White Channel

รู้จักเดือนเราะญับ (ตอนที่ 2-จบ)

เกี่ยวกับการละหมาดเราะฆออิบ

ในเดือนเราะญับ เราจะได้ยินเรื่องการละหมาดสุนนะฮฺอย่างหนึ่งที่มี่ในเดือนอื่นๆ นั่นคือ การละหมาดเราะฆออิบ แน่นอนว่ามีหะดีษที่พูดถึงลักษณะการละหมาดนี้และความประเสริฐของมัน เช่นที่มีรายงานไว้ในหนังสือ อิหฺยาอ์ อุลูมิดดีน ของอิมามอัลเฆาะซาลีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 202 ระบุว่า

 

عن أنس عن النبي -صلى الله عليه وسلم- أنه قال: “ما من أحد يصوم يوم الخميس (أول خميس من رجب) ثم يصلي فيما بين العشاء والعتمة يعني ليلة الجمعة اثنتي عشرة ركعة ، يقرأ في كل ركعة بفاتحة الكتاب مرة و((إنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ القَدْرِ)) ثلاث مرات، و((قُلْ هُوَ اللَّهُ أَحَدٌ)) اثنتي عشرة مرة ، يفصل بين كل ركعتين بتسليمة ، فإذا فرغ من صلاته صلى عليّ سبعين، فيقول في سجوده سبعين مرة: (سبوح قدوس رب الملائكة والروح) ، ثم يرفع رأسه ويقول سبعين مرة: رب اغفر وارحم وتجاوز عما تعلم ، إنك أنت العزيز الأعظم ، ثم يسجد الثانية فيقول مثل ما قال في السجدة الأولى ، ثم يسأل الله (تعالى) حاجته ، فإنها تقضى”..

รายงานจากท่านอนัส ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า ไม่มีใครคนใดที่ถือศีลอดในวันพฤหัสบดี (คือ วันพฤหัสบดีแรกของเดือนเราะญับ) แล้วทำการละหมาดในระหว่างช่วงเวลาหลังละหมาดอิชาอ์กับช่วงต้นของกลางคืน คือในคืนวันศุกร์ จำนวน 12 ร็อกอะฮฺ โดยที่ในทุกร็อกอะฮฺ เขาอ่านสูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ 1 ครั้ง, อินนา อันซัลนาฮุ ฟี ลัยละติลก็อดรฺ (สูเราะฮฺอัลก็อดรฺ) 3 ครั้ง และกุล ฮุวัลลอฮุ อะฮัด (สูเราะฮฺอัลอิคลาศ) 12 ครั้ง

          มีการให้สลามในทุกๆ 2 ร็อกอะฮฺ เมื่อละหมาดเสร็จแล้ว ก็กล่าวเศาะละวาตแก่ฉัน 70 ครั้ง, ในขณะสุญูด เขากล่าวว่า ‘สุบบูหุน กุดดูซุน ร็อบบุล มะลาอิกะติ วัรรูหฺ’ 70 ครั้ง หลังจากนั้นก็ยกศรีษะขึ้นและกล่าวว่า ‘ร็อบบิฆฟิร วัรหัม วะตะญาวัซ อัมมา ตะอฺลัม อินนะกะอันตัล อะซีซุลอะอฺซ็อม’ 70 ครั้ง แล้วสุญูดครั้งที่ 2 โดยกล่าวเหมือนในการสุญูดครั้งแรก หลังจากนั้นเขาก็ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ มันจะถูกตอบรับแน่นอน… ”

 

قال رسول الله -صلى الله عليه وسلم-: “والذي نفسي بيده ، ما من عبد ولا أَمَة صلى هذه الصلاة إلا غفر الله له جميع ذنوبه ، ولو كانت مثل زبد البحر ، وعدد الرمل ، ووزن الجبال ، وورق الأشجار ، ويشفع يوم القيامة في سبعمئة من أهل بيته ممن قد استوجب النار

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ผู้ที่ชีวิตฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ ไม่มีบ่าวคนใดไม่ว่าชายหรือหญิงที่ทำการละหมาดด้วยการละหมาดนี้ นอกจากว่าอัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษบาปทั้งหมดของเขา แม้มันมากเท่าฟองน้ำในทะเล มากเท่าเม็ดทราย หนักเท่าภูเขา และมากเท่าใบไม้บนต้น และในวันกิยามะฮฺเขาจะได้รับสิทธิ์ให้ชะฟาอะฮฺ (ความช่วยเหลือ) แก่คนในครอบครัวของเขาที่ (เดิมทีแล้ว) ต้องตกนรก จำนวน 700 คน”

 

