ชะอฺบาน…เดือนแห่งการเพาะปลูก (ตอนที่ 2-จบ) – White Channel

White Channel

ชะอฺบาน…เดือนแห่งการเพาะปลูก (ตอนที่ 2-จบ)

บทความตอนที่แล้ว เราได้นำเสนอเกี่ยวกับความสำคัญของเดือนชะอฺบาน และอิบาดะฮฺที่ส่งเสริมให้กระทำในเดือนนี้ไปแล้ว ในตอนนี้เราจะนำเสนอต่อเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

  1. หลีกห่างจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺและทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างพี่น้องมุสลิม

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม บอกว่า อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา จะทรงอภัยโทษให้กับทุกคน ที่ไม่ตั้งภาคี (ชิรกฺ) และไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ท่านกล่าวไว้ว่า

 

إِنَّ اللَّهَ لَيَطَّلِعُ فِي لَيْلَةِ النِّصْفِ مِنْ شَعْبَانَ, فَيَغْفِرُ لِجَمِيعِ خَلْقِهِ, إِلاَّ لِمُشْرِكٍ أَوْ مُشَاحِنٍ.

                        แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงปรากฏในค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบาน แล้วอภัยโทษให้กับบ่าวทุกคน ยกเว้นคนที่ตั้งภาคีและคนที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน” (บันทึกโดย อิบนุมาญะฮฺ หมายเลขที่ 1390, เชคอัลอัลบานีย์รับรองว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง ในหนังสือ เศาะฮีหฺ สุนัน อิบนุมาญะฮฺ)

ท่านเราะสูลยังได้กล่าวเจาะจงเกี่ยวกับคนที่ทะเลาะเบาะแว้งกับพี่น้องร่วมศาสนาของเขาอีกว่า

تُفْتَحُ أَبْوَابُ الْجَنَّةِ يَوْمَ الاِثْنَيْنِ وَيَوْمَ الْخَمِيسِ فَيُغْفَرُ لِكُلِّ عَبْدٍ لاَ يُشْرِكُ بِاللَّهِ شَيْئًا إِلاَّ رَجُلاً كَانَتْ بَيْنَهُ وَبَيْنَ أَخِيهِ شَحْنَاءُ فَيُقَالُ أَنْظِرُوا هَذَيْنِ حَتَّى يَصْطَلِحَا أَنْظِرُوا هَذَيْنِ حَتَّى يَصْطَلِحَا أَنْظِرُوا هَذَيْنِ حَتَّى يَصْطَلِحَا.

                        “ประตูสวรรค์จะเปิดออกในทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี และบ่าวทุกคนที่ไม่ได้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺจะได้รับการอภัยโทษ ยกเว้นคนที่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับพี่น้องของเขา แล้วจะมีคำกล่าวว่า ‘ชะลอ (การอภัยโทษแก่) สองคนนี้ไว้ก่อน จนกว่าพวกเขาจะคืนดีกัน, ชะลอไว้ก่อน จนกว่าพวกเขาจะคืนดีกัน, ชะลอไว้ก่อน จนกว่าพวกเขาจะคืนดีกัน’” (บันทึกโดย มุสลิม หมายเลขที่ 2565, 6544)

ฉะนั้นแล้ว จงหลีกให้ห่างจากการตั้งภาคีทุกประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และพยายามอย่ามีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับพี่น้องมุสลิมของเราด้วย

 

เกี่ยวกับค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบาน (นิศฟุชะอฺบาน)

หะดีษที่ยกมาก่อนหน้านี้ได้พูดถึงคืนนิศฟุชะอฺบาน หรือค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบาน นั่นหมายความว่าเป็นคืนพิเศษที่ส่งเสริมให้มีการทำอิบาดะฮฺเฉพาะด้วยหรือไม่? เรื่องนี้ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้อธิบายไว้ว่า

 

وَصَلَاةُ الرَّغَائِبِ بِدْعَةٌ مُحْدَثَةٌ لَمْ يُصَلِّهَا النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَلَا أَحَدٌ مِنْ السَّلَفِ، وَأَمَّا لَيْلَةُ النِّصْفِ مِنْ شَعْبَانَ فَفِيهَا فَضْلٌ، وَكَانَ فِي السَّلَفِ مَنْ يُصَلِّي فِيهَا، لَكِنَّ الِاجْتِمَاعَ فِيهَا لِإِحْيَائِهَا فِي الْمَسَاجِدِ بِدْعَةٌ وَكَذَلِكَ الصَّلَاةُ الْأَلْفِيَّةُ.

