เกิดอะไรในโลก : UAE เตรียมลงทุน 9.9 แสนล้านบาทในเกาหลีใต้
ทริปกระชับความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ของประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล นอกจากจะเพิ่มความร่วมมือทางการทหาร ปิดดีลซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว ยังมีความร่วมมือในภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เตรียมเข้าไปลงทุนในเกาหลีใต้ด้วยวงเงินที่สูงถึง 9.9 แสนล้านบาท
โดยประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล แถลงการณ์ที่กรุงอาบูดาบี ยืนยันว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จะลงทุนของในเกาหลีใต้ด้วยวงเงินที่สูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 991,580 ล้านบาท ภายในปี 2023 นี้ ซึ่งผู้นำเกาหลีใต้แสดงความหวังว่า เม็ดเงินลงทุนล่าสุดของยูเออีจะช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งต่อเกาหลีใต้และต่อตลาดโลกโดยรวม
แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม แต่เลขานุการฝ่ายสื่อของประธานาธิบดียุน ซอกยอล ออกมาระบุว่า โครงการลงทุนทั้งหมดของฝ่ายยูเออีซึ่งมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจรวม 13 ฉบับนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การลงทุนด้านพลังงานสะอาดไปจนถึงด้านการทหาร หนึ่งในนั้นเป็นข้อตกลงในโครงการสร้างเครื่องบินรบแบบใหม่ของเกาหลีใต้ที่มีชื่อว่า เอ็มซี-เอ็กซ์
โครงการพัฒนาเครื่องบินรบแบบใหม่ของเกาหลีใต้ เปิดตัวเครื่องบินต้นแบบไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยบริษัท Korean Aerospace industries (KAI) แต่กองทัพอากาศเกาหลีใต้ออกมายอมรับว่า ปัญหาด้านงบประมาณทำให้การพัฒนาเครื่องบินรุ่นนี้มีความล่าช้า และกว่าจะผลิตออกมาใช้งานได้จริง อาจต้องรอถึงปี 2030 เป็นอย่างน้อย
แต่เอกสาร MoU ล่าสุดที่มีการลงนามกันในวันนี้ระบุว่า สภาตาวาซุน (Tawazun Council) ซึ่งเป็นองค์กรจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลยูเออีโดยเฉพาะ จะเข้าไปเป็น “หุ้นส่วน” และเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินหลักในโครงการพัฒนาเครื่องบินเอ็มซี-เอ็กซ์ของเกาหลีใต้
หากโครงการพัฒนาเครื่องบินรุ่นนี้ประสบความสำเร็จ จะช่วยให้ทั้งเกาหลีใต้และยูเออี สามารถลดการพึ่งพาการจัดซื้อเครื่องบินรบจากสหรัฐฯ ที่ยังถือเป็นอากาศยานหลักในกองทัพของทั้งสองประเทศมายาวนาน
นอกเหนือจากการร่วมพัฒนาเครื่องบินรบรุ่นใหม่ดังกล่าว ยังมีรายงานว่า ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ผู้นำเกาหลีใต้ ได้หารือกับ เชคมูฮัมหมัด บิน ซายิด อัล-นะห์ยาน ประธานาธิบดีของยูเออี เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำข้อตกลงขายระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีชื่อว่า เอ็ม-แซม (M-SAM)
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ เอ็ม-แซม ( M-SAM ) ถูกพัฒนาและทดสอบโดยกองทัพเกาหลีใต้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2017 และมีศักยภาพในการยิงสกัดขีปนาวุธของศัตรูได้ดีในระดับความสูงต่ำกว่า 40 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ยูเออีตกลงซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ M-SAM จากเกาหลีใต้ เพราะเมื่อปีที่แล้ว เกาหลีใต้เพิ่งบรรลุข้อตกลงมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.15 แสนล้านบาท) เพื่อขายระบบป้องกันทางอากาศที่ล้ำสมัยนี้ให้แก่ยูเออีมาแล้ว
และเหตุผลประกาศสำคัญที่ทำให้รัฐบาลยูเออี ต้องสั่งซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศนี้จากเกาหลีใต้ก็คือการรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคง จากกลุ่มกบฏชีอะห์ฮูษี่ในเยเมน ที่มีอิหร่านให้การสนับสนุน หลังสามารถล้มรัฐบาลเยเมนที่นานาชาติให้การยอมรับได้ช่วงปี 2014-2015
จากนั้น ซาอุดีอาระเบียได้จับมือพันธมิตรชาติอาหรับอีกหลายชาติรวมถึงยูเออี ถล่มกลุ่มกบฏชีอะห์ฮูษี่อย่างหนัก ทำให้กลุ่มฮูษี่ทำการโจมตีกลับด้วยโดรนที่ผลิตในอิหร่าน รวมถึงขีปนาวุธชนิดต่างๆ เพื่อแก้แค้นหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้ การจัดซื้อระบบป้องกันภัย M-SAM จากเกาหลีใต้จึงมีความสำคัญและมีส่วนช่วยปกป้องยูเออีจากการถูกโจมตีทางอากาศได้อย่างสำคัญ
ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวล่าสุดยังถือเป็นการตอกย้ำนโยบายด้านความมั่นคงของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ที่ประกาศจะพาเกาหลีใต้ขยับสถานะจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับที่ 8 ของโลกในปัจจุบัน ให้ก้าวขึ้นไปติด “ท็อป โฟร์” หรือ การเป็นผู้ส่งออกอาวุธ 4 อันดับแรกของโลก ให้ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2025
นอกเหนือจากการบรรลุข้อตกลงด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนดังกล่าว อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของผู้นำเกาหลีใต้ในการเยือนยูเออีคือการเดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าบะรอกะห์ (Barakah ) ซึ่งก่อสร้างโดยเกาหลีใต้โรงไฟฟ้าแห่งนี้
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์บะรอกะห์ ตั้งอยู่ในเขตปกครองอัล ดาฟรา ไม่ไกลจากชายแดนซาอุดีอาระเบีย และถือเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
รัฐบาลเกาหลีใต้ชนะการประมูล โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บะรอกะห์แห่งนี้เมื่อปี 2009 ทำให้โครงการนี้เป็นโครงการพัฒนา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของเกาหลีใต้ที่สร้างขึ้นในต่างแดน
การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว ซึ่งมีมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ยังถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในคาบสมุทรอาระเบีย และยังเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลกอาหรับ
การเยือนยูเออีของผู้นำเกาหลีใต้มีขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้กำลังเตรียมเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เตาที่ 3 จากทั้งหมด 4 เตา ขณะที่โครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีหน้า (ค.ศ.2024)
หากเปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้ครบทั้งหมด 4 เตา โรงไฟฟ้าบะรอกะห์แห่งนี้จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 5,380 เมกะวัตต์ หรือราวร้อยละ 25 ของปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศยูเออี
pptvhd :