แต่ว่าบรรดานักวิชาการหะดีษบอกว่า หะดีษนี้เป็นหะดีษเมาฎูอฺ (เท็จ) ท่านอิบนุนนุหาส กล่าวว่า “การกระทำดังกล่าวเป็นบิดอะฮฺ (อุตริกรรมในศาสนา) และหะดีษที่พูดถึงเรื่องนั้นเป็นหะดีษเมาฎูอฺ ด้วยมติเอกฉันท์ของบรรดานักหะดีษ” (ตันบีฮุล ฆอฟิลีน หน้าที่ 496)

            นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านที่ยืนยันว่าหะดีษดังกล่าวเป็นหะดีษเมาฎูอฺ เช่น อิมามอิบนุลเญาซีย์ ในหนังสือ อัลเมาฎูอาต, อัลหาฟิซ อบุลค็อฏฏอบ และอบูชามะฮฺ (ดูหนังสือ อัลบาอิษ อะลา อินการิล บิดอะ วัลหะวาดิษ) เช่นเดียวกับอิมามอิบนุหะญัร, อิมามอิบนุเราะญับ และนักวิชาการอีกหลายคนเลย

อิมามอันนะวะวีย์จึงกล่าวไว้ว่า “การกระทำดังกล่าวเป็นบิดอะฮฺที่เลวร้าย จำเป็นจะต้องห้ามปรามอย่างหนักแน่นอน มีแต่สิ่งที่มิชอบ ต้องละทิ้ง ห่างไกล และห้ามปรามผู้ที่กระทำ” (ดู ฟะตาวา อัลอิมาม อันนะวะวีย์ หน้าที่ 57)

ส่วนการที่หะดีษดังกล่าว ซึ่งเป็นหะดีษเมาฎูอฺ มีระบุอยู่ในหนังสือของอิมามอัลเฆาะซาลีย์ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ผู้รู้นักวิชาการมีสิทธิ์พลาดกันได้ทุกคน และตัวท่านเองก็ยอมรับว่าตนเองไม่เชี่ยวชาญในด้านหะดีษ ท่านเคยพูดไว้ว่า

 

اَنَا مُزْجَى اْلبِضَاعَةِ فِيْ عِلْمِ الْحَدِيْثِ

คลังความรู้ของฉันในเรื่องหะดีษนั้นน้อยมาก

 

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

 

مَنْ عَمِلَ عَمَلاً لَيْسَ عَلَيْهِ اَمْرُنَا فَهُوَ رَدٌ

             “ใครก็ตามที่ทำการงานใดที่เรามิได้สั่งใช้ การงานนั้นถูกปฏิเสธ” (บันทึกโดย มุสลิม)

 

เหตุการณ์อิสรออ์-มิอฺร็อจญ์

หนึ่งในมุอฺญิซาตที่ยิ่งใหญ่ของท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็คือ การเดินทางไกลจากมัสญิดหะรอมไปยังมัสญิดอัลอักศอ และเดินทางต่อขึ้นสู่ฟากฟ้าเข้าพบอัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “อิสรออ์-มิอฺร็อจญ์”

          แต่น่าเศร้าที่ปัจจุบันนี้มีการจัดงานเฉลิมฉลองพิเศษขึ้นในวันที่ 27 เดือนเราะญับของทุกปี โดยเชื่อว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์อิสรออ์-มิอฺร็อจญ์ ทั้งๆที่รายงานต่างๆที่ระบุว่าเหตุการณ์อิสรออ์-มิอฺร็อจญ์เกิดขึ้นในวันที่ 27 เดือนเราะญับนั้นเป็นรายงานที่ไม่ถูกต้อง

อิมามอิบนุหะญัร กล่าวว่า “นักเล่าเรื่องบางคนบอกว่า เหตุการณ์อิสรออ์นั้นเกิดในเดือนเราะญับ” จากนั้นท่านก็พูดว่า “เป็นเรื่องโกหก” (ตับยีนุล อะญับ หน้าที่ 6) อิมามอิบนุเราะญับ กล่าวว่า “มีการรายงานเรื่องดังกล่าวด้วยสายรายงานที่ไม่ถูกต้อง จากอัลกอศิม บินมุฮัมหมัดว่า เหตุการณ์อิสรออ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เกิดขึ้นในวันที่ 27 เดือนเราะญับ แต่อิบรอฮีม อัลหัรบีย์ และนักวิชาการคนอื่นๆปฏิเสธ-ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้” (ดู ซาดุลมะอาด เขียนโดย อิมามอิบนุลก็อยยิม เล่มที่ 1 หน้าที่ 275)

