สหภาพยุโรปแสดงความยินดีที่ปาเลสไตน์จะจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 14 ปี สำนักข่าวอนาโดลูรายงานว่าโฆษ…
UPDATE : รัฐบาลบังกลาเทศเดินหน้าตามแผนส่งผู้อพยพมุสลิมโรฮิงญากว่า 1,600 คนในวันศุกร์(4 ธ.ค)ขึ้นเรือกองทัพ 7 ลำไปยังเกาะบาชาน ชาร์ ที่ห่างไกลและน้ำท่วมถึงกลางอ่าวเบงกอล ไม่สนใจเสียงวิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและผู้อพยพ
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่บังกลาเทศที่ไม่ประสงค์ออกนามยืนยันว่า ธากาได้ส่งตัวผู้อพยพโรฮิงญาจำนวน 1,642 คนขึ้นเรือกองทัพบังกลาเทศ 7 ลำในวันศุกร์(4) ซึ่งจะออกเดินทางจากท่าเรือเมืองจิตตะกองเพื่อมุ่งหน้าไปยังเกาะ บาชาน ชาร์ (Bhasan Char) ที่ห่างไกลในอ่าวเบงกอล
ทั้งนี้พบว่าเกาะแห่งนี้ห่างจากบังกะลาเทศไปราว 34 กิโลเมตร เป็นเกาะเกิดใหม่เมื่อ 20 ปีมาแล้วและยังไม่มีคนอาศัยอยู่ สำนักข่าวเอพีชี้ว่า เกาะบาชาน ชาร์แต่เดิมมักถูกน้ำท่วมในช่วงหน้ามรสุม แต่ในเวลานี้มีการสร้างเครื่องป้องกันน้ำท่วม รวมไปถึงที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล รวมไปถึงมัสยิด โดยกองทัพเรือบังกลาเทศได้ทุ่มงบประมาณกว่า 112 ล้านดอลลาร์สำหรับโปรเจกต์นี้
รอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลบังกลาเทศแถลงว่า กลุ่มผู้อพยพโรฮิงญาที่เดินทางไปยังเกาะบาชาน ชาร์ล้วนแล้วแต่สมัครใจ และยังเป็นการลดความแออัดในค่ายกักกันผู้อพยพที่มีชาวโรฮิงญาที่หนีภัยมาจากพม่าอาศัยอยู่กว่า 1 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนออกมาแสดงความเห็นว่า มีผู้อพยพโรฮิงญาเป็นจำนวนมากถูกบังคับให้เดินทางไปยังเกาะแห่งนี้
ซูเฟีย คาตุน(Sufia Khatun) ผู้อพยพชาวโรฮิงญาวัย 60 ปีซึ่งอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพ ค็อกซ์ บาซาร์ ดิสตริก(Cox’s Bazar district) แสดงความเห็นกับเอเอฟพีว่า “พวกเขาทำร้ายลูกชายของดิฉันอย่างไม่ปรานี และถึงขั้นต่อยปากเพื่อบังคับให้เขายอมตกลงที่จะเดินทางไปที่เกาะแห่งนี้”
เอเอฟพีรายงานว่า เธอได้สั่งลาบุตรชายและญาติ 5 คนในวันพฤหัสบดี(3) ก่อนที่คนเหล่านี้จะถูกส่งตัวขึ้นรถเพื่อเดินทางไปยังท่าเรือจิตตะกองเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางวันศุกร์(4)
อย่างไรก็ตาม เอเค อับดุล โมเมน (AK Abdul Momen )รัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศออกมาปฎิเสธเสียงกล้าวต่อข้อกล่าวหาของกลุ่มสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ โดยชี้ว่า “เป็นคำโกหกอย่างแท้จริง” พร้อมกับยืนยันว่า สภาพความเป็นอยู่ของผู้อพยพบนเกาะนั้นดีกว่ามากเมื่อเปรียบเทียนกับศูนย์ผู้อพยพค็อกซ์ บาซาร์ ดิสตริกในปัจจุบัน
ทั้งนี้ผู้อพยพโรฮิงญาจะถูกจัดให้อาศัยอยู่ในห้อง และจะได้รับอนุญาตให้สามารถประกอบอาหารได้โดยมีการจัดเครื่องครัวไว้พพร้อมสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ อ้างอิงจากเจ้าหน้าที่
แต่ทว่าในเวลานี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดในเรื่องการให้การศึกษาและด้านสุขภาพบนเกาะ หรือผู้อพยพสามารถได้รับอนุญาตเดินทางออกนอกเกาะได้
สำนักงานสหประชาติในบังกลาเทศได้ออกมาชี้ว่า ทางสหประชาชาติไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปตรวจสอบอย่างอิสระในด้านความปลอดภัย ความเป็นอยู่ และความยั่งยืน ของเกาะในฐานะศูนย์ผู้อพยพ
เอเอฟพีรายงานว่า มีการเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการความปลอดภัยบนเกาะในวันศุกร์(4) สถานีตำรวจถูกตั้งขึ้นใหม่ มีการจัดส่งกำลังตำรวจเกือบ 300 นายรวมไปถึงตำรวจหญิงเพื่อประจำที่นั่น
ด้านเจ้าหน้าที่บังกลาเทศด้านผู้อพยพที่จะออกเดินทางไปด้วยระบุว่า มีการคาดว่าเรือจะเดินทางถึงเกาะในเวลาราว 13.00 น. – 13.30 น.โดยประมาณ
ผู้อพยพโรฮิงญานั่งอยู่บนเก้าอี้พลาสติกบนเรือ และมีบางส่วนนำร่มเพื่อกันแดดระหว่างการเดินทาง