White Channel

Politics : ทำไมรัฐบาลพลเรือนจึงแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ไม่ต่างจากรัฐบาลในคราบทหาร ?

ความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและหลากหลายแง่มุม ซึ่งกินเวลาต่อเนื่องมายาวนาน

หากย้อนไปเหตุการณ์ความไม่สงบที่เห็นได้ชัดเจนและส่งผลต่อชายแดนใต้มาจนถึงปัจจุบันคือ ตั้งแต่ปี 2547 ไม่ว่าจะเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ตากใบ อันเป็นต้นทางที่รัฐไทยทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กลายเป็น ‘พื้นที่พิเศษ’ ด้วยการใช้กฎหมายพิเศษจนปัจจุบัน

ย้อนเรื่องราวเหตุการณ์ตากใบ – เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 ชาวบ้านรวมตัวกันที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ จากการที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน กว่าสัปดาห์ ทำให้ชาวบ้านรวมกันเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. โดยได้มีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน แต่การเจราจาก็ไม่สำเร็จ จึงเกิดการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ และกระสุนจริง

หลังสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวประชาชนผู้ชุมนุม 1,370 คน ผู้ชุมนุมผู้ชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อมามัดมือไพล่หลัง จากนั้นขนย้ายไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ผู้ชุมนุมชายที่ถูกจับต้องนอนซ้อนกันหลังรถบรรทุกไปเรื่อยๆ นานกว่า 6 ชั่วโมง ระยะทาง 150 กิโลเมตร ด้วยข้ออ้างว่ารถขนย้ายไม่เพียงพอ

จากการขนย้ายผู้ชุมนุมด้วยวิธีดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ศพ ด้วยสาเหตุจากการขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับ ขาดอาหารและนํ้า และไตวายเฉียบพลัน ผู้รอดชีวิตบางคนพิการ

แม้ในภายหลังรัฐบาลจะมีการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมที่ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงจดจำ และมีการจัดงานรำลึกอย่างต่อเนื่องทุกปี จนปีนี้เข้าปีที่ 20 ซึ่งเป็นปีที่คดีตากใบจะหมดอายุความ

จากวันนั้นจนในวันนี้ เสียงปืนยังคงดังขึ้นอยู่ และได้คร่าชีวิตผู้คนเพิ่ม ล่าสุด รอนิง ดอเลาะ นักกิจกรรม ผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าบ้านของตัวเอง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา

ตามมาด้วยเสียงคาร์บอมบ์ (car bomb) เหตุเกิดที่บริเวณหน้าแฟลตตำรวจ สถานีตำรวจภูธร (สภ.) บันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ส่งผลให้ รอกีเยาะห์ สะระนะ ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณดังกล่าวเสียชีวิตทันที 1 คน และมีผู้บาดเจ็บ 34 คน

ขณะเดียวกัน คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการพูดคุยกัน 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาลไทย รัฐบาลมาเลเซีย และกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือ BRN เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ดำเนินการอยู่ แต่ทำไมปัญหาชายแดนใต้ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขหรือเบาบางลง ทั้งที่เป็นการเปลี่ยนจากรัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาพลเรือนแล้ว

เหตุการณ์ไม่สงบและกฎหมายพิเศษต่างๆ นั้นเริ่มในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถือว่าเป็นรากฐานหลักของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคนำรัฐบาลอยู่ในปัจจุบันนี้

จึงถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ และปีนี้ยังเป็นปีพิเศษที่ ‘คดีตากใบ’ จะหมดอายุความ สุดท้ายแล้วจะหาผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างไรต่อ จะสามารถเป็นความหวังใหม่ให้กับคนใต้ได้ไหม?

