่านอุมัร บินอัลค็อฏฏ็อบ เป็นผู้นำปกครองอุมมะฮฺนั้น อาณาจักรอิสลามได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง กองทัพอิสลามสามารถพิชิตเมืองต่างๆได้สำเร็จ ซึ่งรวมถึงบัยตุลมักดิสและมัสญิดอัลอักศอ ที่อยู่บนแผ่นดินปาเลสไตน์ด้วย (ประมาณปี ค.ศ.636)

ในยุคสมัยการปกครองของคิลาฟะฮฺอุมะวียะฮฺ มัสญิดอัลอักศอได้รับการบูรณะอย่างดี มีการเปลี่ยนโดมของมัสญิดเป็นโดมสีเขียว และได้มีการสร้างโดมคลุมก้อนหินที่ท่านนบีใช้เหยียบในเหตุการณ์มิอฺร็อจญ์ขึ้นสู่ฟากฟ้า ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตัวอาคารที่เรียกว่า กุบบะฮฺ อัศศ็อคเราะฮฺ (Dome of Rock) ที่หลายคนในปัจจุบันเข้าใจผิดว่าคือมัสญิดอัลอักศอ

ชาวมุสลิม ยิว และคริสเตียน ต่างอาศัยอยู่ในแผ่นดินปาเลสไตน์ร่วมกันอย่างสงบสุข ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอิสลามนานหลายร้อยปี จนกระทั่งในช่วงปลายของคิลาฟะฮฺอับบาสียะฮฺ (ประมาณปี ค.ศ. 1099) ปาเลสไตน์ก็ถูกโจมตีโดยกองทัพชาวคริสต์โรมัน ชาวเมืองทั้งมุสลิมและยิวถูกฆ่าตายจำนวนมาก แม้แต่คนที่หลบภัยอยู่ในศาสนสถานก็ถูกฆ่าตายด้วยเช่นกัน เราเรียกสงครามครั้งนี้ว่า สงครามครูเสด ครั้งที่ 1

การเข้ามาของพวกครูเสดทำให้ระบบศักดินาระบาดในหมู่ชาวมุสลิมกันเอง มุสลิมชนชาติต่างๆเกิดความขัดแย้ง แตกแยก และแก่งแย่งถืออำนาจกัน แตกออกเป็นหลายก๊กหลายนคร ทำให้อาณาจักรอิสลามอ่อนแอ กระทั่งจักรวรรดิมองโกลภายใต้การนำของ “ฮูลากู ข่าน” (หลานชายเจงกิสข่าน) บุกโจมตีแบกแดดได้สำเร็จ เมืองหลวงจึงพังพินาศย่อยยับ

แม้คิลาฟะฮฺอับบาสียะฮฺจะอ่อนแอและเกิดความแตกแยกมากมายในหมู่ชาวมุสลิม แต่ความพยายามที่จะพิชิตแผ่นดินปาเลสไตน์คืนจากพวกครูเสดก็ไม่เคยหมดไป “อิมาดุดดีน ซังกี” สุลต่านแห่งอียิปต์สามารถชนะกองทัพครูเสดได้ในหลายๆศึก และยึดเมืองรูฮาจากพวกครูเสดคืนมาได้ ต่อมา “สุลต่านนูรุดดีน ซังกี” ลูกชายของเขาก็ได้มาสานต่อภารกิจปลดปล่อยอัลกุดสฺ แต่ไม่ทันทำสำเร็จเขาก็เสียชีวิตไปก่อน (สงครามครูเสดครั้งที่ 2) ตำแหน่งสุลต่านจึงถูกย้ายไปยังผู้สืบทอดคนใหม่นั่นคือ เศาะลาหุดดีน อัลอัยยูบีย์

เศาะลาหุดดีนสามารถยุติความขัดแย้งระหว่างมุสลิมชนชาติต่างๆได้ เขาเรียกร้องให้ชาวมุสลิมเข้าร่วมการญิฮาด และประสบความสำเร็จในการสร้างกองทัพที่มาจากหลากหลายกลุ่มอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน จนกระทั่งสามารถเอาชนะกองทัพครูเสดได้สำเร็จใน ศึกหิฏฏีน” (ปี ค.ศ.1178) และขับไล่พวกเขาออกไปจากแผ่นดินปาไลสไตน์ ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้สร้างความอับอายอย่างใหญ่หลวงแก่กองทัพครูเสด พวกเขาจึงยกทัพใหญ่กลับมาอีกครั้ง โดยมี “ริชาร์ด ใจสิงค์” แห่งอังกฤษเป็นผู้นำทัพ แต่สุดท้ายกองทัพครูเสดก็ต้องพ่ายแพ้อีกครั้ง และจบลงด้วยการทำสัญญาสงบศึก (ปี ค.ศ.1192) ที่ รามัลละฮฺ ก่อนยกทัพกลับไปด้วยความอับอาย

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแผ่นดินปาเลสไตน์ก็กลับมาอยู่ในความดูแลของอาณาจักรอิสลามอีกครั้ง และหากนับตั้งแต่การพิชิตของท่านอุมัรกระทั่งถูกพวกครูเสดยึดไป และนับตั้งแต่การพิชิตกลับคืนมาได้โดยสุลต่านเศาะลาหุดดีนจนถึงปัจจุบันนี้ แผ่นดินปาเลสไตน์อยู่ภายใต้การปกครองดูแลอย่างดีของชาวมุสลิมนานถึง 1,300 กว่าปี ซึ่งนั่นนานกว่าช่วงการปกครองของชาวยิวในยุคก่อนคริสต์กาล [2] เสียอีก

 

ปาเลสไตน์ยุคไร้คิลาฟะฮฺ

ช่วงท้ายการปกครองของคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ ชาวมุสลิมเริ่มอ่อนแอ ขัดแย้งและแตกแยกอีกครั้ง ทำให้พ่ายแพ้อย่างหนักในการทำศึกกับยุโรป สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สร้างความเสียหายแก่คิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺอย่างมาก และด้วยการเคลื่อนไหวอย่างแนบเนียนของชาวยิวและชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุสตอฟา กะม้าล อะตาเติร์ก ที่มีบทบาทสูงมากในการบ่อนทำลายหลักการศาสนาและค่านิยมอิสลาม สุดท้ายคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺก็ล่มสลายลงในปี ฮ.ศ.1924

 

.

.

.

อาณาจักรอิสลามล่มสลาย… แผ่นดินปาเลสไตน์ไร้ผู้ดูแล…

 

ติดตามตอนต่อไป


[1] ยุคนุบุวะฮฺ หมายถึง ยุคที่ท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ยังคงมีชีวิต โดยได้รับวะฮีย์จากอัลลอฮฺ และเผยแผ่คำสอนของศาสนาแก่ผู้คน

[2] 1104 – 586 ก่อนคริสตกาล ตั้งแต่สมัยนบีดาวูดถึงก่อนยุคของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