White Channel

UAE เลือกสหรัฐร่วมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ในยุคสมรภูมิแข่ง AI เดือด

เกิดอะไรในโลก : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เททุนจีน เลือกเงินทุนสหรัฐ หวังพัฒนาอุตสาหกรรมเอไอ เพื่อขึ้นเป็น “ผู้เล่นระดับโลก”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ประเทศกำลังทำงานร่วมกับสหรัฐเกี่ยวกับการพัฒนาเอไอ บ่งชี้ว่ายูเออีเริ่มปลีกตัวห่างจากจีน

เลือกข้างสหรัฐฯ

อุมัร อัล อุละมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปัญญาประดิษฐ์ยูเออี ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับการลงทุนด้านเอไอเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. หลังบริษัทรัฐวิสาหกิจ Emirati AI ได้รับเงินลงทุนก้อนใหญ่จากไมโครซอฟท์ โดยมีเงื่อนไขเสนอว่าบริษัทจะยกเลิกข้อตกลงเงินลงทุนจากจีน

เมื่อถูกถามถึงข้อตกลงของยูเออีกับธุรกิจเอไอจีน เขากล่าวว่า “ผมคิดว่าความเป็นจริงในโลกเอไอทุกวันนี้ เราจำเป็นต้องเลือกคนที่เราจะทำงานด้วย มีเรื่องต้องหารือมากมายระหว่างยูเออี และสหรัฐ เกี่ยวกับความพึงพอใจของเขาต่อสิ่งที่เราทำกับผู้เล่นอื่นๆ ทั่วโลก และสิ่งที่พวกเขาไม่สบายใจ แต่ในเรื่องเอไอ ผมคิดว่าจะเกิดความร่วมมืออย่างเต็มที่ระหว่างยูเออี และสหรัฐ”

เอเอฟพีรายงานว่า G42 บริษัทด้านเอไอในกรุงอาบูดาบี ที่มีเชค ทาห์นูน บิน ซาเยด อัล นะห์ยาน น้องชายของประธานาธิบดียูเออี และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงนั่งประธานบริษัท ได้รับเงินลงทุนเชิงยุทธศาสตร์มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ จากไมโครซอฟท์ บริษัทเทคยักษ์สัญชาติสหรัฐ เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา

ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์ส และบลูมเบิร์ก ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการหารือระหว่างรัฐบาลสหรัฐ และยูเออี ซึ่ง G42 เห็นด้วยเกี่ยวกับการยกเลิกข้อตกลงกับพันธมิตรจีน และหันไปสนับสนุนเทคโนโลยีจากสหรัฐ

‘เอไอ’ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

เอไอ กลายเป็นสมรภูมิรบขนาดใหญ่ระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ และจีน ขณะนี้สหรัฐกำลังเคลื่อนไหวเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในด้านการเปลี่ยนแปลง และยับยั้งจีนไม่ให้เข้าถึงข้อมูลที่อ่อนไหว

อุละมา รัฐมนตรีวัย 34 ปี ผู้ได้เป็นรัฐมนตรีเอไอคนแรกของโลกในปี 2017 เผยว่า ยูเออีประเทศที่กำลังลดพึ่งพาน้ำมันอย่างแข็งขัน มีความมุ่งมั่นด้านเอไอเป็นอย่างมาก เอไอน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในแง่ของการลงทุนของยูเออี และความมุ่งมั่นของยูเออี

เมื่อเดือนก่อน บริษัท G42 ที่ขับเคลื่อนด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เปิดตัวฟอลคอน 2 (Falcon 2) ซึ่งเป็นโมเดลเอไอโอเพนซอร์ส เพื่อพยายามแข่งขันกับเอไอของอเมริกันอย่าง ChatGPT ของบริษัทโอเพนเอไอ

Inception บริษัทในเครือ G42 และมหาวิทยาลัยเอไอมูฮัมหมัด บิน ซาเยด (Mohamed bin Zayed University of Artificial Intelligence) ในกรุงอาบูดาบี ยังได้ผลิต Jais โมเดลภาษาอารบิกขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูงที่สุดในโลกอีกด้วย

ด้านอุละมา เชื่อมั่นว่า โมเดลเอไอเหล่านั้นจะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคด้านกฎระเบียบจากสหประชาชาติ (อียู) ได้ ซึ่งอียูเพิ่งผ่านร่างกฎหมายเอไอ และมีมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลที่เข้มงวด รวมทั้งข้อมูลจากรัฐบาล และแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพ

อุปสรรคของอุตฯเอไอยูเออี

งานระดมสมอง AI Retreat ที่จัดขึ้นในพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต ณ เมืองดูไบ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีผู้เล่นในอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าร่วมหลายราย

อุละมา เผยว่า งานดังกล่าวมีประเด็นสำคัญคือ ยูเออีต้องการเป็นผู้เล่นระดับโลก โดยหวังว่าจะมีบริษัทเอไอหลายแห่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

เมื่อถามถึงประเด็นช่องว่างที่อาจเกิดขึ้นต่อบริษัทที่มีความสามารถในยูเออี อุละมา ตอบว่า หากมองไปที่ความคืบหน้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีบริษัทที่มีความสามารถเหลือล้นเข้ามาในยูเออีแล้ว และตนเชื่อมั่นว่าประเทศสามารถเชื่อมช่องว่างเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยูเออี ยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อหวังทำกำไรจากดีมานด์ในตลาดชิปเอไอที่เพิ่มขึ้น มีการหารืออย่างแน่นอน และเราจะเพิ่มรับพันธมิตรที่คู่ควรไม่ว่าจะมาจากประเทศใด ไม่ว่าจะอยู่ในยุโรปหรือสหรัฐก็ตาม”

สำหรับการรับมือกับรายงานที่ว่า สหรัฐชะลอการส่งออกชิปเอไอหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย อุละมามีความหวังและเชื่อว่ายูเออีสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหา ที่ตรงตามความต้องการของทุกฝ่าย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1131103

error: ขอบคุณที่ติดตามครับ