พูดคุยกับ เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถึงปัญหาชายแดนใต้ต่างๆ ไม่ว่าจะคดีตากใบที่จะหมดอายุความในปีนี้ สุดท้ายแล้วจะหาผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ และการทำงานของรัฐบาลพลเรือนอย่างพรรคเพื่อไทย จะสร้างความหวังให้กับคนชายแดนใต้อย่างไร เพื่อหลุดพ้นจากความไม่สงบนี้

ทำไมคดีตากใบยังคงไม่พบผู้กระทำความผิด แม้จะผ่านมาเกือบ 20 ปี

19 ปีที่ผ่านมาในคดีตากใบถูกทำให้เป็นแค่เรื่องของ ‘การเยียวยา’ ทั้งที่มีคนเสียชีวิต ปกติคดีที่มีคนเสียชีวิตจำเป็นต้องมีการสอบสวนไต่สวนเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าด้วยนโยบายของรัฐบาลและการประกาศใช้กฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่าง กฎอัยการศึก ในช่วงเวลานั้น เป็นข้ออ้างในการปฏิบัติงานว่าทำตามกฎหมายที่ได้รองรับ จนเกิดทำให้คนเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ ทั้งการเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ และเสียชีวิตระหว่างขนส่งที่ค่ายทหารอิงคยุทธฯ

ทางคดีจึงไม่ได้ถูกทำเป็นคดีอาญา แต่ถูกทำให้เป็นคดีทางการเมือง และนำไปสู่เพียงเรื่องของการเยียวยา แต่ไม่มีการหาตัวผู้กระทำผิด แน่นอนมันจะหมดอายุในปีนี้ ดังนั้นเองทางผู้สูญเสียก็รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547

*** การยื่นฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบเป็นอย่างไร

การยื่นฟ้องครั้งนี้รวมชาวบ้านมาได้ 48 คน ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขเท่ากับคนที่เสียชีวิตทั้งหมด มันมีมากกว่านี้ เพียงแต่หลายครอบครัวไม่อยากมีความเกี่ยวข้องกับรัฐหรือต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอีกแล้ว การยื่นฟ้องครั้งนี้เป็นการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คน ประกอบไปด้วย อดีตเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมและการขนย้าย เช่น อดีตแม่ทัพและรองฯ ภาคที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น เป็นต้น

ความคืบหน้าของคดีในตอนนี้เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศาลมีการนัดไต่สวน แต่แล้วก็มีการขอเลื่อน โดยฝ่ายจำเลยขอเลื่อนเนื่องจากบอกว่าตัวเองไม่มีทนายเพียงพอ แต่สิ่งที่จะต้องดูคือศาลจะมีคำสั่งให้มีการไต่สวนแล้วรับฟ้องหรือไม่ในประเด็นนี้

ถ้าศาลรับฟ้อง การไต่สวนพิจารณาของศาลจะกระทำการหรือจะเร่งได้หรือไม่ เพราะคดีตากใบใกล้หมดอายุความเช่นกัน ชาวบ้านอยากได้ความยุติธรรม ก็ต้องรอศาลว่าจะมีความเร่งรีบหรือไม่

ในแง่หนึ่งคือ เรากำลังสู้ในทางด้านกฎหมาย หากพูดตามเทคนิค เมื่อคดีหมดอายุความ มันจะทำให้ผลสืบเนื่องทางคดี ไม่มีผลต่อไป ผู้ที่เป็นจำเลยก็หลุดพ้นไปได้

เราจะเห็นกรณีคล้ายๆ กันในคดีทางการเมืองไทย ที่แม้นักการเมืองจะมีการทำความผิด คอร์รัปชันหรือว่าทำให้คนเสียชีวิต แต่อาศัยเทคนิคในทางกฎหมาย รอให้หมดอายุความค่อยกลับมาในฐานะเป็นคนปกติ โดยไม่มีความผิดในทางกฎหมายแต่อย่างใด

เรื่องของการระบุอายุความเป็นข้อถกเถียงในทางกฎหมาย ถ้ามีคนตายเราควรจะมีอายุความหรือไม่อย่างไร ถ้าเป็นคดีอาญาแล้วความเสียหายที่เกิดจากรัฐที่มันสะท้อนให้เห็นถึงความเสียหายที่มหาศาลควรจะมีอายุความหรือไม่ นั่นเองก็คล้ายๆ กันในคดีตากใบ ทางเทคนิคในทางกฎหมายอาจรอให้หมดอายุความ

การฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 9 จะทำให้เราเห็นถึงความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ฉะนั้นเองสิ่งที่มันเกิดขึ้น คือว่าแทบจะเป็นไปได้ยากมากที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในประเด็นชายแดนใต้ ซึ่งมันมีความลึกของประเด็นอีกแบบหนึ่ง

ผมอยากจะเน้นย้ำให้เห็นว่า มันถูกปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐจะทำการอะไรก็ได้ แม้กระทั่งทำให้เสียชีวิตและด้วยเหตุผลใดก็ตาม ฉะนั้นเองมันสะท้อนให้เห็นคุณภาพของปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ

เราไม่ใช่ไม่ต้องการเจ้าหน้าที่รัฐ เราต้องการ แต่เราต้องการเจ้าหน้าที่รัฐที่มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบ ระมัดระวังการทำงานในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง และความรุนแรงสูงขนาดนี้

*** พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ใช้งานในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างไร

แม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ประกาศใช้เมื่อปีที่แล้ว แต่ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐในชายแดนใต้ยังคงไม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ ด้วยข้ออ้างว่าไม่พร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และบุคลากร

เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนก็บอกว่า พ.ร.บ.นี้เป็นการทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหมายความว่าทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานยากขึ้น พูดให้กระชับก็คือว่า เป็นเหมือนการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมจะต้องมีฐานชัดเจนต้องมีการบันทึกวิดีโอ ต้องมีการถ่ายรูป ต้องมีหลักฐานให้ชัดเจน

ถ้าพูดให้เข้าใจ ใครจะใช้กฎหมายนี้ คนที่ได้ประโยชน์คือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการถูกอุ้มหรือการซ้อมทรมาน ทำให้ชายแดนใต้ตอนนี้ยังไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายมากนัก เพราะเป็นกฎหมายใหม่ ซึ่งต้องผ่านการรณรงค์การทำความเข้าใจทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้าน

หากถามถึงจะสามารถมาใช้ในคดีตากใบได้หรือไม่นั้น ผมไม่คิดว่ามันสามารถที่จะกระทำได้ แม้จะมีการพูดว่าอาจหาช่องทางในการตีความ

*** คณะพูดคุยแก้ปัญหาชายแดนใต้ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

สำหรับการแก้ไขปัญหาในชายแดนใต้ มีการตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการพูดคุยกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายไทย นายกฯ ตั้งแต่ ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ฝ่าย BRN (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี – Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) และฝ่ายรัฐบาลมาเลเซีย แต่ถึงวันนี้ความคืบหน้าของการพูดคุยก็ไม่มีให้เห็นเป็นดอกเป็นผล ไม่มีข้อตกลง แล้วก็ไม่มีแผนอะไรว่าจะทำอะไรบ้าง

ด้านงานรัฐสภา มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้ลงพื้นที่ทำงานศึกษาปัญหา 1 ปีแล้ว หลังศึกษาจบกมธ.ชุดนี้จะเสนอรายงานต่อสภาเป็นข้อๆ ว่าต้องทำแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง

ส่วนประชาคมในพื้นที่ชายแดนใต้แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มภาคประชาสังคมหรือกลุ่มนักกิจกรรมเคลื่อนไหวที่สนใจเรื่องประเด็นชายแดนใต้ใต้ กลุ่มนี้จะพยายามตรวจสอบหรือตั้งคำถามกับปฏิบัติการต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ พูดถึงการยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ จัดรณรงค์และกิจกรรมต่างๆ

กลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่มักถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายเข้ามาควบคุม โดยจะมีการยื่นฟ้องกลุ่มคนที่เห็นต่าง เช่น กรณีสายบุรีอะไรต่างๆ ถือเป็นการต่อสู้กันระหว่างแนวความคิดที่รัฐใช้อำนาจในทางกฎหมายควบคุมคนที่เห็นแตกต่างจากรัฐ

ภาคประชาสังคม คืออีกกลุ่มที่พยายามขับเคลื่อนมีข้อเสนอให้ทั้งฝั่ง BRN และรัฐไทย ว่าควรจะทำอย่างไร