อย่างไรก็ตาม ต่อให้รู้แน่ชัดว่าเหตุการณ์อิสรออ์-มิอฺร็อจญ์เกิดขึ้นวันไหน ก็ไม่อนุญาตให้จัดงานเฉลิมฉลองอยู่ดี ท่านเราะสูล บรรดาเศาะหาบะฮฺ และชาวสะลัฟ ไม่เคยจัดงานดังกล่าวเลย

 

เชคอับดุลอะซีซ บินบาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวไว้ว่า

وهذه الليلة التي حصل فيها الإسراء والمعراج لم يأتِ في الأحاديث الصحيحة تعيينها، لا في رجب ولا في غيره، وكلُّ ما ورد في تعيينها فهو غير ثابت عن النبي صلى الله عليه وسلم عند أهل العلم بالحديث ولله الحكمة البالغة في إنساء الناس لها، ولو ثبت تعيينها لم يجزْ للمسلمين أن يخصُّوها بشيء من العبادات، ولم يجزْ لهم أن يحتفلوا بها؛ لأنَّ النبي صلى الله عليه وسلم وأصحابه رضي الله عنهم لم يحتفلوا بها ولم يخصُّوها بشيء، ولو كان الاحتفال بها أمراً مشروعاً لبيَّنه الرَّسول صلى الله عليه وسلم للأُمّة، إما بالقول، وإما بالفعل، ولو وقع شيء من ذلك لعُرفَ واشتهر، ولَنَقَلهُ الصحابة رضي الله عنهم إلينا، فقد نقلوا عن نبيِّهم صلى الله عليه وسلم كلَّ شيء تحتاجه الأُمّة، ولم يُفرِّطوا في شيء من الدين، بل هم السابقون إلى كلِّ خير، ولو كان الاحتفال بهذه الليلة مشروعاً لكانوا أسبق إليه …

“คืนที่เหตุการณ์อิสรออ์-มิอฺร็อจญ์เกิดขึ้นนั้น ไม่มีระบุในหะดีษเศาะฮีหฺ (หะดีษที่ถูกต้อง) ว่าคือวันไหน ไม่มีระบุว่าเกิดในเดือนเราะญับหรือเดือนไหนด้วย ทุกรายงานที่ระบุวันเวลาที่เกิดขึ้น ซึ่งอ้างไปยังท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นรายงานที่ไม่ถูกต้องตาม (การวินิจฉัยของ) นักวิชาการหะดีษ

          อัลลอฮฺทรงมีวิทยปัญญา (หิกมะฮฺ) ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการที่ผู้คนลืมว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และต่อให้มีรายงานที่ถูกต้องแน่ชัดว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็ไม่อนุญาตให้มุสลิมทำอิบาดะฮฺบางอย่างเป็นการเฉพาะ และไม่อนุญาตให้จัดงานเฉลิมฉลองใดๆด้วย

          เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ไม่ได้จัดงานเฉลิมฉลองและไม่ได้ทำอิบาดะฮฺอะไรเป็นการเฉพาะด้วย หากการเฉลิมฉลองเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติจริง ท่านเราะสูล ศ้อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ต้องบอกกล่าวให้ประชาชาติอิสลามได้รับทราบแล้ว ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆมันก็ต้องเป็นที่รับรู้และรู้กันโดยทั่วไปแล้ว และบรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ก็ต้องรายงานมายังพวกเรา พวกเขาส่งต่อทุกสิ่งที่จำเป็นจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ให้กับอุมมะฮฺมิใช่หรือ และไม่เคยดูแคลนแม้แต่น้อยต่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา กลับกันพวกเขาเป็นแนวหน้าในเรื่องความดีงามทุกอย่าง ถ้าการเฉลิมฉลองในคืนอิสรออ์-มิอฺร็อจญ์เป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติไว้ พวกเขาจะต้องล่วงหน้าทำมันไปก่อนแล้วแน่นอน…”

 

สุดท้ายนี้ แม้เดือนเราะญับจะไม่ได้มีเหตุการณ์หรืออิบาดะฮฺพิเศษ แต่ก็เป็นเดือนที่สำคัญมาก ในฐานะเป็น 1 ใน 4 เดือนต้องห้าม และในฐานะเป็นเดือนที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ชาวมุสลิมจะเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเดือนเราะมะฎอนที่ประเสริฐ ด้วยการเริ่มทำอะม้าลและอิบาดะฮฺสุนนะฮฺต่างๆในเดือนนี้ ดังคำกล่าวที่ว่า เดือนเราะญับคือเดือนแห่งการเพาะปลูก ส่วนเดือนชะอฺบานคือเดือนสำหรับรดน้ำบำรุงดิน และเดือนเราะมะฎอนคือเดือนเก็บเกี่ยวผล

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