ศาสนาอิสลามมีบทบัญญัติคุ้มครองและดูแลผู้หญิงด้วยกับบางอย่างที่ไม่เหมือนกับผู้ชาย มีบัญญัติเฉพาะให้ผู้หญิงคลุมฮิญาบ (คือ การปกปิดตนเองจากชายที่ไม่ใช่มะหฺรอม-ญาติใกล้ชิด) ทั้งการสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดทั่วร่างกาย (ญิลบาบ) และการพำนักอยู่ที่บ้าน ไม่ออกไปข้างนอกยกเว้นเมื่อจำเป็น ซึ่งเป็นคำสั่งใช้ที่ต่างไปจากผู้ชาย
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา สร้างผู้หญิงให้แตกต่างจากผู้ชาย ทั้งในแง่ของสรีระร่างกายและสภาพจิตใจ ด้วยวิทยปัญญาของพระองค์ ผู้ทรงรอบรู้ที่สุด ทำให้บทบัญญัติ บทบาทหน้าที่ และข้อสั่งใช้ต่างๆ ที่พระองค์กำหนดให้กับชายและหญิงนั้นแตกต่างกัน มีความเหมาะสมกับศักยภาพและธรรมชาติของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์สุขของมนุษย์เอง เกิดความเจริญงอกงามในชีวิตและโลกใบนี้
ผู้หญิงถูกกำหนดให้เป็นเสมือนแสงประทีปภายในบ้านและเป็นผู้อบรมบ่มสร้างคนรุ่นถัดไป เธอจึงต้องรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธ์ เกียรติ และความยำเกรง ผู้หญิงที่คลุมฮิญาบถูกต้องตามที่อัลลอฮฺและเราะสูลใช้ จะไม่ถูกคนที่มีจิตใจใคร่ทำสิ่งไม่ดีรบกวน และจะปลอดภัยจากสายตาที่จ้องทำลาย
ญิลบาบหมายถึง?
นักวิชาการอิสลามได้อธิบายความหมายของญิลบาบเอาไว้แล้ว เช่น อิมามอิบนุเราะญับอธิบายว่า “ญิลบาบคือ ผ้าที่ปกปิดร่างกายทั้งหมด ตั้งแต่หัวจรดเท้า ที่ใช้คลุมทับเสื้อข้างในอีกครั้ง” อิมามอัลบะเฆาะวีย์ก็อธิบายแบบนี้ในหนังสือตัฟสีรของท่าน รวมถึงเชคอัลอัลบานีย์ด้วย นักวิชาการบางท่านอธิบายว่า “ญิลบาบก็คือคิมาร (คือ ผ้าคลุมที่ปกปิดศรีษะ คอ และหน้าอก)” นักวิชาการที่อธิบายแบบนี้ ได้แก่ อิมามอันนะวะวีย์และอิมามอิบนุหะญัร เป็นต้น ส่วนอิมามอัซซินดีย์อธิบายว่า “ญิลบาบคือ ผ้าที่ผู้หญิงใช้ปกปิดศรีษะ หน้าอก และหลัง เมื่ออกจากบ้าน”
สรุปแล้ว ญิลบาบคือชุดเสื้อผ้าที่ผู้หญิงสวมใส่เผื่อปกปิดร่างกายทุกส่วน เมื่อต้องออกจากบ้าน หรือเมื่ออยู่ต่อหน้าชายที่ไม่ใช่มะหฺรอม (บ้านเราคุ้นชินกับการใช้คำว่า “ฮิญาบ” มากกว่า ทั้งที่ความจริงแล้ว ฮิญาบนั้นมีความหมายที่กว้างกว่าเรื่องการสวมผ้าคลุมหรือชุดของผู้หญิง)
ชุดเสื้อผ้าของผู้หญิง (ญิลบาบ) มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง?
หลังจากที่ได้ศึกษาและพิจารณาอายะฮฺกุรอานและหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตลอดจนคำอธิบายของผู้รู้ในอดีตเกี่ยวกับเรื่องนี้ เชคมุฮัมหมัด นาศิรุดดีน อัลอัลบานีย์ ก็ได้อธิบายเงื่อนไขของชุดที่ผู้หญิงจะต้องสวมใส่ขณะออกจากบ้าน หรือขณะอยู่ต่อหน้าชายที่ไม่ใช่มะหฺรอม สรุปได้ดังนี้
เงื่อนไขข้อที่ 1 : ปกปิดร่างกายทั้งหมด ยกเว้นส่วนที่อนุญาตให้เปิดเผยได้
เงื่อนไขนี้มีระบุในอัลกุรอาน สูเราะฮฺอันนูร อายะฮฺที่ 31
وَقُل لِّلْمُؤْمِنَاتِ يَغْضُضْنَ مِنْ أَبْصَارِهِنَّ وَيَحْفَظْنَ فُرُوجَهُنَّ وَلَا يُبْدِينَ زِينَتَهُنَّ إِلَّا مَا ظَهَرَ مِنْهَا وَلْيَضْرِبْنَ بِخُمُرِهِنَّ عَلَىٰ جُيُوبِهِنَّ وَلَا يُبْدِينَ زِينَتَهُنَّ إِلَّا لِبُعُولَتِهِنَّ أَوْ آبَائِهِنَّ أَوْ آبَاءِ بُعُولَتِهِنَّ أَوْ أَبْنَائِهِنَّ أَوْ أَبْنَاءِ بُعُولَتِهِنَّ أَوْ إِخْوَانِهِنَّ أَوْ بَنِي إِخْوَانِهِنَّ أَوْ بَنِي أَخَوَاتِهِنَّ أَوْ نِسَائِهِنَّ أَوْ مَا مَلَكَتْ أَيْمَانُهُنَّ أَوِ التَّابِعِينَ غَيْرِ أُولِي الْإِرْبَةِ مِنَ الرِّجَالِ أَوِ الطِّفْلِ الَّذِينَ لَمْ يَظْهَرُوا عَلَىٰ عَوْرَاتِ النِّسَاءِ وَلَا يَضْرِبْنَ بِأَرْجُلِهِنَّ لِيُعْلَمَ مَا يُخْفِينَ مِن زِينَتِهِنَّ وَتُوبُوا إِلَى اللَّـهِ جَمِيعًا أَيُّهَ الْمُؤْمِنُونَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ
และจงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) แก่บรรดาผู้ศรัทธาหญิง ให้พวกเธอลดสายตาของพวกเธอลงต่ำ และให้พวกเธอรักษาทวารของพวกเธอ และอย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่สิ่งที่พึงเปิดเผยได้ และให้เธอปิดด้วยผ้าคลุมศรีษะของเธอลงมาถึงหน้าอกของเธอ และอย่าให้พวกเธอเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่แก่สามีของพวกเธอ หรือบิดาของสามีของพวกเธอ หรือลูกชายของพวกเธอ หรือลูกชายสามีของพวกเธอ หรือพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือลูกชายของพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือลูกชายของพี่สาวน้องสาวของพวกเธอ หรือพวกผู้หญิงของพวกเธอ หรือที่มือขวาของพวกเธอครอบครอง (ทาสและทาสี) หรือคนใช้ผู้ชายที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศ หรือเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องเพศสงวนของผู้หญิง และอย่าให้พวกเธอกระทืบเท้าของพวกเธอ เพื่อให้ผู้อื่นรู้สิ่งที่พวกเธอควรปกปิดในเครื่องประดับของพวกเธอ และพวกกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺเถิด โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ (อันนูร 24 : 31)
และเช่นกัน ในสูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ อายะฮฺที่ 59
يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ قُل لِّأَزْوَاجِكَ وَبَنَاتِكَ وَنِسَاءِ الْمُؤْمِنِينَ يُدْنِينَ عَلَيْهِنَّ مِن جَلَابِيبِهِنَّ ذَٰلِكَ أَدْنَىٰ أَن يُعْرَفْنَ فَلَا يُؤْذَيْنَ وَكَانَ اللَّـهُ غَفُورًا رَّحِيمًا
โอ้นะบีเอ๋ย! จงกล่าวแก่บรรดาภริยาของเจ้า และบุตรสาวของเจ้า และบรรดาหญิงของบรรดาผู้ศรัทธา ให้พวกนางดึงเสื้อคลุมของพวกนางลงมาปิดตัวของพวกนาง นั่นเป็นการเหมาะสมกว่าที่นางจะเป็นที่รู้จัก เพื่อที่พวกนางจะไม่ถูกรบกวน และอัลลอฮฺทรงเป็นผู้อภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ (อัลอะหฺซาบ 33 : 59)
นักวิชาการบางท่าน เช่น อิมามอิบนุกะษีร ในตัฟสีรของท่าน อธิบายว่า “ส่วนที่อนุญาตให้เปิดเผยก็คือ ด้านนอกของเสื้อผ้าที่ผู้หญิงสวมใส่ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะปกปิด” ส่วนอิมามอิบนุญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์ อธิบายว่า “ใบหน้าและฝ่ามือทั้งสอง คือส่วนที่อนุญาตให้เปิดเผยได้ เพราะทั้งสองไม่ใช่เอาเราะฮฺ (อวัยวะที่ต้องปกปิด)” ส่วนเชคอัลอัลบานีย์ ท่านอธิบายว่า “อนุญาตให้ผู้หญิงเปิดเผยใบหน้าและฝ่ามือทั้งสองข้างได้ แต่ด้วยเงื่อนไขว่าต้องไม่มีการตกแต่งประดับประดา ถ้ามีเครื่องประดับ เช่น แหวนที่นิ้วมือ หรือมีการตบแต่งหน้า หรืออื่นๆ อวัยวะทั้งสองก็จะต้องถูกปกปิด ตามที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้ความว่า “…และอย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ … (อันนูร 24 : 31)”
เงื่อนไขที่ 2 : ไม่ใช่เพื่อโชว์ความสวยงาม
เป้าหมายสำคัญของบัญญัติเรื่องชุดเสื้อผ้าของผู้หญิง (ญิลบาบ) คือเพื่อปกปิดร่างกายและเครื่องประดับของผู้หญิง ตามอายะฮฺกุรอานที่ได้กล่าวไปแล้ว ฉะนั้น ชุดที่ผู้หญิงสวมใส่ (ญิลบาบ) จะต้องไม่มีการประดับตกแต่งให้สวยงาม จนดึงดูดสายตาและความสนใจของผู้ชาย
ปัจจุบันนี้มีการประดับตกแต่งเสื้อผ้ากันเยอะมาก แล้วผู้หญิงก็สวมเสื้อผ้าแบบนั้นออกนอกบ้านและพบปะกับชายที่ไม่ใช่มะหฺรอม เช่น ผ้าคลุมหรือเสื้อผ้าที่มีการเย็บปักถักร้อยด้วยสีสัน, ติดลูกปัดแวววาว, เย็บริบบิ้น, ถักโบว์สี, ประดับกากเพชรเงิน และตกแต่งด้วยเทคนิคและอุปกรณ์เครื่องประดับต่างๆมากมายตามแต่แฟชั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ส่วนเรื่องสีของชุดนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสีขาวหรือดำเท่านั้น สีอื่นๆก็สามารถสวมใส่ได้ เพราะมีรายงานว่า ภรรยานบีก็เคยสวมเสื้อคลุมสีแดง
ติดตามตอนต่อไป…