เหตุการณ์ความไม่สงบล่าสุดสะท้อนภาพการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้อย่างไร

ล่าสุดการเสียชีวิตของ รอนิง ดอเลาะ ผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ถูกยิงเสียชีวิตหน้าบ้านของตัวเอง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา

มีผลต่อความไว้วางใจของประชาชนต่อราชการด้วย ว่าเมื่อตัวเองพูดความจริงหรือมีบทบาทที่เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งจะต้องจบชีวิตลง มันเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก เพราะว่ามันทำให้คนไม่กล้าออกมาพูด ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ใช้ความรุนแรง นั่นหมายความว่ารัฐบาลไม่ได้สร้างความไว้วางใจ และรัฐบาลยังให้บทบาททหารเป็นบทบาทนำ

เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นตามมาติดๆ ในวันที่วันที่ 30 มิถุนายน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 1 คน และมีผู้บาดเจ็บ 34 คน ทั้งที่โต๊ะพูดคุยกับในพื้นกำลังดำเนินการอยู่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติดกันในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการพูดคุยไม่มีความคืบหน้า แต่ทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าเดิม ซึ่งปฏิกิริยาแบบนี้ถ้าอ่านในทางการเมืองคือว่า การพูดคุยไม่ส่งผลบวกกับในพื้นที่ แทนที่คุยกันแล้วสถานการณ์ไม่สงบจะลดลง จะมีพื้นที่ปลอดภัย หรือมีข้อตกลงกัน

ดังนั้นโต๊ะพูดคุยนี้ต้องถูกตั้งคำถามเยอะๆ ต่อกระบวนการการพูดคุยว่ามีไว้ทำไมเมื่อสถานการณ์ความรุนแรงยังคงอยู่

ความไม่สงบที่เกิดขึ้น สุดท้ายมันสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการกระทำจากฝ่ายใดก็ตาม ประชาชนยังเป็นเหยื่ออยู่

เรายังไม่เห็นภาพรัฐบาลที่มีนายกฯ เป็นพลเรือน แสดงให้เห็นว่าคะแนนเสียงจากประชาชนจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลพลเรือนต้องปกป้อง และจะทำงานแตกต่างจากรัฐบาลในคราบทหาร

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากรัฐประหารหลังจากนั้นชนะการเลือกตั้ง การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้เข้าใจว่าอยู่ในกรอบของความคิดแบบความมั่นคงเป็นหลัก แต่พอมารัฐบาลใหม่เรื่องชายแดนใต้ เศรษฐาไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่าง หนำซ้ำผมคิดว่าเศรษฐา หรือว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงกลาโหม ปกป้องกองทัพ และเป็นโฆษกให้ด้วยซ้ำ

ที่พูดแบบนี้เพราะมันเป็นความสืบเนื่องให้เห็นถึงความมั่นคงในกรอบของการทำงานของรัฐ โดยเฉพาะในแนวทางการทหารยังเป็นแนวทางหลักอยู่ในรัฐบาลเศรษฐา

*** ความคาดหวังของคนในชายแดนใต้ต่อรัฐบาลใหม่ที่มาจากพลเรือนเป็นอย่างไร

ถ้าพูดโดยนับวันที่มีรัฐบาลใหม่ ตอนนี้ครบ 1 ปีแล้ว ผมคิดว่าสถานการณ์ชายแดนใต้ต้องพูดแบบอย่างตรงไปตรง คือ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ พยายามที่จะทำมิติทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งเข้าใจว่านายฯ เศรษฐาไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหรือสนใจในเรื่องชายแดนใต้มาก่อน

แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือรัฐบาลอนุญาตให้มีการพูดคุยเจรจากับกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐโดยแต่งตั้งพลเรือนขึ้นมาเป็นหัวหน้าพูดคุย อันนี้ก็แตกต่างจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงแต่ว่าความคืบหน้าไม่ได้เห็นเป็นดอกเป็นผล

ผมอยู่ในพื้นที่ได้คุยกับผู้คนทั้งคนที่อยู่ในหมู่บ้านและคนที่เป็นนักวิชาการ และคนรุ่นใหม่ต่างๆ ส่วนใหญ่แทบที่จะไม่มีความหวัง เพราะมองว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรให้พวกเขามีความหวังได้