                        การละหมาดเราะฆออิบ[1] เป็นสิ่งที่ถูกอุตริขึ้นมา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่เคยกระทำ และไม่มีชาวสะลัฟสักคนเคยทำด้วย ส่วนค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบานนั้นมีความประเสริฐ มีชาวสะลัฟในอดีตเคยละหมาดในค่ำคืนนั้น แต่การรวมตัวกันละหมาด (หรือทำอิบาดะฮฺอื่นๆ) ที่มัสญิดต่างๆนั้นเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) เช่นเดียวกับการละหมาดอัลฟียะฮฺ[2] (อัลฟะตาวา อัลกุบรอ เล่ที่ 5 หน้าที่ 344)

 

นักวิชาการส่วนใหญ่ส่งเสริมให้ทำอิบาดะฮฺต่างๆในคืนนิศฟุชะอฺบาน แต่ไม่ใช่ด้วยการทำร่วมกันหลายๆกัน นักวิชาการบางส่วนเห็นต่าง บอกว่าไม่ได้มีความประเสริฐเฉพาะในคืนดังกล่าว เพราะไม่มีหะดีษหรือรายงานที่ถูกต้องว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยใช้ให้ทำอิบาดะฮฺใดๆเป็นการเฉพาะในคืนนั้น ส่วนถ้ามีรายงานใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เป็นรายงานที่อ่อนแอ (เฎาะอีฟ) ไม่มีน้ำหนักพอ

 

เกี่ยวกับการละหมาดเราะฆออิบและอัลฟียะฮฺ

          ไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องที่ระบุถึงความประเสริฐของการละหมาดพิเศษในคืนนิศฟุชะอฺบาน ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดเราะฆออิบ (12 ร็อกอะฮฺ) และละหมาดอัลฟียะฮฺ (100 ร็อกอะฮฺ) การเจาะจงทำอิบาดะฮฺในคืนนี้ไม่มีที่มาจากสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮฺ เราจำเป็นต้องละทิ้ง

อิมามอันนะวะวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้ถูกถึงการละหมาดทั้งสองนี้ไว้ว่า

 

وَهَاتَانِ الصَّلاَتَانِ بِدْعَتَانِ مَذْمُومَتَانِ مُنْكَرَتَانِ قَبِيحَتَانِ ، وَلاَ تَغْتَرَّ بِذِكْرِهِمَا فِي كِتَابِ قُوتِ الْقُلُوبِ وَالإْحْيَاءِ

                        “การละหมาดทั้งสองนี้เป็นอุตริกรรมที่ถูกตำหนิ ถูกห้าม และเลวร้าย อย่าถูกหลอกเพราะมันทั้งสองถูกกล่าวไว้ในหนังสือ กูตุลกุลูบ และ อัลอิหฺยาอ์” (อัลมัจญ์มูอฺ ลินนะวะวีย์ เล่มที่ 22 หน้าที่ 272)

 

เกี่ยวกับการถือศีลอดในช่วงกลางเดือนชะอฺบาน

การเจาะจงถือศีลอดในช่วงกลางเดือนชะอฺบานไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก นักวิชาการบางท่านมองว่าเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ด้วยซ้ำไป ส่วนหะดีษที่ว่า

 

إِذَا كَانَتْ لَيْلَةُ النِّصْفِ مِنْ شَعْبَانَ، فَقُومُوا لَيْلَهَا وَصُومُوا نَهَارَهَا.

            เมื่อถึงคืนกลางเดือนชะอฺบาน ก็จงยืนละหมาดในช่วงกลางคืน และถือศีลอดในช่วงกลางวัน (บันทึกโดย อิบนุมาญะฮฺ หมายเลขที่ 1388, เชคอัลอัลบานีย์กล่าวว่า “สายรายงานเป็นเท็จ” ในหนังสือ อัฎเฎาะอีฟะฮฺ หมายเลขที่ 2132)

 

หะดีษดังกล่าวเป็นหะดีษเท็จ (เมาฎูอฺ) ไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานได้ แต่ถ้าต้องการถือศีลอดในวันนั้น บนพื้นฐานของหะดีษอื่นๆที่ส่งเสริมให้เราถือศีลอดให้มากในหรือชะอฺบาน หรือเพราะมันตรงกับวันสีขาว (วันที่ 13, 14 และ 15 ของทุกเดือน) ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ที่ทำไม่ได้คือ การเจาะจงถือศีลอดในวันนั้นเพราะเชื่อในหะดีษที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวต่างหาก

หวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน เดือนชะอฺบานกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว อย่าลืมประกอบคุณงามความดีและทำอิบาดะฮฺให้มากขึ้นนะครับ เพราะอีกไม่นานก็จะถึงคิวเดือนที่สำคัญที่สุดของพวกเราแล้ว นั่นก็คือ เดือนเราะมะฎอน

 

—————————————————————

[1] ได้กล่าวถึงแล้วในบทความเรื่อง รู้จักเดือนเราะญับ (ตอนที่ 2)“

[2] การละหมาดอัลฟียะฮฺคือ การละหมาดที่มุสลิมส่วนหนึ่งมักจะทำในคืนนิศฟุชะอฺบาน วิธีการคือ ละหมาด 100 ร็อกอะฮฺ ทุกๆร็อกอะฮฺให้อ่านสูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ 1 ครั้ง และสูเราะฮฺอัลอิคลาศ 10 ครั้ง โดยเชื่อว่าอัลลอฮฺจะอภัยโทษบาปและทำให้มีชีวิตที่มีความสุข อัลลอฮฺจะทรงมลาอิกะฮฺ 70,000 ท่านลงมาบันทึกความดีงามให้ และอีก 70,000 ท่านลงมาลบล้างความผิดบาปและยกสถานะให้สูงขึ้นจนถึงปีหน้า และผลตอบแทนอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งล้วนไม่ถูกต้อง เพราะหะดีษที่นำมาใช้อ้างอิงนั้นเป็นหะดีษเท็จ (เมาฎูอฺ)

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