ยกตัวอย่างกรณีที่รัฐบาลสามารถแสดงความสนใจปัญหาในชายแดนใต้อย่างกรณีครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์มูโนะ ที่โกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟระเบิด ในพื้นที่ตลาดมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส แรงระเบิดทำมีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บอีกกว่า 100 คน ก็ไม่มีการเยียวยาเลย ตอนนี้บ้านยังสร้างไม่เสร็จ

เหตุการณ์มูโนะไม่ได้เกี่ยวข้องกับความไม่สงบ แต่เกี่ยวกับกรณีของการค้าของเถื่อนการค้าพลุ กรณีแบบนี้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง แต่รัฐบาลก็ไม่ทำอะไรที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้

เหตุการณ์อื่นจะอ้างว่าไม่ได้อยู่ในรัฐบาลของเศรษฐาก็ได้ แต่เหตุการณ์นี้อยู่ในช่วงรัฐบาลเศรษฐา มีความรุนแรงเกิดขึ้นมีอย่างชัดเจน แต่มีการจัดงานระลึกถึงหรือความคืบหน้าอะไร มันทำให้ไม่ค่อยมีความหวังเท่าไร

นอกจากนี้การที่ส่งคนมาทำงานของนายกฯ ก็ไม่ส่งรัฐมนตรีมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เราสังเกตว่าก่อนหน้านี้มีรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเป็น สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนเป็น ภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งคนใหม่ที่มารับผิดชอบก็ไม่ได้ดูเรื่องชายแดนใต้เป็นหลักอีก เพราะภูมิธรรมรับผิดชอบหลายงาน

รัฐบาลยังให้ความสำคัญไม่มากพอกับเรื่องชายแดนใต้ ซึ่งจริงๆ แล้วผมคิดว่ารัฐบาลพลาดโอกาสที่สำคัญที่จะแก้มือในปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมันสืบเนื่องมาจากกรณีสมัยตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร การได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งของพรรคเพื่อไทย จึงเป็นโอกาสที่สำคัญในการแก้ตัว แต่รัฐบาลก็ไม่สนใจมากพอ

ถ้ารัฐบาลยังคงเดินไปในแนวทางนี้ต่อไปมันจะยิ่งทำลายความหวังของผู้คน อย่าลืมว่าเด็กที่เกิดหลังจากวันที่ 4 มกราคม 2547 ตอนนี้อายุ 20 ปีแล้ว ชีวิตเขาอยู่กับความรุนแรงมาตลอด มันไม่มีใครให้ความหวังกับผู้คนที่นี่ ผู้คนที่นี่อยู่กับความรุนแรง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องปกติ ทำให้คนหมดความหวังที่จะมีชีวิต

หากปล่อยไปสู่ปี 21 สถานการณ์ความไม่สงบยังเรื้อรังจนไม่รู้จะแก้ยังไงแล้ว นอกจากหมดหวังที่จะมีชีวิต ทำให้โอกาสของการแก้ไขไม่รู้เป็นจะเป็นอย่างไรต่อแล้ว เพราะว่าการที่มีรัฐบาลทหารมันแก้ไขไม่ได้ แต่พอมาเป็นรัฐบาลพลเรือนก็ไม่สามารถแก้ไขได้อีกแล้ว ทำให้สถานการณ์ยิ่งจมลึกมากขึ้น แทนที่จะถูกทำให้คลี่คลายทุเลาได้ โดยเฉพาะเรื่องความยุติธรรม

สุดท้ายผมคิดว่าเมื่อแนวทางรัฐบาลแบบนี้ ประชาชนมีเครื่องมืออย่างเดียวคือการออกเสียง และการออกเสียงไม่ว่าเป็นการออกเสียงเรื่องรัฐธรรมนูญหรือเรื่องการเลือกตั้งในระดับชาติ จะเป็นคำตอบในอนาคตสำหรับรัฐบาลนี้อย่างแน่นอน

.

ขอบคุณ : Thairath Plus , อ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